บีโอไอ เล็งออกแพ็กเกจใหม่หนุนลงทุน EEC หลังมาตรการเดิมจะสิ้นสุดปีนี้ ด้าน กนอ.เตรียมพื้นที่รับนักลงทุน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 21, 2017 16:32 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ รองเลขธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวในงานเสวนา "อีอีซี แม่เหล็กเศรษฐกิจไทยเชื่อมโลก" ในหัวข้อ "เสวนาเชิงนโยบาย 6 เดือนกับความร่วมมือของภาครัฐ"ว่า การให้สิทธิประโยชน์การลงทุนของบีโอไอ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในพื้นที่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) นั้นบีโอไอได้ให้การส่งเสริมประเภทกิจการในหลากหลายประเภท ซึ่งการเข้าไปลงทุนในพื้นที่ EEC ก็จะได้สิทธิประโยชน์ลดหย่อนภาษีเงินได้ 50% เป็นเวลา 5 ปี จากเกณฑ์ปกติ แต่มีเงื่อนไขที่จะต้องยื่นขอรับส่งเสริมภายในสิ้นปีนี้ อย่างไรก็ตาม บีโอไอก็อาจจะออกมาตรการใหม่ ๆ เพื่อทดแทนมาตรการเดิม

"เราคาดว่าในอนาคต 4-5 ปีข้างหน้า จะมีนักลงทุนเข้าไปลงทุนใน EEC เพิ่มมากขึ้น หรือมากว่า 25% จากในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีการลงทุนโดยเฉลี่ย 1 ใน 4 ของโครงการที่ได้รับอนุมัติจากบีโอไอในพื้นที่ EEC"นางสาวดวงใจ กล่าว

นางสาวดวงใจ กล่าวว่า เมื่อต้นปีที่ผ่านมา พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุนก็ได้มีการแก้ไขปรับปรุงใหม่ โดยบีโอไอสามารถขยายระยะเวลาการยกเว้นภาษีเงินได้ สูงสุดไม่เกิน 13 ปี โดยในช่วงที่ผ่านมาบีโอไอได้มีการปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์ เพื่อใช้ประโยชน์จากเครื่องมือใหม่ที่เกิดขึ้น รวมไปถึงการให้ความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาและสถาบันวิจัยภายในประเทศ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายประเทศไทย 4.0

นอกจากนี้ พ.ร.บ.เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย ก็ได้มีการกำหนดนโยบายเพิ่มเติม หรือจะมีการจัดตั้งกองทุนเพิ่มขีดความสามารถฯ วงเงินรวม 1 หมื่นล้านบาท เพื่อให้กับผู้ประกอบการที่มีการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย หรืออุตสาหกรรม 10 S-Curve และเป็นโครงการที่มีประโยชน์กับคนอื่น

ด้านนายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า ปัจจุบันมีฐานอุตสาหกรรมอยู่ 2 ฐานในพื้นที่ EEC คือ ยานยนต์และชิ้นส่วน และปิโตรเคมี ซึ่งสามารถต่อยอดไปยัง S-Curve ต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีกระแสความต้องการของกลุ่มนักลงทุนทั้งญี่ปุ่น, เกาหลี และจีน โดขณะนี้มีพื้นที่รองรับการลงทุนใน EEC ประมาณ 5 หมื่นไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ที่พร้อมใช้งานได้ในทันทีราว 1.2 หมื่นไร่ และอยู่ระหว่างการพัฒนาอีก 1.2 หมื่นไร่ รวมถึงเป็นเขต,สวน และนิคมอุตสาหกรรม อีกประมาณ 1 หมื่นไร่ ซึ่งเหลืออีกประมาณ 1.6 หมื่นไร่ ที่จะต้องดำเนินการจัดตั้งเพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยขณะนี้ใน 1.6 หมื่นไร่ มีผู้ที่สนใจเข้ามาลงทุนแล้ว 6 พันไร่ ทำให้เหลือจำนวน 1 หมื่นไร่ที่จะต้องเร่งดำเนินการจัดตั้งต่อไป

ขณะที่การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานท่าเรือน้ำลึก ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ก็จะต้องมีการพัฒนาในระยะที่ 3 ที่จะใช้พื้นที่ราว 1 พันไร่ ใช้เงินลงทุน 1 หมื่นล้านบาท ปัจจุบันมีการดำเนินงานค่อนข้างเร็ว ซึ่งมีการออกแบบในเบื้องต้นเสร็จเรียบร้อยแล้ว กำลังเร่งขอรายงานรูปแบบการลงทุนร่วมรัฐและเอกชน (PPP) คาดว่าต้นปี 61 จะสามารถเดินสู่กระบวนการ PPP ได้ และพร้อมที่จะประกาศผู้ชนะประมูลได้ในช่วงกลางปีหน้า

อีกทั้งยังมีโครงการอีกหนึ่งโครงการ คือ นิคมอุตสาหกรรม Smart Heart ที่มาบตาพุด โดยมีพื้นที่แปลงสุดท้าย 1.4 พันไร่ ซึ่งการนิคมฯ ตั้งใจที่จะทำเป็นนิคมอุตฯที่ครบถ้วน ทั้งดูแลสิ่งแวดล้อม ,การใช้พลังงานสีเขียว ,การดูแลความปลอดภัยในเรื่องของการจราจรและนิคมฯทั้งหมด เพื่อให้เป็นนิคมต้นแบบในการก้าวไปสู่ 4.0

ขณะที่นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ ผู้ตรวจราชการ กระทรวงคมนาคม รักษาในตำแหน่งผู้ว่าการ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวว่า ความคืบหน้าของโครงการพัฒนารถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อ 3 สนามบิน คือ สนามบินดอนเมือง-สนามบินสุวรรณภูมิ-สนามบินอู่ตะเภา ทางการรถไฟฯได้ศึกษาส่วนต่อขยายจากแอร์พอร์ตลิงค์ช่วงพญาไท-สนามบินดอนเมือง และศึกษารถไฟความเร็วสูงจากกรุงเทพฯ-ระยอง และนอกจากการเชื่อมรถไฟไปยัง 3 สนามบินแล้ว ก็จะมีการพัฒนาพื้นที่ ซึ่งเป็นพื้นที่ของการรถไฟฯ ที่อยู่ในแผนฟื้นฟูของการรถไฟฯ และในส่วนที่จะมีการพัฒนาร่วมกันกับพื้นที่ EEC ก็จะนำเอาพื้นที่บางส่วนทำเป็น EEC เขต 1 ซึ่งจะมีทั้งศูนย์ประชุม ,ศูนย์การค้า เป็นต้น

สำหรับความเร็วในการเดินทาง ช่วงสนามบินดอนเมืองไปสุวรรณภูมิ ถือว่าเป็นช่วงของเขตเมือง จึงกำหนดความเร็วไว้ที่ 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง และเมื่อออกจากเขตเมืองแล้วจะใช้ความเร็วประมาณ 250 กิโลเมตร/ชั่วโมง ขณะที่ค่าโดยสารในส่วนของ City Line คิดค่าบริการที่ 2 บาท/กิโลเมตร และมีค่าแรกเข้าประมาณ 13 บาท ขณะเดียวกัน High-speed จะอยู่ที่ 1.80 บาท/กิโลเมตร คิดค่าแรกเข้า 20 บาท

ทั้งนี้ คาดจะเปิดให้บริการได้ในปี 2566 ซึ่งการให้บริการในเขตเมือง ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ คาดว่าจะมีผู้ใช้บริการราว 103,920 คน/เที่ยว/วัน และระหว่างเมือง จากสนามบินดอนเมือง-สนามบินสุวรรณภูมิ-สนามบินอู่ตะเภา และสถานีบริการ คือ สถานีฉะเชิงเทรา-ชลบุรี-ศรีราชา-พัทยา-ระยอง จะมีผู้ใช้บริการราว 65,630 คน/เที่ยว/วัน หรือมีจำนวนรวมทั้งสิ้น 169,550 คน/เที่ยว/วัน และจะเพิ่มเป็น 362,410 คน/เที่ยว/วัน ในปี 2615

สำหรับโครงการการพัฒนารถไฟทางคู่เพื่อเชื่อมโยงท่าเรือทั้ง 3 แห่ง ใน 10 โครงการ ระยะเวลา 10 ปี (ปี 61-70) แบ่งเป็น 3 ระยะ โดยระยะแรกจะดำเนินการเชื่อมโยง 3 ท่าเรือ จะดำเนินการโครงการเพิ่มประสิทธิภาพทางรถไฟช่วงหัวหมาก-ฉะเชิงเทรา-ศรีราชา ระยะทาง 125 กิโลเมตร โครงการเดินรถไฟขนสินค้าไทย-กัมพูชา โครงการรถไฟทางคู่ ช่วงศรีราชา-มาบตาพุด ระยะทาง 70 กิโลเมตร และโครงการเชื่อมสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง (ICD) ฉะเชิงเทรา

ส่วนระยะที่ 2 จะเป็นการรองรับนิคมอุตสาหกรรมที่จะมีโครงการรถไฟทางคู่ ช่วงศรีราชา-ระยอง ระยะทาง 79 กิโลเมตร และช่วงระยอง-มาบตาพุด ระยะทาง 22 กิโลเมตร โครงการรถไฟทางเดี่ยว ช่วงระยอง-จันทบุรี-ตราด ระยะทาง 150 กิโลเมตร และการดำเนินงานในระยะที่ 3 เป็นการก่อสร้างเชื่อมโยงกับภูมิภาค จะเป็นโครงการรถไฟทางคู่ ช่วงระยอง-จันทบุรี-ตราด ระยะทาง 188 กิโลเมตร โครงการรถไฟทางคู่ ช่วงคลองสิบเก้า-อรัญประเทศ ระยะทาง 174 กิโลเมตร โครงการรถไฟทางคู่ช่วงท่าแฉลบ-พานทอง ระยะทาง 120 กิโลเมตร โครงการไอซีดี หนองปลาดุก

พลเรือตรีวรพล ทองปรีชา ผู้อำนวยการ การท่าอากาศยานอู่ตะเภา กล่าวว่า การดำเนินการโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา ที่ผ่านมาได้มีการจัดตั้งคณะทำงานพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก ในส่วนของกองทัพเรือรับผิดชอบ เพื่อประสานงานกับคณะกรรมการนโนบาย EEC โดยเฉพาะ เพื่อให้เกิดความคล่องตัว และได้มีการทำความเข้าใจกับคนในพื้นที่ เพื่อให้ได้รับทราบถึงข้อดี ข้อเสียของโครงการฯ

ในระยะถัดไปก็จะสร้างแรงจูงใจให้กับนักลงทุน โดยการเพิ่มจำนวนเที่ยวบิน เพิ่มจำนวนผู้ใช้บริการมากขึ้น รวมถึงปัจจุบันก็อยู่ระหว่างวางแผนการพัฒนาพื้นที่ในอีก 30 ปีข้างหน้า คาดว่าจะแล้วเสร็จได้ในกลางปี 61 อย่างไรก็ตามการเปิดให้บริการของสนามบินอู่ตะเภา ขณะนี้ได้มีการทยอยเปิดไปทีละเฟส ซึ่งในส่วนของผู้โดยสารขาเข้า ก็มีการเปิดไปแล้วประมาณ 6 เดือน และปี 60 จะทยอยเปิดในส่วนของผู้โดยสารขาออก

"เรากำลังสร้างแรงจูงใจมากขึ้น โดยในระยะที่ 2 พื้นที่ราว 1.5 พันไร่ จะสามารถรองรับผู้โดยสารได้จำนวน 30 ล้านคน จากระยะแรกอยู่ที่ 15 ล้านคน และระยะถัดไปจะอยู่ที่ 60 ล้านคน ซึ่งจะใกล้เคียงกับสนามบินสุวรรณภูมิ หากเรามีการดำเนินการได้ดี สนามบินอู่ตะเภาจะกลายเป็นสนามบินกรุงเทพฯในที่สุด และจะมีการเชื่อมโยงด้วยรถไฟความเร็วสูง ที่จะเข้าสู่กรุงเทพฯ ภายในระยะเวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมง"พลเรือตรีวรพล กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ