คมนาคม คาดเสนอรายงานผลศึกษาไฮสปีดเทรนช่วงแรก กทม.-พิษณุโลกเข้าครม.ในอีก 3 เดือน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 16, 2017 17:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม กล่าวภายหลังหารือกับ Mr.Noriyoshi Yamagami รองอธิบดีกรมการรถไฟญี่ปุ่นเกี่ยวกับความคืบหน้ารายงานการศึกษาฉบับสมบูรณ์สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯ – เชียงใหม่ ภายใต้บันทึกความร่วมมือในการพัฒนาระบบรางระหว่างไทย – ญี่ปุ่น (Memorandum of Cooperation, MOC) เพื่อดำเนินการความร่วมมือด้านระบบรางว่า คณะทำงานฝ่ายญี่ปุ่นได้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมของโครงการฯ ระยะแรกเส้นทางกรุงเทพฯ – พิษณุโลก เสร็จสิ้นและเสนอร่างรายงานฉบับสมบูรณ์ให้ฝ่ายไทยพิจารณาแล้ว โดยจะมีการวิเคราะห์และสรุปผลรายงานการศึกษา เสนอ ครม.พิจารณา ใน 3 เดือน

หลังจากครม.อนุมัติ ขั้นตอนต่อไปจะเป็นการออกแบบรายละเอียด ช่วงกรุงเทพ-พิษณุโลก ซึ่งญี่ปุ่นเสนอให้แบ่งงานออกแบบเป็นตอนๆ เพื่อทยอยก่อสร้าง เป็นแนวคิดที่จะทำให้โครงการเกิดได้เร็ว ซึ่งมีความเป็นไปได้กรณีก่อสร้างช่วง 1-2 สถานีแรกและเปิดเดินรถได้เร็วขึ้น เช่น จากบางซื่อ-ดอนเมือง-อยุธยา ระยะทาง 100 กม.โดย เส้นทางกรุงเทพ-พิษณุโลกมีทั้งสิ้น 6 สถานี ได้แก่ บางซื่อ-ดอนเมือง-อยุธยา-ลพบุรี-นครสวรรค์-พิษณุโลก

จากนั้นจะพิจารณาในส่วนของการลงทุน ซึ่งรถไฟความเร็วสูงใช้เงินลงทุนสูงกว่าโครงการอื่นๆ ดังนั้นรัฐควรลงทุน เพราะต้นทุนเงินกู้ของรัฐจะต่ำกว่าเอกชนและผลตอบแทนจะใช้เวลายาว ซึ่งมีตัวอย่างที่ ไต้หวัน ซึ่งให้เอกชนเข้ามาลงทุนแต่ไม่ไหว ที่สุดรัฐบาลต้องเข้าไปเทกโอเวอร์จนถือ 90% โครงการถึงจะอยู่ได้ กรณีที่รัฐลงทุนเองทั้งหมด จะใกล้เคียงกับการร่วมมือรถไฟไทย-จีน แต่ขณะนี้ยังเปิดโอกาสในการให้ญี่ปุ่นเข้ามาร่วมลงทุนซึ่งมีรูปแบบใด ในขั้นตอนไหน ซึ่งยังต้องพิจารณาต่อไป ขณะที่ญี่ปุ่นอาจจะต้องตั้งบริษัทเข้ามาลงทุน กับบริษัทลูกของการรถไฟฯ

สำหรับรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพ-พิษณุโลก มีมูลค่าการลงทุนประมาณ 276,225 ล้านบาท ประกอบด้วย ค่าลงทุนก่อสร้างงานโยธา ระบบราง ระบบอาณัติสัญญาณ ระบบตัวรถ โดยยังรวมค่าบริหารจัดการเดินรถซึ่งจะมีระยะเวลา 30 ปี ซึ่งญี่ปุ่นเสนอให้รัฐลงทุนเอง เนื่องจากเป็นโครงการที่ใช้เงินลงทุนสูง เอกชนอาจไม่ไหว ขณะที่รัฐมีต้นทุนการเงินต่ำกว่าเอกชน ทั้งนี้ ยังเปิดโอกาสให้ญี่ปุ่นเข้ามาร่วมลงทุนในโครงการ ซึ่งจะเป็นรูปแบบรัฐต่อรัฐ ส่วนจะให้ญี่ปุ่นเข้ามาร่วมลงทุนในรูปแบบใด ในขั้นตอนไหน ยังต้องพิจารณาต่อไป ขณะที่ญี่ปุ่นอาจตั้งบริษัทเข้ามาลงทุน กับบริษัทลูกของการรถไฟฯ

อย่างไรก็ตามกรณีที่รัฐลงทุนรถไฟไทย-ญี่ปุ่น เองทั้งหมด จะใกล้เคียงกับการร่วมมือรถไฟไทย-จีน แต่ยังต้องรอข้อสรุปที่ชัดเจน ในรูปแบบการลงทุนของรัฐบาลและการเปิดให้ญี่ปุ่นเข้ามาร่วมลงทุน ซึ่งจะหารือกันต่อไป ขณะที่วิศวกรของญี่ปุ่น ที่ออกแบบโครงการจะ ต้องผ่านการทดสอบ ตามกม.ไทยเหมือนวิศวกรจีน เช่นกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ