ศูนย์วิจยักสิกรฯ มองราคาสินค้าขยับขึ้นกดดันภาวะการครองชีพครัวเรือน ต.ค.

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 11, 2017 15:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย สำรวจภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือนในเดือน ก.ย.60 พบว่า ภาวะการครองชีพของครัวเรือนทั้งในปัจจุบันและในอีก 3 เดือนข้างหน้ายังถูกกระทบจากประเด็นเรื่องค่าครองชีพที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งคาดว่าประเด็นเรื่องค่าครองชีพนี้จะยังเป็นแรงกดดันต่อภาวะการครองชีพของครัวเรือนในเดือน ต.ค.60 อยู่ เพราะราคาสินค้าบางกลุ่มมีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นซึ่งทำให้เงินเฟ้อเดือน ต.ค.น่าจะไม่ต่ำกว่าเดือน ก.ย.ที่อยู่ที่ 0.86%

ดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือน (KR-ECI) ที่ปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากระดับ 45.7 ในเดือน ส.ค.60 มาอยู่ที่ระดับ 45.5 ในเดือน ก.ย.60 เนื่องจากปัจจัยบวกด้านภาระการใช้จ่ายและยอดชำระบัตรเครดิตที่ลดลงถูกหักล้างด้วยปัจจัยลบด้านภาระค่าครองชีพ ที่สูงขึ้นตามการปรับขึ้นของราคาสินค้า

ในขณะที่ดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือนอีก 3 เดือนข้างหน้า (3-month Expected KR-ECI) ปรับตัวลดลงจากระดับ 46.2 ในเดือน ส.ค.60 มาอยู่ที่ระดับ 45.3 ในเดือน ก.ย.60 และเป็นครั้งแรกที่ตัวเลขดัชนีสะท้อนมุมมองของครัวเรือนในอีก 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวต่ำกว่ามุมมองในปัจจุบัน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แรงกดดันด้านราคาสินค้าที่ปรับเพิ่มขึ้นบางรายการตามปัจจัยต้นทุนส่งผลให้ครัวเรือนมีความกังวลต่อภาวะการครองชีพในระยะข้างหน้า อย่างไรก็ดี ผลการสำรวจในเดือน ก.ย.สะท้อนมุมมองที่มาจากการรับรู้เหตุการณ์ความเป็นไปในช่วงนั้น ซึ่งมองอีกด้านหนึ่ง ในเดือน ต.ค.ก็มีสัญญาณบวกในบางด้าน เช่น ความเชื่อมั่นของภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้นหลังสถานการณ์ทางการเมืองมีความชัดเจนขึ้น ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ที่พุ่งขึ้นไปทำสถิติสูงสุดในรอบกว่า 20 ปี รวมทั้งมาตรการประชารัฐสวัสดิการที่ภาครัฐออกมาช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยน่าจะช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพของครัวเรือนบางส่วนได้และยังต้องติดตามมาตรการอื่นๆ ของรัฐบาลที่อาจจะออกมาเพิ่มเติม

ราคาสินค้าในหมวดพลังงานและสาธารณูปโภคปรับตัวเพิ่มขึ้นส่งผลต่อภาวะการครองชีพของครัวเรือนทั้งในปัจจุบันและในอนาคตจากผลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือนในเดือน ก.ย.60 พบว่าครัวเรือนมีความกังวลต่อการครองชีพทั้งในปัจจุบันและในอนาคตมากขึ้นสะท้อนจากดัชนี KR-ECI และดัชนี 3-month Expected KR-ECI ที่ในเดือนก.ย. ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 45.5 และ 45.3 ตามลำดับ (จากเดิมที่ระดับ 45.7 และระดับ 46.2 ในเดือนส.ค.) จากภาระค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นตามการปรับขึ้นของราคาสินค้าสาธารณูปโภคและบริการพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันพร้อมกันหลายรายการ ไม่ว่าจะเป็นค่าไฟฟ้า ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกภายในประเทศ ตลอดจนราคาก๊าซหุงต้มและก๊าซ NGV ที่ปรับตัวสูงขึ้นตามต้นทุนการนำเข้าพลังงานที่แพงขึ้นสอดคล้องไปกับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของเดือน ก.ย.60 ที่เร่งตัวขึ้นจากเดือนก่อนมาอยู่ที่ร้อยละ 0.86 YoY สูงกว่าค่าเฉลี่ยในช่วง 8 เดือนแรก (ม.ค.-ส.ค.60) ที่อยู่ที่ร้อยละ 0.56

อย่างไรก็ดี แม้ค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นจะเป็นปัจจัยกดดันภาวะการครองชีพของครัวเรือนในเดือน ก.ย.แต่ค่าใช้จ่ายและหนี้สินของครัวเรือนที่ลดลงก็ช่วยชดเชยและบรรเทาความกังวลต่อภาวะการครองชีพของครัวเรือนในภาพรวมไปได้บางส่วน ทำให้ดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือนปรับตัวลดลงเพียงเล็กน้อย ซึ่งในด้านค่าใช้จ่ายนั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะไม่มีรายการพิเศษ อย่างเช่นวันหยุดยาวในเดือน ก.ย. ประกอบกับครัวเรือนมีความระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา

นอกจากนี้ หนี้สินของครัวเรือนที่ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยในเดือนก.ย.ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตที่ชะลอลงในเดือน ส.ค.ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องมาในเดือน ก.ย.สอดคล้องกับตัวเลขปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในประเทศของบัตรที่ออกโดยบริษัทประกอบธุรกิจบัตรเครดิตที่ไม่ใช่สถาบันการเงินในประเทศที่ในเดือน ก.ย.60 ขยายตัวที่ 1.6% MoM ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่เติบโต 3.9% MoM

ในขณะที่ดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือนอีก 3 เดือนข้างหน้าที่ปรับตัวลดลงนอกจากจะเป็นผลจากความกังวลต่อค่าครองชีพที่สูงขึ้นในระยะข้างหน้าแล้วยังเป็นผลมาจากการวางแผนล่วงหน้าของครัวเรือนที่จะจับจ่ายใช้สอยซื้อหาสินค้าและบริการ รวมถึงท่องเที่ยว (ทั้งในและต่างประเทศ) ในช่วงวันหยุดเทศกาลเดือนธ.ค.60 ซึ่งทำให้ครัวเรือนคาดการณ์ว่าน่าจะมีค่าใช้จ่าย (ไม่รวมหนี้) เพิ่มขึ้นในขณะที่บางครัวเรือนวางแผนนำเงินที่เก็บออมมาใช้ ทำให้ครัวเรือนบางส่วนมองว่าจะมีเงินออมลดลงในช่วง 3 เดือนข้างหน้า

สังเกตว่าครัวเรือนจึงมีความกังวลต่อภาระค่าครองชีพในอนาคตมากกว่าในปัจจุบัน ดังจะเห็นได้จากตัวเลขดัชนี 3-month Expected KR-ECI ที่ปรับตัวต่ำกว่าดัชนี KR-ECI ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการปรับขึ้นราคาสินค้าบางรายการ เช่น ค่าโดยสาร BTS รวมถึงการยกเลิกมาตรการรถเมล์-รถไฟฟรีจะมีผลบังคับใช้หลังเดือน ก.ย.60 เป็นต้นไป

อย่างไรก็ดี หากเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 1 ดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือนอีก 3 เดือนข้างหน้าที่สำรวจในเดือนก.ย.60 ยังเป็นระดับที่สูงกว่าสะท้อนมุมมองต่อภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือนที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ