สบน.-สคร.เบรกแผน ขสมก.บริหารหนี้ค้างกว่า 1 แสนลบ.ให้ปรับปรุงใหม่ใน 2 เดือน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 28, 2017 18:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพิชิต อัคราทิตย์ รมช.คมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมแผนการบริหารจัดการหนี้องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ร่วมกับ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) สำนักงบประมาณ และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ว่า ที่ประชุมยังไม่เห็นชอบการบริหารหนี้สินของขสมก. เนื่องจากแผนฟื้นฟูไม่สมบูรณ์ไม่มีความชัดเจนและไม่เชื่อมโยงกับแผนยุทธศาสตร์ อีกทั้งไม่มีแผนปฏิบัติการ โดยขสมก. รับไปปรับปรุงใหม่ ให้แล้วเสร็จใน 2 เดือน

ณ เดือนม.ค. 60 ขสมก.มีหนี้สินคงค้างชำระจำนวน 103,598.543 ล้านบาท ผลประกอบการขาดทุนประมาณ 5,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่ง ได้เสนอการแก้ปัญหาหนี้สิน 3 แนวทาง ได้แก่ 1.ให้รัฐภาระหนี้ทั้งหมด 2. ให้รัฐภาระหนี้บางส่วนที่เกิดจากนโยบายภาครัฐ จำนวน 84,898.651 ล้านบาท ขสมก.รับจำนวน 18,699.892 ล้านบาท 3. ขอให้รัฐรับภาระหนี้ในรูปแบบส่วนต่างระหว่างต้นทุนที่แท้จริงในส่วนที่สูงกว่ารายได้ ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน 55,798.089 ล้านบาท ขสมก.รับจำนวน 47,800.453 ล้านบาท

ทั้งนี้ตามแผนฟื้นฟู จะมีการลดภาระด้านดอกเบี้ย 3,000 ล้านบาท ลดค่าซ่อมบำรุงและค่าเชื้อเพลิง 2,000 ล้านบาท ลดต้นทุนด้านบุคลากร ซึ่งหากทำแผนชัดเจนจะเห็นตัวเลขทั้งหมด และสามารถเลือกแนวทางที่เหมาะสมได้ โดยจะต้องผ่านการพิจารณาของบอร์ดขสมก.ก่อนและเสนอมายังกระทรวงคมนาคมต่อไป หลักการรัฐจะอุดหนุน แต่ตัวเลขต้องชัดเจนเชื่อถือได้

นายพิชิต กล่าวว่าการบริหารจัดการรถจำนวน 3,000 คัน เป็นส่วนหนึ่งของแผนฟื้นฟูซึ่งการมีรถใหม่จะลดค่าซ่อมบำรุงและค่าเชื้อเพลิงได้ 1,800 ล้านบาทต่อปี โดยนอกจากประมูลซื้อรถเมล์ NGV 489 คันแล้วยังมีแผนจัดหารถเมล์ไฟฟ้า 200 คัน การปรับปรุงรถเก่า 646 คัน และจัดหารถใหม่อีก 1,665 คัน ซึ่งขสมก.จะต้องศึกษาว่าจะจัดหารถใช้เชื้อเพลิงแบบใดเช่น NGV หรือไฟฟ้า หรือไฮบริด

นายยุกต์ จารุภูมิ รองผู้อำนวยก รฝ่ายบริหารและรักษาการผู้อำนวยการ ขสมก.กล่าวว่า ผลประกอบการ ขสมก.ก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ขาดทุน 400 ล้านบาทต่อเดือน เป็นภาระดอกเบี้ย 250 ล้านบาท ขาดทุนจากการดำเนินงานจริงกว่า 100 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบัน มีพนักงานทั้งสิ้น 12,900 คน ซึ่งมีแผนอบรมพนักงานเก็บค่าโดยสารส่วนหนึ่งไปเป็นพนักงานขับรถ ที่เหลืออีกประมาณ 2,000 คน จะเข้าแผนเกษียณอายุก่อนกำหนด (เออร์รี่รีไทร์ ) ซึ่งจะตั้งงบประมาณปี 2561 จำนวน 2,000 ล้านบาท ทยอยลดพนักงาน โดยรถ 1 คันปัจจุบันมีพนักงาน 4.8 คน จะปรับเป็น 1 คัน ต่อพนักงาน 2.4 คน ซึ่งคาดว่าจะลดค่าใช้จ่ายลงได้พอดีกับผลขาดทุนกว่า 100 ล้านบาทต่อเดือนได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ