กรมโรงงานฯชู 3 กลุ่มอาหาร-เซรามิก-ผลิตไฟฟ้า กากอุตสาหกรรมมีค่า เร่งหนุนนำกลับมาสร้างมูลค่าเพิ่ม

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 14, 2017 10:17 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า ปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมมีการขยายกิจการเพิ่มขึ้น และเป็นส่วนสำคัญในการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงปริมาณของเสียที่เกิดขึ้นจากการประกอบกิจการก็ย่อมมีปริมาณที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ปริมาณของเสียทั้งหมดที่ขออนุญาตนำออกนอกบริเวณโรงงานในแต่ละปีจะเห็นว่ามีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยสัดส่วนของปริมาณของเสียที่ขออนุญาตนำไปกำจัดด้วยวิธีฝังกลบระหว่างปี 2549-2559 อยู่ระหว่าง ร้อยละ 7.1-10.0 ของปริมาณของเสียทั้งหมดที่ขออนุญาตนำออกนอกบริเวณโรงงานในแต่ละปี

กรมโรงงานอุตสาหกรรมจึงได้ดำเนินโครงการส่งเสริมการใช้ประโยชน์กากของเสียเป็นไปตามนโยบายการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อเพิ่มศักยภาพการใช้ประโยชน์กากของเสีย ส่วนหนึ่งจะทำให้ปัญหาการลักลอบทิ้งของเสียลดลง ค่าใช้จ่ายในการกำจัดลดลง มูลค่าของเสียเพิ่มขึ้น เป็นการเพิ่มโอกาสในการแข่งขันทางการค้า สนับสนุนให้เกิดธุรกิจรักษ์สิ่งแวดล้อม และการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน

นายมงคล กล่าวอีกว่า กรมโรงงานอุตสาหกรรมจึงได้เร่งศึกษาและส่งเสริมสนับสนุนให้โรงงานอุตสาหกรรมเล็งเห็นถึงความสำคัญของการนำกากของเสียอุตสาหกรรมกลับมาใช้ประโยชน์หรือใช้ซ้ำตามหลัก 3Rs ได้แก่ Reduce Reuse และ Recycle โดยพบว่าตัวอย่างกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีกากของเสียและสามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้แก่

อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ผู้ประกอบการสามารถนำกากตะกอนจากระบบบำบัดน้ำเสียและเศษเหลือจากกระบวนการจากโรงงานผลิตอาหารมาทำเป็นเชื้อเพลิงอัดแท่ง หรือนำเศษวัตถุดิบจากการผลิตและกากตะกอนน้ำเสียมาผลิตเป็นปุ๋ยอินทรีย์ หรือนำน้ำเสียไปผลิตก๊าซชีวภาพเพื่อนำไปปั่นไฟฟ้าใช้ภายในโรงงาน นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์ที่ขนาดรูปร่างไม่ได้มาตรฐานสามารถไปขายเป็นอาหารสัตว์เพื่อเพิ่มรายได้กับโรงงาน โดยในปี 2559 ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มมีการส่งกากตะกอนจากระบบบำบัดน้ำเสียไปกำจัดด้วยการฝังกลบ ปริมาณมากกว่า 36,000 ตัน ซึ่งหากนำกากตะกอนน้ำเสียดังกล่าวไปใช้เป็นส่วนผสมในการทำปุ๋ยอินทรีย์หรือสารปรับปรุงดิน และจำหน่าย จะสามารถสร้างมูลค่าได้มากกว่า 127 ล้านบาท และสามารถลดปริมาณการปลดปล่อยก๊าซมีเทนจากการฝังกลบลงได้ประมาณ 20,000 ตันต่อปี

อุตสาหกรรมผลิตเซรามิก อิฐ กระเบื้องสำหรับงานก่อสร้าง ผู้ประกอบการสามารถนำเศษกระเบื้องแตก อิฐทนไฟ และกากตะกอนจากระบบบำบัดน้ำเสียที่มีคุณสมบัติเหมาะสมกลับมาใช้เป็นวัตถุดิบทดแทนในกระบวนการผลิต ในส่วนของน้ำที่มีการปนเปื้อนสีจากกระบวนการพ่นสีให้นำไปตกตะกอนและนำน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วกลับมาใช้ใหม่ในกระบวนการพ่นสีเพื่อลดการใช้น้ำ โดยในปี 2559 อุตสาหกรรมผลิตเซรามิก อิฐ กระเบื้องสำหรับงานก่อสร้าง มีการขออนุญาตนำกากจำพวกกากตะกอนน้ำเสีย เศษอิฐ กระเบื้อง หรือวัตถุดิบ ออกนอกโรงงานกว่า 230,000 ตัน โดยขอนำไปฝังกลบเพียง 250 ตัน คิดเป็นเพียงร้อยละ 0.1 ของปริมาณที่ขออนุญาตนำออกนอกโรงงาน กากของเสียส่วนใหญ่จึงถูกนำไปใช้ประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ เช่น นำกลับไปบดย่อยเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบทดแทน หรือนำไปปรับสภาพพื้นที่ลุ่มเพื่อใช้ประโยชน์ สามารถลดต้นทุนการผลิตโดยรวมได้ เมื่อเทียบกับการนำไปฝังกลบ

อุตสาหกรรมผลิตกระแสไฟฟ้า จากการกระบวนการผลิตกระแสไฟฟ้าที่จะต้องมีการเผาถ่านหินหรือชีวมวลมักจะก่อให้เกิดเถ้าลอยและเถ้าหนัก ส่วนหนึ่งก็จะนำเอาเถ้าลอยไปใช้ทดแทนซีเมนต์ในงานคอนกรีตต่างๆ และเถ้าหนัก สามารถนำไปบดแปรรูปทำเป็นอิฐ หรือ วัสดุแทนทรายในงานปรับพื้นที่หรือถนนได้ ทั้งนี้ ต้องมีผลวิเคราะห์และนำกากดังกล่าวไปพิสูจน์แล้วว่าไม่เป็นของเสียอันตรายก่อนนำกลับมาใช้ประโยชน์ โดยในปี 2559 โรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินหรือชีวมวลเป็นเชื้อเพลิง มีการขออนุญาตนำเถ้าหนักและเถ้าลอยที่ผ่านการพิสูจน์แล้วว่าไม่เป็นของเสียอันตรายออกนอกโรงงานมากกว่า 3 ล้านตัน โดยขอนำไปฝังกลบเพียง 8,620 ตัน คิดเป็นเพียงร้อยละ 0.3 ของปริมาณที่ขออนุญาตนำออกนอกโรงงาน โดยเฉพาะเถ้าลอยจากโรงไฟฟ้าถ่านหินสามารถส่งออกไปใช้สร้างเขื่อนในประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนกว่า 330,00 ตัน คิดเป็นร้อยละ 14 ของปริมาณเถ้าลอยที่ขออนุญาตนำออกนอกโรงงาน สามารถสร้างรายได้เข้าประเทศได้มากกว่า 700 ล้านบาท

ทั้งนี้ กระบวนการเป็นแค่ส่วนหนึ่งในโครงการพัฒนาศักยภาพการใช้ประโยชน์กากของเสียที่มุ่งเน้นในการลดปริมาณกากอุตสาหกรรมที่ต้องฝังกลบ เพิ่มศักยภาพในการลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มมูลค่าของกากอุตสาหกรรมให้มีขีดสามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้อีกครั้ง ซึ่งกรมโรงงานอุตสาหกรรมได้ดำเนินโครงการพัฒนาศักยภาพการใช้ประโยชน์กากของเสียอย่างต่อเนื่อง ผลักดันให้ความรู้และความเข้าใจและเพิ่มขีดความสามารถในการนำกากอุตสาหกรรมไปใช้ประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ โดยได้นำร่องให้ โรงงานเข้าร่วมโครงการฯ ดังกล่าวในปี 2560 จำนวน 37 โรง สามารถสร้างมูลค่ากว่า 17.3 ล้านบาท และคาดว่าจะสามารถลดปริมาณของเสียที่ขออนุญาตนำไปฝังกลบกว่า 2,800 ตัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ