รมว.เกษตรฯ-ผู้ว่า กยท.เก้าอี้ร้อน ชาวสวนยางจี้ปรับ-ปลดเซ่นบริหารจัดการล้มเหลว

ข่าวเศรษฐกิจ Friday November 17, 2017 12:32 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

หากย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ ยางพารา พืชเศรษฐกิจของไทยไม่เคยมีหน่วยงาน หรือองค์กรใดรับผิดชอบอย่างจริงๆจังๆ จนกระทั่งมีการจัดตั้งการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ขึ้นมาเป็นองค์กรกลางดูแลการบริหารจัดการยางพาราของประเทศทั้งระบบอย่างครบวงจร บริหารจัดการกองทุนส่งเสริมและสนับสนุนให้ประเทศเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางพารา โดยจัดให้มีการศึกษา วิเคราะห์ วิจัย พัฒนา เผยแพร่ข้อมูลสารสนเทศเกี่ยวกับยางพารา

รวมถึงดำเนินการให้ระดับราคายางมีเสถียรภาพ ส่งเสริม สนับสนุนให้มีการปลูกแทนและการปลูกใหม่ ตลอดจนให้ความช่วยเหลือทั้งด้านวิชาการ การเงิน การผลิต การแปรรูป การอุตสาหกรรม การตลาด การประกอบธุรกิจ เพื่อยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น เป็นพันธกิจสำคัญ บริหารงานโดยคณะกรรมการการ กยท.และมีผู้ว่าการ กยท.เป็นผู้บริหารสูงสุด

"กยท.เป็นองค์กรชั้นนำระดับโลกในการบริหารจัดการยางพาราทั้งระบบ"นี่คือวิสัยทัศน์ในการจัดตั้งหน่วยงานนี้

หากย้อนไปเมื่อ 15 ก.ค.58 กยท.รัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ถูกจัดตั้งขึ้นจากการควบรวม 3 องค์กรที่เกี่ยวข้องกับยางพาราเข้าด้วยกัน ประกอบด้วย สถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร, สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) และ องค์การสวนยาง โดยการผลิตจะอยู่ในความรับผิดชอบของ สกย. ขณะที่สถาบันวิจัยยางดูแลเรื่องการแปรรูป ส่วนองค์การสวนยางดูแลเรื่องการตลาด

ต่อมาเมื่อ 12 ม.ค.59 คณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่งตั้งพล.อ.ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข เป็นประธานบอร์ด กยท.และนายธีธัช สุขสะอาด เป็นผู้ว่าการ กยท.พ่วงด้วยตำแหน่งกรรมการและเลขานุการ ซึ่งนายธีธัช ถือเป็นกูรูด้านบริหารการตลาดที่หาตัวจับยากคนหนึ่ง จบตรี-โท-เอกด้านการบริหารจัดการโดยเฉพาะ การศึกษาสูงสุดปริญญาเอกด้านการจัดการธุรกิจจากมหาวิทยาลัยวิกตอเรีย ออสเตรเลีย เคยเป็นผู้อำนวยการองค์การตลาด และที่ปรึกษาโครงการ บริษัท แอดวานซ์ เวนเจอร์ โซลูชั่น ประเทศไทย

แต่ล่าสุด มีการเรียกร้องให้ปลดบอร์ด กยท.ทั้งคณะเพื่อรับผิดชอบราคายางร่วงหนัก โดยเฉพาะตัวผู้ว่า กยท.ฐานบริหารงานผิดพลาด

"ราคายางที่ตกต่ำในช่วงที่ผ่านมาเกิดจากการทำงานของบอร์ดการยางแห่งประเทศ อีกทั้งรองผู้ว่าการยางฯ ไปเป็นที่ปรึกษาให้กับบริษัทน้ำยางข้นซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ดังนั้น ควรจะพิจารณาการทำงานของบอร์ดบริหารการยางฯชุดนี้ ซึ่งเกษตรกรพร้อมจะเดินหน้าแก้ไขปัญหาเพื่อปากท้อง โดยได้เชิญตัวแทนผู้ประกอบการเข้าร่วมประชุมเพื่อหาแนวทางการช่วยเหลือเกษตรกร"นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ นายกสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย (สยยท.) กล่าว

ขณะที่ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า การเปลี่ยนตัวประธานบอร์ด กยท. ต้องดูข้อเท็จจริงว่า เขาทำงานอย่างไร มีข้อบกพร่องผิดพลาดหรือไม่ ถ้าไม่มีต้องพิจารณากันให้รอบคอบ โดยทางกระทรวงจะหาโอกาสพูดคุยไกล่เกลี่ยทั้งสอฝ่าย ซึ่งที่ผ่านมาตนได้มีการพูดคุยกับเกษตรกร หลายคนมีความเข้าใจ บางส่วนที่ยังไม่เข้าใจต้องมีความการสร้างเข้าใจต่อไป

"ได้เชิญผู้ว่าการ กยท.และประธาน กยท.เข้าพบเพื่อสรุปประเด็นทั้งหมดที่เกษตรกรมีข้อสงสัยในการบริหารจัดการของ กยท.จึงขอให้ชี้แจงเรื่องนี้มาทั้งหมด โดยให้ประธาน กยท.เป็นผู้ดำเนินการ เนื่องจากต้องสั่งการผ่านบอร์ด กยท.ซึ่งจะให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นเพื่อดูข้อเสนอของเกษตรกรทั้ง 2 กลุ่ม รวมถึงตรวจสอบข้อเท็จจริง และให้รายงานผลให้ทราบภายใน 7 วัน" รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าว

พร้อมระบุว่า ระเบียบของ กยท.มีการบริหารจัดการภายใต้ พ.ร.บ.การยาง มีกติกาและวิธีการ จึงไม่สามารถปลดผู้การ กยท.ได้ทันที แต่ต้องมีการประเมินโดยบอร์ด กยท.หากพบการกระทำความผิดที่เห็นได้ชัดเจนจึงจะดำเนินการได้ ดังนั้น จึงต้องมีการฟังความจากทุกด้านเพื่อให้เกิดความยุติธรรมแก่ทุกฝ่าย

อย่าว่าแต่ บอร์ด กยท.ลำพัง รมว.เกษตร เองก็คงต้องเก้าอี้ร้อนหากแก้ปัญหาไม่ได้

"ทั้งพล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรฯ และ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ต้องรับผิดชอบเรื่องนี้ และพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีก็ต้องปรับให้ออกไป"นายถาวร เสนเนียม อดีต ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ กล่าว

อดีต ส.ส.กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาฟังการแก้ไขปัญหาเกษตรราคาตกต่ำของผู้เกี่ยวข้องในรัฐบาลนี้ จะได้คำตอบที่พูดที่เป็นสูตรสำเร็จ เหมือนกับการแก้ตัวไปวันๆ คือ ขึ้นกับกลไกตลาด ราคาตลาดโลก และพื้นที่ปลูกยางมากขึ้น แต่ในความจริงพื้นที่ปลูกยางในประเทศขณะนี้ลดลงเรื่อยๆ ตั้งแต่ กยท. มีนโยบายให้นำเงินเซสค่าธรรมเนียมการส่งออกยางที่เป็นเงินของเกษตรกรมาใช้โค่นต้นยางเก่า ปลูกต้นใหม่ทดแทนจากปีละ 4 แสนไร่ ปัจจุบันเหลือแค่ 2 แสนไร่

ส่วนที่ว่าขึ้นกับราคาตลาดโลกก็ต้องขึ้นอยู่ที่การบริหารจัดการของประเทศผู้ผลิตยางไตรภาคี มาเลเซีย อินโดนีเซีย และไทย ที่มีมาตรการบริหารสต็อก กำหนดราคาขายไม่ต่ำกว่าทุน หรือให้การสนับสนุนด้านราคา การขยายพื้นที่ปลูกร่วมกัน ซึ่งควรจะมีการประชุมกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อติดตามความคืบหน้า แต่ทว่าตั้งแต่รัฐบาลนี้เข้ามาเกือบ 4 ปี เพิ่งไปประชุมครั้งเดียว เมื่อวันที่ 15 ก.ย. ล่าสุดก็เพิ่งจะไปเมื่อต้นเดือนพ.ย. ก็ได้มติเดิมๆ

"ในฐานะที่ประเทศไทยส่งออกยางมากที่สุดในโลกเกือบ 5 ล้านตันต่อปี แต่มีการใช้ยางในประเทศ 12% เมื่อนายกรัฐมนตรีสั่งการให้ส่วนราชการช่วยกันเอายางไปใช้ กลับไม่มีนำมาทำจริง ฟังหูซ้ายทะลุหูขวา ซึ่งนายกฯมีอำนาจเบ็ดเสร็จ สามารถสั่งปลด กำหนดเวลา เม็ดเงิน เพื่อช่วยเกษตรกรได้ ก็ขอนายกสั่งการให้เป็นกิจลักษณะ"นายถาวร ระบุ

เมื่อกลางเดือน ก.ค.60 มีรายงานข่าวว่าปีงบประมาณ 2560 มี 9 หน่วยงานที่ยื่นความจำนงค์ที่จะใช้ยางพาราเป็นน้ำยางข้น 22,331 ตัน/ยางแห้ง 2,952 ตัน รวมเป็นเงินงบประมาณทั้งสิ้น 16,925 ล้านบาท แต่ผ่านมา 5 เดือน ตัวเลขการใช้จริงเป็นอย่างไร หน่วยงานที่รับผิดชอบต้องพร้อมเปิดเผยข้อมูลที่แท้จริงเรื่อยๆ

สรุปแล้ว พืชร้อนอย่างยางพาราถือเป็นดัชนีชี้วัดความแข็งแรงของเศรษฐกิจและการเมืองไทยพอสมควร บางคนให้คำนิยามยางพาราว่า"พืชเทวดา"ราคาตกไม่ได้ ตกเมื่อไหร่เป็นเรื่องทันที


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ