สรรพากร มั่นใจ"ช็อปช่วยชาติ"รอบนี้มีผู้ใช้สิทธิมากกว่าปีก่อน-ช่วยหนุนผู้ประกอบการเข้าระบบภาษี

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 7, 2017 17:41 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางแพตริเซีย มงคลวนิช รองอธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า กรมสรรพากรประเมินว่าจะมีผู้นำรายจ่ายมาหักลดหย่อนภาษีจากมาตรการช็อปช่วยชาติประมาณ 22,500 ล้านบาท สูงกว่าปีที่ผ่านมาที่หักลดหย่อน 15,000 ล้านบาท โดยคาดว่าในครั้งนี้รัฐจะสูญเสียรายได้ประมาณ 2,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ รายจ่ายที่นำมาหักลดหย่อนจะต้องมีการซื้อจริงและใช้บริการในช่วงระหว่างวันที่ 11 พ.ย.-3 ธ.ค.60 เท่านั้น ยกตัวอย่าง กรณีที่เป็นการสมัครฟิตเนสทำสัญญารายปี รายจ่ายผ่อนสินค้าหรือสายการบินในประเทศบางสายที่ไม่ได้มีการหักภาษีมูลค่าเพิ่มไว้จะไม่สามารถนำมาใช้หักลดหย่อนได้ โดยกรมสรรพากรจะยึดรายจ่ายตามใบกำกับภาษีเท่านั้น

อนึ่ง ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (มาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปี 2560) ดังนี้

1. กำหนดให้ผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสามารถนำค่าใช้จ่ายเท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการให้แก่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ในระหว่างวันที่ 11 พฤศจิกายน 2560 ถึงวันที่ 3 ธันวาคม 2560 มาหักลดหย่อนได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 15,000 บาท

2. ผู้มีเงินได้ต้องซื้อสินค้าหรือรับบริการและชำระราคาค่าสินค้าหรือค่าบริการในช่วงเวลาดังกล่าว และต้องมีหลักฐานการซื้อสินค้าหรือรับบริการเป็นใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร

3. การซื้อสินค้าหรือรับบริการที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาต้องเป็นการซื้อสินค้าเพื่อใช้ในประเทศหรือบริการเพื่อใช้ในประเทศเท่านั้น และต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7 แต่สินค้านั้นไม่รวมถึงการซื้อสุรา เบียร์ ไวน์ ยาสูบ รถยนต์ รถจักรยานยนต์ เรือ น้ำมัน ก๊าซสำหรับเติมยานพาหนะ และการบริการนั้นไม่รวมถึงการจ่ายค่าบริการให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ การจ่ายค่าที่พักในโรงแรมให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด

ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวจะเป็นการกระตุ้นให้เกิดการบริโภคภายในประเทศในช่วงปลายปี 60 ซึ่งจะทำให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น อันจะส่งผลดีต่อการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจโดยรวม และเป็นการช่วยบรรเทาภาระภาษีของประชาชน อีกทั้งเป็นการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเข้าเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งจะขยายฐานภาษีและส่งผลดีต่อการจัดเก็บรายได้ภาษีของรัฐในระยะยาว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ