กนอ. เล็งลงทุน 1 พันลบ.ตั้ง Smart Park ในพื้นที่นิคมฯมาบตาพุด รองรับอุตฯ ที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 17, 2017 11:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยในการมอบนโยบาย และแนวทางการดำเนินงานแก่คณะกรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และผู้บริหารระดับสูง กนอ.ว่า กนอ.ต้องพัฒนาพื้นที่ให้สอดรับกับนโยบายตามที่วางเป้าหมายไว้โดยเฉพาะแผนพัฒนายุทธศาสตร์ กนอ.ที่สอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่มุ่งสร้างเศรษฐกิจไทยให้เกิดความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน

สำหรับการพัฒนาระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ในพื้นที่จังหวัดระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา กนอ. ก็มีส่วนสำคัญในการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ เพื่อรองรับการลงทุน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่ประเมินเบื้องต้นว่าการลงทุนระยะ 5 ปี (60-64) จะมีมูลค่าประมาณ 500,000 ล้านบาทและเมื่อรวมกับโครงสร้างพื้นฐานที่รัฐและเอกชนจะร่วมดำเนินการ เช่น รถไฟความเร็วสูง ท่าเรือมาบตาพุดระยะ 3 สนามบินอู่ตะเภา ฯลฯ จะมีมูลค่าการลงทุนรวม 1.5 ล้านล้านบาท

“การพัฒนาในพื้นที่อีอีซีมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรมคลัสเตอร์ที่สามารถเชื่อมโยงทั้งด้านเศรษฐกิจภูมิภาค และเชื่อมโยงระหว่างเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนไปยังประเทศเพื่อนบ้าน อีกทั้งพื้นที่อีอีซียังเป็นส่วนหนึ่งที่สามารถเชื่อมเข้ากับ One Belt One Road ของจีนที่สำคัญอีกด้วย”นายอุตตม กล่าว

ด้านนายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการ กนอ. กล่าวว่า กนอ.ได้กำหนดแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี (60-79) ด้วยการนำองค์กรสู่นวัตกรรม หรือ กนอ.4.0 ให้เกิดการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมที่สอดรับกับนโยบายของประเทศ โดย 5 ปีแรก (60-64) จะพัฒนาพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 15,000 ไร่ ยกระดับความพึงพอใจลูกค้าและคู่ค้าด้วยนวัตกรรม พร้อมปรับปรุงระบบสาธารณูปโภครองรับ กนอ.4.0 และ กนอ.ตั้งเป้าให้บริการลูกค้าบนระบบดิจิทัลทั้งระบบ และนิคมอุตสาหกรรมทุกแห่งทั่วประเทศจะต้องพัฒนาเข้าสู่การเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ

ทั้งนี้ ในส่วนการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมใน EEC และเพื่อเป็นการต่อยอดไปยังอุตสาหกรรมใหม่ในอนาคตของประเทศ กนอ.จึงนำพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด มาพัฒนาเป็นนิคมอุตสาหกรรมในรูปแบบ Cluster:Smart Park ซึ่งจะรองรับอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง หรือมีนวัตกรรมและเป็นอุตสาหกรรมเคมี/ปิโตรเคมี ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติกเพื่อการแพทย์ กลุ่มอุตสาหกรรมอากาศยาน และกลุ่มอุตสาหกรรมสินค้าและเกษตรเพื่อการส่งออก เป็นต้น สำหรับโครงการดังกล่าวจะใช้พื้นที่ ประมาณ 1,466 ไร่ แบ่งออกเป็น พื้นที่ประกอบอุตสาหกรรม และพื้นที่พาณิชยกรรม โดยคาดว่าจะใช้งบประมาณการลงทุน ประมาณ 1,000 ล้านบาท และจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ภายในปี 2562

สำหรับโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวกับท่าเรือรองรับการขนส่งสินค้าถือเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนการลงทุนในพื้นที่อีอีซี และเชื่อมโยงการค้า การลงทุนไปยังภูมิภาคของไทย รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้านเพราะจะทำให้เกิดการเชื่อมท่าเรืออุตสาหกรรม 3 แห่ง ได้แก่ ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ท่าเรือสัตหีบ และท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่ง กนอ.อยู่ระหว่างพัฒนาโครงการพื้นที่ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ที่จังหวัดระยอง พื้นที่ ประมาณ 1,000 ไร่ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างขอความเห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA)และคาดว่าจะเริ่มกระบวนการคัดเลือกผู้ลงทุนพัฒนาในรูปแบบPPPในปี 2561 ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวจะช่วยรองรับอุตสาหกรรมภายใต้การลงทุนในพื้นที่อีอีซี

ขณะเดียวกัน เพื่อเป็นการตอบสนองนโยบายรัฐบาลในการรองรับการลงทุนที่จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเอสเอ็มอี กนอ. ได้กำหนดพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมรองรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอย่างทั่วถึงไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ (ลำพูน) นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง นิคมอุตสาหกรรมบางปู นิคมอุตสาหกรรมสมุทรสาคร นิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ (ฉลุง) นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด รวมถึงนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน (SEZ) 3 จังหวัด ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมจังหวัดสระแก้ว นิคมอุตสาหกรรมแม่สอด จังหวัดตาก และนิคมอุตสาหกรรมสะเดา จังหวัดสงขลา โดยในแต่ละพื้นที่มีการวางรูปแบบในการรองรับเอสเอ็มอีที่ทันสมัย ทั้งโรงงานสำเร็จรูป พื้นที่การใช้งานร่วมกันของเอสเอ็มอี (Coworking Space) ศูนย์บริการส่งเสริมการลงทุนแบบครบวงจร (Experts Pool) มีศูนย์กลางการให้บริการอินเตอร์เน็ตที่ทันสมัย อีกทั้งยังมีศูนย์การเรียนรู้ หรือKnowledge Centerฯลฯ เป็นต้น

“ปัจจุบัน กนอ. อยู่ระหว่างการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนSEZ ใน 4 จังหวัด ได้แก่ สระแก้ว ตาก สงขลา และ นราธิวาส โดยล่าสุด กนอ.ได้ลงนามเช่าพื้นที่จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมสะเดา จังหวัดสงขลา ร่วมกับกรมธนารักษ์ พื้นที่ 629 ไร่ และในส่วนของการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมจังหวัดสระแก้ว ขณะนี้มีความคืบหน้าไปแล้วกว่า 50 เปอร์เซ็นต์"นายวีรพงศ์ กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ