SCB EIC คาด กนง.คงดอกเบี้ย 1.5% ตลอดปีนี้ หนุนศก.ไทยที่ยังขยายตัวได้ไม่ทั่วถึง

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 16, 2017 17:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ประเมินว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.50% ตลอดทั้งปี 2560 เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจไทยที่ยังคงขยายตัวแบบไม่ทั่วถึง การลงทุนที่ยังฟื้นตัวช้า และเงินเฟ้อที่ต่ำกว่าคาด โดยอีไอซีมองว่าความเป็นไปได้ในการลดดอกเบี้ยนโยบายยังมีน้อย แม้คาดการณ์เงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปีต่ำกว่ากรอบเงินเฟ้อเป้าหมายที่ 1-4% เนื่องจาก กนง. มองว่าการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายอาจส่งผลให้ผู้ลงทุนแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้นด้วยการเข้าไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงเกินตัว

โดยล่าสุด วันนี้ กนง.มีมติเป็นเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% เนื่องจาก กนง.ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยขยายตัวชัดเจนต่อเนื่อง จากการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวครอบคลุมในหลายกลุ่มสินค้าและตลาดส่งออกสำคัญ ประกอบกับการท่องเที่ยวที่ยังเติบโตต่อเนื่อง ด้านการบริโภคภาคเอกชนยังขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างช้าๆ อย่างไรก็ตาม การลงทุนในหมวดก่อสร้างเติบโตชะลอลง ส่วนการลงทุนของภาครัฐขยายตัวได้น้อยกว่าที่คาด ทั้งนี้ แนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจยังต้องติดตามปัจจัยเสี่ยงจากต่างประเทศ อาทิ แนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า ความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจและการค้าของสหรัฐฯ และความเสี่ยงจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์โลก

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังมีทิศทางปรับสูงขึ้นแต่ในอัตราที่ชะลอลงกว่าที่คาดไว้เดิมเล็กน้อย จากราคาอาหารสดที่ปรับลดลงตามผลผลิตผักและผลไม้ที่เพิ่มสูงขึ้น ตามสภาวะอากาศที่เอื้ออำนวยและผลของฐานสูงจากภาวะภัยแล้งในปีก่อน ทั้งนี้ กนง. คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีทิศทางปรับสูงขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีอย่างช้าๆ

เงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้นนับจากต้นปี เนื่องจากความไม่แน่นอนทางการเมืองสหรัฐฯ ที่อาจทำให้แผนปฏิรูปภาษีล่าช้า ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ปรับลดลง ประกอบกับปัจจัยพื้นฐานด้านต่างประเทศของไทยปรับดีขึ้น ทั้งนี้ กนง. มองว่าเงินบาทที่แข็งค่ากว่าสกุลเงินภูมิภาคอาจกระทบต่อการปรับตัวของธุรกิจ และเห็นควรให้ติดตามสถานการณ์ในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิด

"กนง. มองเศรษฐกิจไทยยังเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกเป็นหลัก โดยเฉพาะนโยบายทางเศรษฐกิจและการค้าของสหรัฐฯ และแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า" บทวิเคราะห์ระบุ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ