รมว.เกษตรฯ เตรียมเสนอครม.ต่ออายุบอร์ดกฟก.ออกไปอีกหลังจะครบกำหนด 14 พ.ย.นี้ เร่งแก้หนี้เกษตรกร

ข่าวเศรษฐกิจ Friday October 20, 2017 12:32 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรเฉพาะกิจ ครั้งที่ 5/2560 ว่า เตรียมเสนอครม.เห็นชอบตามคำสั่ง คสช.ที่ 26 /2560 วันที่ 18 พ.ค.60 (ข้อ 8 )ในการขอขยายเวลาการปฏิบัติงานของคกก.กองทุนฟื้นฟูเฉพาะกิจออกไปอีก 180 วันซึ่งเดิมกำหนดให้ดำเนินให้ดำเนินการภายใน 180 วันที่จะครบกำหนดในวันที่ 14 พ.ย.นี้เพื่อดำเนินการจัดการหนี้ เจรจาซื้อหนี้ สำรวจหนี้ที่ยังค้างอยู่ประมาณ 2 แสนราย รวมทั้งฟื้นฟูเกษตรกรได้ตามเป้าหมาย รวมถึงเร่งกระบวนการสร้างความเข้าใจและการรับรู้กับเกษตรกรในกองทุนฟื้นฟูให้รับทราบกรอบแนวทางการดำเนินการของ กฟก. โดยจะมีการจัดเวทีชี้แจง การรับรู้ เสริมสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของคณะกรรมการฯ โดยจัดเวที 18 เวที ตามเขตจังหวัดราชการ โดยเชิญผู้นำเกษตรกรเข้าร่วม

นอกจากนี้ บอร์ดยังมีมติรับทราบความคืบหน้าการดำเนินงานจัดการหนี้ของเกษตรกรว่า การซื้อหนี้สินเกษตรกรบอร์ดอนุมัติซื้อหนี้ล็อตแรกกลุ่มที่จัดการหนี้ได้โดยหลักเกณฑ์ กฟก. จำนวน 739 ราย มูลหนี้ 135,457,984.46 บาท แบ่งเป็น ธกส. 716 ราย มูลหนี้ 129.4 ล้านบาท โดยชำระหนี้แทนในเงื่อนไข 50% ของเงินต้น ตัดดอกเบี้ยและค่าปรับสหกรณ์การเกษตร 23 ราย มูลหนี้ 5.9 ล้านบาท ชำระหนี้แทนในเงื่อนไข 100% ของเงินต้น ตัดดอกเบี้ยและค่าปรับ

สำหรับกลุ่มที่รอการเจรจาระยะต่อไป ซึ่งคุณสมบัติครบในการจัดการหนี้ได้ 9,942 ราย มูลหนี้ 2,870 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าต่อจากนี้ทุกการประชุมประจำเดือนจะสามารถจัดการหนี้ของเกษตรกรได้อย่างต่อเนื่อง เพราะเจ้าหนี้ได้แจ้งความจำนงมาแล้วว่าพร้อมจะให้ กฟก.ชำระหนี้แทน อย่างไรก็ตาม เกษตรกรที่ยังไม่มายืนยันสิทธิ 255,816 ราย ทางรัฐบาล โดย กระทรวงเกษตรฯ และ กฟก. จะเปิดให้มีการสำรวจข้อมูลอีกรอบในวันที่ 1-30 พ.ย. นี้เพื่อให้เกิดความครอบคลุมมากยิ่งขึ้น

รมว.เกษตรฯ คาดว่า กระบวนการจัดการหนี้ กฟก.จะใช้ระยะเวลาดำเนินการประมาณ 1 เดือน ซึ่งเกษตรกรที่ได้รับการจัดการหนี้แล้ว จะเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูเพื่อประกอบอาชีพได้อย่างยั่งยืน สามารถชำระหนี้คืนให้ กฟก.ได้ ในระยะเวลาอันสั้น โดยจะเชื่อมโยงกับ ศพก. เพื่อให้ความรู้เสริมสร้างประสบการณ์ จนเข้าไปสู่การรวมตัวเป็นเกษตรกรกลุ่มแปลงใหญ่ในพื้นที่ หรือยกระดับไปสู่ GAP อินทรีย์ ต่อไป

สำหรับงบประมาณการจัดการหนี้ โดยงบประมาณกฟก.ปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 1,300 ล้านบาท หากมีการชำระหนี้แทนจากมูลหนี้ทั้งหมดที่มีอยู่ประมาณ 2,870 ล้านบาท หลังเจรจาสถาบันการเงินตามหลักเกณฑ์การเจรจาซื้อหนี้ (ลดต้น) คาดว่างบประมาณเบื้องต้นยังสามารถใช้งบประมาณของ กฟก. จัดการหนี้ได้เพียงพอ แต่ทั้งนี้ ได้สั่งการ กฟก.เตรียมแผนเสนอขอใช้งบประมาณเข้าสู่บอร์ดครั้งต่อไปให้ความเห็นชอบ กรณีหากงบประมาณจัดการหนี้ที่มีอยู่ไม่เพียงพอ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ