(เพิ่มเติม) ม.หอการค้า เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ก.ย.อยู่ที่ 75.0

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 5, 2017 12:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ในเดือน ก.ย.60 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ 75.0 จาก 74.5 ในเดือน ส.ค.60 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ 62.5 จาก 62.4 ในเดือน ส.ค.60

"ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 เป็นผลจากภาคการท่องเที่ยวและภาคการส่งออกปรับตัวดีขึ้น แต่โครงการลงทุนเมกะโปรเจคต์ยังไม่เดินหน้าเต็มที่ ซึ่งมองว่า ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้นเล็กน้อยหรือแทบจะไม่ปรับตัว เพราะประชาชนเองยังไม่รู้สึกว่าเศรษฐกิจดีขึ้น"

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสการหางานทำอยู่ที่ 69.8 จาก 69.7 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 92.7 จาก 91.5

โดยมีปัจจัยหนุน ได้แก่ การส่งออกของไทยเดือน ส.ค.เพิ่มขึ้น 13.23% เป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 55 เดือน ขณะที่การนำเข้าเพิ่มขึ้น 14.93% ส่งผลเกินดุลการค้า 2,090.19 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นผลให้ 8 เดือนแรกของปี 60 ส่งออกขยายตัว 8.87% นำเข้า 15.42% ส่งผลเกินดุลการค้ารวม 8,873.18 ล้านดอลลาร์สหรัฐ,

คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับเพิ่มคาดการณ์อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจไทยปี 60 โต 3.8% จากเดิมคาด 3.5% และปรับเพิ่มคาดการณ์ปี 61 เป็นเติบโต 3.8% จากเดิมคาด 3.7% เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวชัดเจนขึ้นจากการส่งออกสินค้าและบริหารที่ปรับดีขึ้น, คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเป็นเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50%, ดัชนี SET เดือนก.ย.ปรับตัวสูงขึ้น มาอยู่ในระดับเกิน 1,600 จุด เป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน, เงินบาทปรับตัวแข็งค่าเล็กน้อย เป็นการสะท้อนว่ามีเงินทุนจากต่างประเทศไหลเข้า และจากความคลายกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองในประเทศ

ขณะที่ปัจจัยลบ ได้แก่ ระดับราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น, สถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และ ภาคใต้ส่งผลกระทบในเชิงลบต่อเศรษฐกิจในพื้นที่, ราคาพืชผลทางการเกษตรส่วนใหญ่ยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ทำให้กำลังซื้อทั่วไปในหลายจังหวัดทั่วประเทศขยายตัวในระดับต่ำและไม่คล่องตัว,

ผู้บริโภคกังวลเกี่ยวกับปัญหาค่าครองชีพและราคาสินค้าที่ยังทรงตัวในระดับสูง รวมถึงผู้บริโภคยังรู้สึกว่ารายได้ในปัจจุบันไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพที่ปรับสูงขึ้น และ ความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก รวมถึงการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจของนายโดนัลด์ ทรัมป์ และปัญหาทางการเมืองระหว่างประเทศ โดยเฉพาะปัญหาคาบสมุทรเกาหลี ที่อาจส่งผลกระทบเชิงลบต่อการส่งออกและเศรษฐกิจไทยในอนาคต

อย่างไรก็ตาม การปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ของดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม จะส่งผลให้ผู้บริโภคเริ่มกลับมามีความมั่นใจในการบริโภคสินค้าและบริการมากขึ้นในช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้ ซึ่งน่าจะมีส่วนสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวเด่นชัดขึ้นในไตรมาส 4 และเป็นปัจจัยหนุนให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ในระดับ 3.7-4.0% ในปี 60 และปี 61 มองว่ามีโอกาสโตถึง 4-4.5%โดยจะมีการปรับประมาณการ GDP ใหม่ในสัปดาห์หน้า

"จากการปรับทิศทางการเติบโตทางเศรษฐกิจจากหลายๆหน่วยงานที่ดีขึ้น ทางหอการค้าไทยจะมีการปรับประมาณการเติบโตทางเศรษฐกิจในสัปดาห์หน้า" นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ กล่าว

นอกจากนี้ การที่รัฐบาลออกบัตรสวัสดิการผู้มีรายได้น้อย ซึ่งจะเม็ดเงินสะพัดเฉลี่ยเดือนละ 3-4 พันล้านบาท และการออกระบบบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-Ticket จะส่งผลให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในช่วงเดือนต.ค.-ธ.ค. ประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะมีส่วนช่วยพยุงเศรษฐกิจ และรัฐบาลน่าจะเริ่มเดินหน้าลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐาน จึงเชื่อว่า ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจจะปรับตัวดีขึ้นในช่วงปลายปีและส่งผลโดยรวมให้เศรษฐกิจดีขึ้นด้วย

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นทางการเมือง มีการปรับตัวดีขึ้นในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งเชื่อว่า สถานการณ์ทางการเมืองน่าจะคลี่คลาย ประกอบกับนายกรัฐมนตรีได้ประกาศว่าจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น ในช่วงระหว่างเดินทางเยือนสหรัฐฯ จะส่งบวกต่อการค้า การลงทุนระหว่างประเทศด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ