PwC แนะธุรกิจไทยเร่งปฏิรูปสู่ยุคธุรกิจดิจิทัลสร้างความได้เปรียบการแข่งขัน-เพิ่มส่วนแบ่งการตลาด

ข่าวเศรษฐกิจ Friday September 22, 2017 12:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายซันดารา ราจ รามาเมอตีย์ ประธานกรรมการบริหาร และหัวหน้าสายงานธุรกิจที่ปรึกษาคนใหม่ของ บริษัท PwC ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า การเติบโตของธุรกิจในอาเซียนยังมีแนวโน้มสดใส แม้ว่าในแต่ละประเทศสมาชิกจะมีความผันผวนจากปัจจัยทางเศรษฐกิจและการเมืองที่แตกต่างกันออกไป ทั้งนี้ เพราะธุรกิจในภูมิภาคส่วนใหญ่มีจุดแข็งและความได้เปรียบในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในยุคโลกาภิวัฒน์

ทั้งนี้ เมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา อาเซียนได้ฉลองโอกาสครบรอบ 50 ปีของการก่อตั้งสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน โดยถือเป็นภูมิภาคที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดเป็นอันดับที่ 7 ของโลกด้วยมูลค่า 2.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มีประชากรรวมกันถึง 620 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลางที่มีกำลังซื้อ และมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ราว 4.8% ในปีที่ผ่านมา

นายราจ กล่าวต่อว่า กระแสการเกิดเทคโนโลยีใหม่ๆ ไม่เว้นแต่ละวัน กำลังส่งผลกระทบในวงกว้างต่ออาเซียน ไม่แพ้ภูมิภาคอื่นๆ ในโลก นอกเหนือจากการเข้ามาของดิจิทัลที่กระทบการดำเนินธุรกิจแล้ว การเข้ามาของปัจจัยอื่นๆ เช่น การกลายเป็นเมืองที่เพิ่มขึ้น และการก้าวไปสู่การพัฒนาเมืองอัจฉริยะ หรือสมาร์ต ซิตี้ (Smart City) ในภูมิภาค ยังส่งผลให้ความคาดหวังด้านบริการของผู้บริโภคต่อหลายๆ อุตสาหกรรมเปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าจะเป็นบริการด้านสุขภาพและสาธารณสุข การศึกษา การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน และการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต

"ถึงแม้ปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้นจะมีความท้าทายอยู่มาก แต่ก็แฝงไปด้วยโอกาสในการเติบโตทางธุรกิจของบริษัทในภูมิภาคนี้ เราพบว่าแม้ว่าลูกค้าในอาเซียนจะมีความแตกต่างหลากหลายกันออกไป แต่สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือ พวกเขามองหาวิธีการในการขับเคลื่อนการเติบโตให้เร็วขึ้น และเพิ่มความสามารถในการผลิตให้มากขึ้น" นายราจระบุ

ด้วยเหตุนี้ PwC จึงได้ให้บริการธุรกิจที่ปรึกษาตั้งแต่กลยุทธ์สู่การปฏิบัติให้แก่ลูกค้า โดยประยุกต์ 3 มุมมองสำคัญที่เป็นความท้าทายอย่างยิ่งของธุรกิจในปัจจุบัน คือ รูปแบบการดำเนินธุรกิจ ประสบการณ์ และเทคโนโลยี (Business, Experience and Technology methodology: BXT) เพราะการเปลี่ยนโฉมการทำธุรกิจนั้นต้องอาศัยความเฉียบแหลมของกลยุทธ์ ประกอบกับ ความเชี่ยวชาญในการสร้างประสบการณ์การใช้งานเฉพาะด้าน และข้อมูลเชิงลึกในการผสมผสานเทคโนโลยีเกิดใหม่เข้ากับกิจการ ซึ่งเราเรียกสั้นๆ ว่า กระบวนการ บีเอ็กซ์ที (BXT method)

"การนำความรู้ความสามารถของ PwC ทั้งด้านกลยุทธ์ทางธุรกิจ และบริการที่ปรึกษาเชิงปฏิบัติการมาผสมผสานเข้ากับการออกแบบประสบการณ์ของผู้ใช้ ประกอบกับความชำนาญในเทคโนโลยีปัจจุบันและเกิดใหม่ จะทำให้เราสามารถกำจัดอุปสรรคภายในองค์กรและสร้างสรรค์แนวคิดในการออกแบบ ซึ่งนั่นจะนำไปสู่ทางออกของการแก้ปัญหาท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ให้แก่ลูกค้าในอาเซียนของเราได้" นายราจกล่าว

ด้าน น.ส.วิไลพร ทวีลาภพันทอง หุ้นส่วนสายงานที่ปรึกษา บริษัท PwC ประเทศไทย กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันลูกค้าของเราส่วนใหญ่ทั้งในภูมิภาคอาเซียนและไทยต่างพยายามปฏิรูปธุรกิจของตนผ่านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ การลงทุนในนวัตกรรม และ การเป็นพันธมิตรกับสตาร์ทอัพ เพื่อปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจให้ต่างไปจากเดิม แต่ปัญหาที่สำคัญคือ บริษัทเหล่านี้ยังคงล้มเหลวในการปฏิรูปธุรกิจ เพราะยังคงใช้วิธีการเดิมๆ ที่มองแค่มิติเดียว ทำให้ได้ผลลัพธ์ที่ไม่ตรงตามความต้องการ

"ด้วยเหตุนี้ การนำวิธีการในการเชื่อมโยงรูปแบบการดำเนินธุรกิจ ประสบการณ์ และเทคโนโลยีเข้าด้วยกันมาประยุกต์ใช้กับองค์กร ตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการเปลี่ยนถ่ายธุรกิจสู่ดิจิทัล จะทำให้ผู้บริหารสามารถได้รับผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ วิธีการดังกล่าว ยังช่วยให้ PwC สามารถนำบุคลากรมากความสามารถที่มีอยู่ทั่วทั้งเครือข่ายมาให้บริการลูกค้าได้อีกด้วย" น.ส.วิไลพร กล่าว

พร้อมระบุว่า โครงสร้างทางธุรกิจของงานด้านที่ปรึกษาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะช่วยให้เราสามารถนำทาเลนต์ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับภูมิภาคมาให้บริการลูกค้าที่มีกิจการในประเทศไทยได้ เพราะเรามีความได้เปรียบทั้งในเรื่องของความรู้และความชำนาญในตลาดท้องถิ่นที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้อย่างแท้จริง ในขณะเดียวกันที่ก็มีเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกที่พร้อมจะให้คำปรึกษาและบริการระดับคุณภาพร่วมไปกับเรา

น.ส.วิไลพร กล่าวว่า การที่รัฐบาลผลักดันนโยบาย "ไทยแลนด์ 4.0" จะยิ่งทำให้ความต้องการที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านปัญญาประดิษฐ์ และระบบจัดการกระบวนการแบบอัตโนมัติ หรือ Robotic Process Automation (RPA) จึงคาดว่าต่อจากนี้ไปเราจะเห็นธุรกิจไทยเร่งเปลี่ยนแปลงองค์กรไปสู่ระบบนิเวศแบบดิจิทัล เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันและเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ