(เพิ่มเติม) ธปท.รับบาทแข็งค่าสุดในภูมิภาคพร้อมจับตาข้อมูลเชิงลึก มองแนวคิดลดดอกเบี้ยอาจเพิ่มความเสี่ยง

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 11, 2017 16:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยอมรับว่า การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในระยะนี้ถือว่าแข็งค่าสุดในภูมิภาค ซึ่งหลัก ๆ มาจากการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนั้นยังมาจากนักลงทุนต่างชาติคลายความกังวลสถานการณ์การเมืองในประเทศ ทำให้มั่นใจมากขึ้นในการนำเงินเข้ามาลงทุน รวมทั้งการส่งออกและการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดีทำให้ไทยเกินดุลการค้าและเกินดุลบัญชีเดินสะพัด

อย่างไรก็ตาม ทาง ธปท.จะจับตาข้อมูลเชิงลึกเพิ่มขึ้นในช่วงต่อจากนี้ หลังจากช่วงที่ผ่านมาเงินบาทแข็งค่าอย่างรวดเร็ว และมีมาตรการเตรียมไว้แล้ว และพร้อมนำมาใช้ในช่วงเวลาที่เหมาะสม

ขณะที่มองว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายปัจจุบันยังอยู่ในระดับเหมาะสมและผ่อนคลายเพียงพอ เอื้อต่อการขยายตัวของอุปสงค์ในประเทศ ตลอดจนสนับสนุนให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปทยอยปรับตัวสูงขึ้นและกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในระยะข้างหน้า

หากปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อให้อัตราเงินเฟ้อกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายได้เร็วขึ้นนั้น ธปท.มองว่ามีผลจำกัด เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่ลดลงเป็นผลจากปัจจัยด้านอุปทานเป็นหลักและบางส่วนมาจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง นอกจากนั้นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอาจเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงิน ภายใต้ภาวะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องจากพฤติกรรม Search for yield ที่นำไปสู่การประเมินความเสี่ยงที่ต่ำเกินควร และ ธปท.มองว่ากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่นขณะนี้ยังมีความเหมาะสมต่อเศรษฐกิจไทย

นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพเงิน ธปท. ยอมรับว่า ธปท.ได้เข้าไปดูแลค่าเงินบาทเป็นระยะ เพื่อเป็นการช่วยไม่ให้เงินบาทแข็งค่าค่าเร็วเกินไป ซึ่งการเข้าไปดูแลค่าเงินบาทดังกล่าวเป็นสาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศปรับเพิ่มสูงขึ้น

พร้อมยอมรับว่าเงินบาทแข็งค่าค่อนข้างเร็วเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ และหากเทียบกับสกุลเงินของประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคแล้วก็ถือว่าเงินบาทแข็งค่าสุดในภูมิภาค โดยสาเหตุหลักที่ทำให้บาทแข็งค่ามาจากสกุลดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงจากปัญหาการเมืองภายในประเทศ ประกอบกับความสามารถของรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ ในการดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจตามที่ได้ประกาศไว้ช่วงหาเสียงเลือกตั้งนั้นคงทำได้ค่อนข้างยาก

นอกจากนี้ ข้อมูลเศรษฐกิจต่างๆ ของสหรัฐที่ออกมาในช่วงหลังถือว่าต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ จึงทำให้ตลาดมองว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีโอกาสน้อยลงในการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายช่วงปลายปีนี้ และในปีหน้าที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างเร็วก็อาจจะไม่เป็นเช่นนั้น

“เมื่อผนวกเรื่องต่างๆ เข้าด้วยกันแล้ว จึงทำให้ดอลลาร์อ่อนลง และมี inflow มาสู่ประเทศอื่นๆ รวมถึงประเทศตลาดเกิดใหม่ รวมถึงไทยด้วย"นายเมธี กล่าว

พร้อมระบุว่า นอกจากนี้ยังมีอีกหลายปัจจัยที่ทำให้เงินบาทแข็งค่า เช่น การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่ปีนี้ยังอยู่ในระดับสูง อันเนื่องมาจากการส่งออกและการท่องเที่ยวยังขยายตัวได้ดี และมีเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) เข้ามาเป็นระยะ ซึ่งเป็นตัวเสริมให้มีเงินทุนไหลเข้ามามากกว่าปกติ ขณะเดียวกันยังมาจากการที่นักลงทุนคลายความกังวลต่อสถานการณ์การเมืองของไทยในช่วงปลายเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา (คดีรับจำนำข้าว)

“บางช่วงที่เงินบาทเคลื่อนไหวเร็ว จะเห็นธุรกรรมอัตราแลกเปลี่ยนที่หนาแน่น ดังนั้นเราจะจับตาดูในเชิงลึกมากขึ้น และขอข้อมูลเพิ่มจากสถาบันการเงินในกรณีของ Non resident ว่ามีการเก็งกำไรมากน้อยแค่ไหน เพื่อพิจารณาว่าจะมีมาตรการอะไรให้เหมาะสม...ขอดูข้อมูลอีกระยะ เรามีมาตรการอยู่ในมือแล้ว แต่จะนำมาใช้ตอนที่เหมาะสม" นายเมธี กล่าว

อย่างไรก็ดี ในระหว่างนี้ ธปท.ขอแนะนำให้ภาคธุรกิจเอกชนที่ทำการค้าระหว่างประเทศพยายามหันมาใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนให้มากขึ้น เช่น การทำ Invoice ในรูปของสกุลเงินอื่นๆ นอกเหนือจากสกุลดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งก็จะเป็นประโยชน์และลดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนลงได้มากขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ