(เพิ่มเติม) สภาพัฒน์ ปรับคาดการณ์ GDP ปี 60 โต 3.5-4.0% จากเดิม 3.3-3.8% หลัง Q2/60 โตพุ่ง 3.7%

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 21, 2017 12:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ ปรับคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในปี 60 เป็นขยายตัว 3.5-4.0% จากเดิมที่คาดไว้ในช่วง 3.3-3.8% หลังจากไตรมาส 2/60 เศรษฐกิจขยายตัวถึง 3.7% จากการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวในเกณฑ์ดีต่อเนื่อง ประกอบกับการใช้จ่ายภาครัฐและการส่งออกสินค้าและบริการขยายตัวเร่งขึ้น ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนเริ่มกลับมาขยายตัวอย่างช้าๆ ส่วนการลงทุนภาครัฐยังปรับตัวลดลง

"ในไตรมาส 2/60 ที่ GDP โต 3.7% ถือว่าเป็นการเติบโตในอัตราเร่งและโตสูงสุดในรอบ 17 ไตรมาส นับตั้งแต่ไตรมาส 1 ของปี 56 ที่ GDP โตได้ถึง 5.2%"นายปรเมธี กล่าว

ทั้งนี้ GDP ในครึ่งแรกของปีนี้ขยายตัว 3.5%

เลขาธิการสภาพัฒน์ ระบุว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2 ของปี 60 นี้ จะเห็นได้ว่าการบริโภคภาคเอกชนสามารถขยายตัวในเกณฑ์ดีได้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการใช้จ่ายภาครัฐบาล และการส่งออกสินค้าและบริการก็ขยายตัวได้ดีกว่าที่คาดเช่นกัน ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชนเริ่มกลับมาขยายตัวอย่างช้าๆ ส่วนการลงทุนภาครัฐปรับตัวลดลง

"เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ที่โตได้ 3.7% ถือว่าโตเกินกว่าคาด เนื่องจากผลผลิตภาคเกษตรขยายตัวสูงกว่าที่คาด การส่งออกก็เติบโตได้เกินคาดในทุกเดือน ซึ่งรวมๆ กันแล้วทำให้ GDP ไตรมาส 2 สูงกว่าที่คาดไว้" นายปรเมธี กล่าว

อย่างไรก็ดี จากที่การลงทุนภาคเอกชนเริ่มกลับมาขยายตัวได้นั้น มาจากแนวโน้มด้านปัจจัยพื้นฐาน รวมถึงกำลังซื้อ การบริโภค ซึ่งทำให้เห็นทิศทางที่ดีว่าการลงทุนภาคเอกชนน่าจะเติบโตต่อเนื่องในไตรมาสถัดๆ ไป จึงเป็นเหตุผลให้สภาพัฒน์ปรับคาดการณ์การลงทุนภาคเอกชนในปีนี้เพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อยเป็น 2.2% จากเดิมที่ 2.0%

พร้อมระบุว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2 นี้ถือว่าส่งผลดีต่อ GDP ในภาพรวมทั้งปีนี้ ซึ่งช่วยสะท้อนศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทยว่าสูงขึ้นกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ จากเดิมที่เคยเห็นอยู่ในระดับ 3% มานาน ก็จะเริ่มเห็นว่าเริ่มขยับสูงขึ้นมาอยู่ที่ 3.7% และเห็นการลงทุนจากภาคเอกชนที่เริ่มเข้ามาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ตลอดจนภาคการส่งออก และภาคเกษตรก็เริ่มที่จะกลับมาเป็นบวก ซึ่งถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีต่อเศรษฐกิจไทยโดยรวม

สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจไทยทั้งปี 2560 นั้น หากพิจารณาดูในช่วงครึ่งปีแรกจะพบว่าปัจจัยพื้นฐานในเรื่องของเศรษฐกิจโลกขยายตัวเพิ่มขึ้นในหลายประเทศ ทั้งสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และจีน ซึ่งส่งผลดีต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลก และทำให้มีการปรับคาดการณ์เศรษฐกิจโลกเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 3.4% จากเดิมที่ 3.3% ประกอบกับตลาดส่งออกสำคัญของไทยมีการขยายตัวได้ดีขึ้น ทั้งสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และอาเซียน ซึ่งจะส่งผลดีต่อการส่งออกของไทยในปีนี้รวมทั้งทำให้ปริมาณการค้าโลกในปีนี้คาดว่าจะขยับขึ้นไปอยู่ที่ 4% จากเดิมที่คาดไว้ 3.6% ซึ่งถือว่าดีขึ้นกว่าหลายๆ ปีที่ผ่านมา

นายปรเมธี กล่าวว่า สภาพัฒน์ได้ปรับสมมติฐานในส่วนของอัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยทั้งปีนี้มาเป็นระดับ 34-35 บาท/ดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นจากเดิมที่เคยมองไว้ที่ระดับ 35-36 บาท/ดอลลาร์ เนื่องจากมองว่าในช่วงครึ่งปีหลัง ค่าเงินบาทยังมีแรงกดดันจากปัจจัยที่สำคัญ คือ สหรัฐฯ ภายใต้การบริหารของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ไม่สามารถใช้นโยบายในการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ตามที่เคยพูดไว้ในช่วงหาเสียง ประกอบกับมีปัญหาด้านการเมือง จึงทำให้สถานการณ์เหล่านี้อาจส่งผลให้ดอลลาร์อ่อนค่าลง

"เดิมเรามองว่าเศรษฐกิจของสหรัฐ และการปรับนโยบายต่างๆ ของสหรัฐฯ หลังจากมีประธานาธิบดีใหม่ จะเป็นปัจจัยที่ทำให้บาทอ่อนค่าลง แต่ปรากฎว่าที่ผ่านมานโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจการคลังของทรัมป์ ไม่ค่อยก้าวหน้า แล้วยังมีปัญหาทางการเมือง จึงทำให้การใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทำได้ไม่เร็วเท่าที่คิดไว้ เหล่านี้จึงยังเป็นแรงกดดันต่อเงินบาทในช่วงครึ่งปีหลัง" เลขาธิการสภาพัฒน์ระบุ

อย่างไรก็ดี แม้จะมีการปรับสมมติฐานเงินบาทของปีนี้ให้แข็งค่าขึ้นมาอยู่ที่ 34-35 บาท/ดอลลาร์ แต่ก็เชื่อว่าปัจจัยเรื่องเงินบาทที่แข็งค่านั้น จะไม่ส่งผลกระทบอย่างเป็นอันตรายต่อการส่งออกของไทยในปีนี้ เพราะล่าสุด สภาพัฒน์ได้ปรับคาดการณ์าการส่งออกของไทยในปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 5.7% จากเดิมที่ 3.6% เนื่องจากมองว่าภาพรวมของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลกในปีนี้เติบโตได้ดีขึ้น และยังมีความต้องการสินค้าสูงจากต่างประเทศ จึงเชื่อว่าแม้เงินบาทจะแข็งค่าขึ้นก็จะไม่กระทบต่อการส่งออกของไทยในปีนี้

"ภาพรวมการส่งออกปีนี้น่าจะยังเติบโตได้ดี เพราะเศรษฐกิจโลกเติบโตดี ยังมีความต้องการสินค้าอยู่ในระดับสูง เชื่อว่าภาวะเงินบาทแข็งค่าไม่น่าจะเป็นอันตรายต่อการส่งออกของไทย ส่วนบาทจะแข็งไประดับไหนถึงเป็นอันตรายต่อการส่งออกนั้น คงต้องไปถามจากภาคเอกชน แต่เรามองว่าสัญญาณที่จะมากระทบส่งออกในภาพรวมนั้น ไม่มี" นายปรเมธีระบุ

สำหรับการลงทุนภาครัฐที่สภาพัฒน์ปรับลดคาดการณ์ในปีนี้ลงเหลือ 8% จากเดิม 12.6% เนื่องจากมองว่าการลงทุนของภาครัฐเริ่มผ่อนลงเล็กน้อย ประกอบกับการเบิกจ่ายงบประมาณในช่วงไตรมาส 2 ปีนี้ทำได้ไม่เข้าเป้า โดยเฉพาะงบราชการ จึงทำให้ดูว่าการลงทุนแผ่วลง รวมทั้งมาตรการเสริมด้านการคลังเพื่อช่วยในการกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงครึ่งปีหลังก็คงจะออกมาไม่มากเหมือนในช่วงปีที่ผ่านมา

นายปรเมธี กล่าวว่า สำหรับปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีนี้ ได้แก่ การปรับตัวดีขึ้นของการส่งออกตามการขยายตัวเร่งขึ้นของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก โดยคาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าทั้งปี 60 จะขยายตัว 5.7% สูงขึ้นจากเดิมที่คาดไว้ในระดับ 3.6%

ประกอบกับ การปรับตัวดีขึ้นของการลงทุนภาครัฐและภาคเอกชนในที่มีแนวโน้มขยายตัวเร่งขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง, การขยายตัวเร่งขึ้นของสาขาการผลิตสำคัญๆ ได้แก่ สาขาโรงแรมและภัตตาคาร สาขาอุตสาหกรรม สาขาก่อสร้าง และการปรับตัวดีขึ้นของรายได้ครัวเรือนในภาคเกษตร การส่งออก การท่องเที่ยว และบริการที่เกี่ยวเนื่อง ซึ่งจะทำให้การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวในเกณฑ์ที่ดี

ทั้งนี้ สภาพัฒน์ คาดว่าการบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนรวมขยายตัว 3.2% และ 3.4% ตามลำดับ

อย่างไรก็ดี ในช่วงที่เหลือของปีนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม คือ สถานการณ์อุทกภัยและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการขยายตัวของการผลิตภาคเกษตร, ราคาสินค้าในตลาดโลก การเคลื่อนย้ายเงินทุน รวมทั้งอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราสกุลสำคัญ และค่าเงินบาท ที่ยังมีความเสี่ยงที่จะผันผวนตามเงื่อนไขทางเศรษฐกิจและการเมืองที่สำคัญ

สำหรับประเด็นการบริหารเศรษฐกิจที่สำคัญในปี 2560 คือ 1.การป้องกันและบรรเทาปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาอุทกภัยที่อาจส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของการผลิตภาคเกาตร และกิจกรรมทางเศรษฐกิจในพื้นที่สำคัญๆ 2. การเบิกจ่ายงบประมาณภายใต้กรอบสำคัญๆ ให้ได้ตามเป้าหมาย 3.การสร้างความเข้มแข็งให้กับ SMEs และเศรษฐกิจฐานรากโดยการดำเนินการตามมาตรการสินเชื่อ และการสนับสนุนด้านการเงินทุนที่สำคัญๆ ของรัฐบาล 4.การดูแลรายได้เกษตรและผู้มีรายได้น้อย โดยการเตรียมมาตรการรองรับผลผลิตทางการเกษตรที่จะออกสู่ตลาดมากขึ้น และ 5.การดำเนินการให้การผลิตนอกภาคเกษตรมีการฟื้นตัวอย่างเต็มที่ และสามารถขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้อย่างเพียงพอในช่วงที่แรงขับเคลื่อนจากการขยายตัวของการผลิตภาคเกษตรกรชะลอตัวลง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ