นักวิชาการ คาดประมูลคลื่นความถี่รอบใหม่แข่งขันหนักใน 1800 MHz เหตุราคาต่ำกว่า-ขนาดมากกว่า

ข่าวเศรษฐกิจ Friday November 3, 2017 15:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสืบศักดิ์ สืบภักดี นักวิจัยด้านโทรคมนาคม ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ กล่าวถึงการชี้แจงการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 990 และ 1800 เมกะเฮิรตซ์ ของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ว่า เมื่อพิจารณาจากข้อมูลตามร่างหลักเกณฑ์ในการประมูลคลื่นความถี่ที่ กสทช.จัดทำขึ้น คาดว่าการแข่งขันในการประมูลจะไปอยู่ที่คลื่นย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์

เนื่องจากเมื่อเปรียบเทียบราคาเริ่มต้นของความถี่ทั้ง 2 ย่าน จะเห็นว่าย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ มีระดับราคาสูงกว่าย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ ที่ 37,988 ล้านบาท ขณะที่ขนาดของชุดคลื่นความถี่มีเพียง 5 เมกะเฮิรตซ์ ดังนั้นผู้ที่สนใจประมูลน่าจะเป็นผู้ที่ต้องได้คลื่นชุดนี้จริงๆ ขณะที่คลื่นย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ กำหนดราคาต่ำกว่า แต่มีขนาดของคลื่นแต่ละชุดที่นำมาประมูลถึง 15 เมกะเฮิรตซ์ เมื่อพิจารณาจากความสนใจและความคุ้มค่าในการลงทุนรวมถึงการเป็นความถี่พื้นฐานในการให้บริการ 4G ของคลื่นย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์จึงน่าจะมีการแข่งขันมากกว่า

"คนที่อยากได้คลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ ต้องอยากได้มากจริงๆ สมมติว่าเข้าประมูลรายเดียวต้องเคาะราคา 1 ครั้ง ราคาของคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ จะไปแตะ 38,000 ล้านบาท ทันที อย่างไรก็ดี ขณะนี้ กสทช.ยังไม่บอกว่าจะนำคลื่น 900 หรือ 1800 เมกะเฮิรตซ์ขึ้นมาประมูลก่อน ซึ่งมันมีผล เพราะถ้านำคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ มาประมูลก่อนแล้วหากไม่มีผู้เข้าประมูลจะพักไว้ พอประมูลคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์แน่นอนมีผู้ให้บริการรายหนึ่งที่ต้องการคลื่นความถี่อย่างมาก ต้องเข้ามาประมูลแน่ ขณะที่อีกสองรายนั้น รายหนึ่ง (AIS) น่าจะสนใจในคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ชุดแรก เพราะสามารถนำมาต่อกับคลื่นที่ตัวเองมีอยู่เดิมทำให้มีคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ เพิ่มขึ้นเป็น 15 เมกะเฮิรตซ์ ส่วนรายใหญ่ที่เหลือ ซึ่งมีคลื่นในมือมากที่สุดในตลาด น่าจะรอดูท่าทีและเข้าประมูลเพื่อกันคู่แข่งให้ประมูลด้วยมูลค่าที่สูงขึ้น" นายสืบศักดิ์ กล่าว

นายสืบศักดิ์ กล่าวอีกว่า ในการประมูลครั้งนี้ การแข่งขันและผลการประมูลมีความเป็นไปได้ในทุกแบบ แม้ดูว่าน่าจะมีผู้ประกอบการ 2 รายใน 3 รายที่มีอยู่จะสนใจคลื่นความถี่ แต่อาจมีการเข้าประมูลเพื่อทำให้ราคาสูงจนมูลค่าคลื่นสูงมากที่สุด หรืออย่างดุเดือดที่สุด อาจจะมีการประมูลจากรายใหญ่รายหนึ่งที่มีคลื่นในมืออยู่แล้ว เพื่อทำให้คู่แข่งที่มีคลื่นอยู่น้อยที่สุดไม่ได้คลื่นความถี่เลยก็ได้ ทุกอย่างเป็นไปได้หมด แล้วแต่ผู้ให้บริการจะพิจารณาอย่างไร

ส่วนความเป็นห่วงเรื่องการสมยอมราคาหรือฮั้วประมูล น่าจะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยาก เพราะการกำหนดเงื่อนไขให้ผู้เข้าประมูลต้องมีมากกว่าจำนวนใบอนุญาตน่าจะทำให้การมาสมยอมราคาหรือฮั้วกันทำได้ยาก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ