(เพิ่มเติม) กกพ.ตรึงค่า Ft งวด ม.ค.-เม.ย.61 ที่ -15.90 สต./หน่วยในงวดปัจจุบัน ส่งสัญญาณงวดหน้าทรงตัว

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 9, 2017 13:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า ในช่วงเดือน ม.ค. – เม.ย. 61 ค่าเชื้อเพลิงทุกชนิด ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติ น้ำมันเตา และถ่านหิน มีแนวโน้มสูงขึ้น โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติที่ปรับตัวสูงถึง 15.42 บาทต่อล้านบีทียู ส่งผลให้ค่าเอฟทีในส่วนของเชื้อเพลิงสูงขึ้น 20.25 สตางค์ต่อหน่วย แต่เนื่องจากมีเงินสะสมมาตั้งแต่กลางปี 2560 อยู่จำนวนหนึ่ง จึงนำมาช่วยตรึงราคาค่าเอฟทีในงวดนี้ ไว้ที่ -15.90 สตางค์ต่อหน่วย และเก็บไว้ส่วนหนึ่งไปช่วยพยุงค่าเอฟทีในงวดเดือน พ.ค. – ส.ค.61 ไม่ให้สูงขึ้นมากจนเกินไป เพื่อช่วยบรรเทาภาระผู้ใช้ไฟฟ้า

ทั้งนี้ จากการตรึงค่าเอฟทีเรียกเก็บงวดเดือน ม.ค. – เม.ย. 61 ที่ -15.90 สตางค์ต่อหน่วย จะมีผลทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยผู้ใช้ไฟฟ้าทุกประเภทอยู่ที่ 3.5966 บาทต่อหน่วย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)

กกพ.สรุปปัจจัยที่มีผลกระทบต่อราคาเชื้อเพลิงและการผลิตไฟฟ้าในช่วงเดือน ม.ค. – เม.ย. 61 ดังนี้

1. อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทแข็งค่ากว่าช่วง ก.ย. – ธ.ค. 60 (ปรับปรุงค่าจริงเดือน ก.ย. 60) ซึ่งอยู่ที่ระดับ 34.19 บาทต่อเหรียญสหรัฐ เป็น 33.32 บาทต่อเหรียญสหรัฐ หรือแข็งค่าขึ้น 0.87 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ตามอัตราแลกเปลี่ยนขายถัวเฉลี่ยธนาคารแห่งประเทศไทยที่เกิดขึ้นจริงเฉลี่ยวันที่ 1 – 29 ก.ย. 60

2. ความต้องการพลังงานไฟฟ้าในช่วงเดือน ม.ค. – เม.ย. 61 เท่ากับ 61,628 ล้านหน่วย ปรับตัวลดลงจากช่วงเดือน ก.ย. – ธ.ค. 60 เท่ากับ 708 ล้านหน่วย คิดเป็นร้อยละ -1.14

3. สัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงการผลิตไฟฟ้าในช่วงเดือน ม.ค. – เม.ย. 61 ยังคงใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลัก ร้อยละ 58.83 รองลงมาเป็นรับซื้อไฟฟ้าจากลาว ร้อยละ 11.84 ลิกไนต์ ร้อยละ 9.38 และถ่านหินนำเข้า ร้อยละ 9.25

4. แนวโน้มราคาเชื้อเพลิง คาดว่าราคาก๊าซธรรมชาติรวมค่าผ่านท่อ อยู่ที่ 253.91 บาทต่อล้านบีทียู ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากงวดที่ผ่านมา 15.42 บาทต่อล้านบีทียู ราคาน้ำมันเตา 16.20 บาทต่อลิตร ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.77 บาทต่อลิตร ราคาน้ำมันดีเซลอยู่ที่ 19.77 บาทต่อลิตร เพิ่มขึ้น 0.24 บาทต่อลิตร ราคาถ่านหินนำเข้าเฉลี่ยของโรงไฟฟ้าเอกชนอยู่ที่ 2,519.49 บาทต่อตัน ปรับเพิ่มขึ้น 163.46 บาทต่อตัน และราคาลิกไนต์ กฟผ. อยู่ที่ 693 บาทต่อตัน ไม่เปลี่ยนแปลง

สำหรับค่าใช้จ่ายในการส่งเสริมการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนตามนโยบายของภาครัฐ ในส่วน Adder และ FiT ในเดือน ม.ค. – เม.ย. 61 ได้ปรับเพิ่มจาก 13,015 ล้านบาทในประมาณการงวดปัจจุบัน (ปรับปรุงค่าจริงเดือน ก.ย.60) มาอยู่ที่ 15,531 ล้านบาท หรือเพิ่ม 2,516 ล้านบาท ประกอบกับประมาณการจำนวนหน่วยไฟฟ้าในงวดเดือน ม.ค. – เม.ย. 61 จะลดต่ำลงจากช่วงปัจจุบัน ดังนั้น เมื่อเทียบเป็นอัตราต่อหน่วยแล้วจะทำให้ค่าใช้จ่ายดังกล่าวในงวดเดือน ม.ค. – เม.ย. 61 ซึ่งอยู่ที่ 27.66 สตางค์ต่อหน่วย เพิ่มขึ้น จากงวด ก.ย. – ธ.ค. 60 ที่ปรับปรุงค่าจริงเดือน ก.ย 60 ซึ่งอยู่ที่ 22.86 สตางค์ต่อหน่วย ประมาณ 4.80 สตางค์ต่อหน่วย

นายวีระพล กล่าวว่า เงินสะสมที่มีตั้งแต่กลางปี 2560 มีอยู่จำนวน 12,566 ล้านบาท ใช้พยุงค่าเอฟทีในงวดเดือน ม.ค.-เม.ย.61 ราว 7,300 ล้านบาท ส่วนที่เหลืออีกราว 5,200 ล้านบาท จะใช้พยุงค่าเอฟทีในงวดเดือน พ.ค.-ส.ค.61 หลังทิศทางราคาก๊าซธรรมชาติมีแนวโน้มปรับขึ้นเล็กน้อย ซึ่งจะทำให้ค่าเอฟทีในงวดดังกล่าวเพิ่มขึ้นราว 1.44 สตางค์ต่อหน่วย หรืออาจไม่ปรับขึ้นเลย หากค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นจากที่ประมาณการ แต่ค่าเอฟทีอาจจะเพิ่มขึ้นมากกว่านี้ได้หากราคาน้ำมันสูงกว่าที่คาดเช่นกัน

สำหรับผลกระทบจากค่าใช้จ่ายในการส่งเสริมการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในปีหน้า จะไม่มากนัก เนื่องจากมีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเข้าสู่ระบบในระหว่างปีไม่มากนัก แต่คาดว่าจะมีกำลังผลิตไฟฟ้าดังกล่าวจะเข้ามาในช่วงปลายปี เช่น โครงการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ติดตั้งบนพื้นดิน สำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตร พ.ศ. 2560 (โซลาร์ฟาร์ม ส่วนราชการและสหกรณ์) ระยะที่ 2 ราว 154.52 เมกะวัตต์ ที่จะเข้าในช่วงปลายปี 61 และการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม อีกราว 951 เมกะวัตต์ (MW) จะทยอยเข้าระบบในช่วงปลายปี 61 ถึงต้นปี 62 ส่วนความคืบหน้าการปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้าฐานใหม่คาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงกลางปี 61


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ