คลังคาดพ.ร.บ.กบช.เริ่มใช้ปี 61 มั่นใจแรงงานในระบบมีเงินออมเพียงพอรองรับวัยเกษียณ

ข่าวเศรษฐกิจ Friday August 18, 2017 14:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้ ร่าง พ.ร.บ.กองทุนบำนาญแห่งชาติ (กบช.) อยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา คาดว่าจะผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ภายในปีนี้ และมีผลบังคับใช้ในปี 2561 ซึ่งจะทำให้แรงงานในระบบมีเงินออมใช้หลังเกษียณอย่างเพียงพอต่อการดำรงชีพ คือ ไม่น้อยกว่า 50% ของรายได้เดือนสุดท้ายตามที่รัฐบาลตั้งเป้าหมาย ซึ่งเป็นหนึ่งในการรองรับสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบในอีก 10-15 ปี

สำหรับหลักการของกฎหมายดังกล่าว จะให้แรงงานในระบบและนายจ้างร่วมกันส่งเงินสมทบใน กบช. โดยมีอัตราเริ่มตั้งแต่ 3% ใน 3 ปีแรก และเพิ่มเป็น 5% ในอีก 2-3 ปีต่อมา และเพิ่มสูงสุดที่ 7% ซึ่งจะเริ่มบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวกับบริษัทขนาดใหญ่ก่อน หลังจากนั้นจึงเริ่มใช้กับบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กตามลำดับ คาดว่าภายใน 7 ปี ผู้ประกอบการจะเข้ามาอยู่ใน กบช.ครบทั้งหมด รวมถึงแรงงานในระบบกว่า 14 ล้านคนด้วย

"กระทรวงการคลังประเมินว่า หากมีการเข้า กบช.ตั้งแต่อายุ 15-60 ปีต่อเนื่อง จะทำให้มีรายได้หลังเกษียณสูงถึง 4 หมื่นกว่าบาทต่อเดือน ไม่เพียงเท่านี้แรงงานในระบบจะยังมีเงินบำนาญจากกองทุนประกันสังคม โดยหากมีการส่งเงินสมทบตั้งแต่อายุ 20-55 ปี จะมีเงินหลังเกษียณประมาณ 7,500 บาทต่อเดือน ดังนั้นเมื่อรวมเงินใน 2 ส่วนนี้ จะทำให้แรงงานมีเงินเฉลี่ยราว 51,000 บาทต่อเดือน ซึ่งจะเพียงพอต่อการดำรงชีพหลังเกษียณอย่างแน่นอน" ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าว

พร้อมระบุว่า รัฐบาลยังมีมาตรการต่างๆ ที่สนับสนุนการออมเพื่อรับสวัสดิการการดำรงชีวิตในวัยเกษียณอีกมาก อาทิ กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ซึ่งมีเป้าหมายคือต้องการให้แรงงานนอกระบบกว่า 20 ล้านคนเข้าเป็นสมาชิก โดยปัจจุบัน กอช.มีสมาชิกเพียง 5.2 แสนคนเท่านั้น โดยในส่วนนี้อยู่ระหว่างการแก้ไขกฎหมายในการเพิ่มเงินสมทบ ซึ่งจะช่วยจูงใจให้มาสมัครเป็นสมาชิกมากขึ้น รวมทั้งยังมีมาตรการหักลดหย่อนภาษีในกรณีผู้ประกอบการจ้างผู้สูงอายุเข้าทำงาน แต่ยอมรับว่าขณะนี้ยังไม่มีผู้ประกอบการแจ้งใช้สิทธิตามมาตรการดังกล่าว และมีโครงการสินเชื่อ Reverse Morgage รองรับผู้สูงอายุให้สามารถดำรงชีวิตอย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย

ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า มาตรการต่างๆ ที่ออกมานั้น รัฐบาลมีเป้าหมายเพื่อต้องการดูแลผู้สูงอายุ หลังจากที่ประเทศไทยเตรียมก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างเต็มรูปแบบในอีก 10-15 ปีข้างหน้า โดยในส่วนนี้หากไม่มีมาตรการรองรับ จะทำให้รัฐบาลมีภาระในการใช้งบประมาณดูแลผู้สูงอายุมากถึง 6-7 แสนล้านบาทต่อปี ซึ่งอาจทำให้เกิดวิกฤติในภาคการคลังได้ แม้ภาคการเงินจะไม่มีปัญหาก็ตาม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ