สภาพัฒน์ คาดปี 61 GDP โต 3.6-4.6% ได้แรงหนุนจากส่งออก, ลงทุนภาครัฐ-เอกชนที่เร่งตัวขึ้น

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 20, 2017 12:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการ คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ประเมินว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 61 จะขยายตัวได้ 3.6 - 4.6% มีค่ากลางที่ 4.1% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก 1. การขยายตัวในเกณฑ์ดีของเศรษฐกิจโลกที่เป็นปัจจัยหนุนภาคการส่งออกอย่างต่อเนื่อง 2.แรงขับเคลื่อนจากการลงทุนภาครัฐที่มีแนวโน้มเร่งตัวขึ้น 3.การปรับตัวดีขึ้นของการลงทุนภาคเอกชน 4.สาขาเศรษฐกิจสำคัญมีแนวโน้มขยายตัวดีต่อเนื่อง และ 5.การปรับตัวดีขึ้นของจากจ้างงานและฐานรายได้ของประชาชนในระบบเศรษฐกิจ ในขณะที่มาตรการดูแลเกษตรกรและผู้มีรายได้น้อยยังคงเป็นปัจจัยสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ คาดว่าในปี 61 การส่งออกสินค้าจะขยายตัวได้ 5% ต่ำกว่าปี 60 ที่คาดว่าจะขยายตัวได้ถึง 8.6% และแม้ในปีหน้าเศรษฐกิจโลกยังมีแนวโน้มการเติบโตที่ดี แต่การส่งออกของไทยก็ยังขยายตัวได้ไม่สูงมากนัก ซึ่งเป็นผลจากฐานที่สูงในปีนี้ ในขณะที่การนำเข้าในปีหน้า คาดว่าขยายตัวได้ 7% และการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดจะเริ่มปรับลดลง ซึ่งเป็นผลมาจากมีการนำเข้าสินค้าทุนเพิ่มขึ้นเพื่อใช้ในการผลิตสินค้า

ส่วนอัตราเงินเฟ้อในปีหน้า คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 0.9-1.9% ซึ่งใกล้เคียงกับกรอบเป้าหมาย ในขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนคาดว่าจะอ่อนค่าลงเล็กน้อยจากปีนี้ ไปอยู่ที่ระดับ 34.00-35.00 บาท/ดอลลาร์ ซึ่งเป็นไปตามนโยบายการเงินโลก หลังจากที่ธนาคารกลางหลายประเทศเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ส่วนราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกคาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้นจากปีนี้เล็กน้อย สะท้อนการเติบโตของเศรษฐกิจที่ดีขึ้นต่อเนื่อง

เลขาธิการสภาพัฒน์ กล่าวว่า ในปี 61 ยังมีข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญต่อเศรษฐกิจไทย คือ 1.การลดลงของแรงขับเคลื่อนจากภาเกษตร โดยการขยายตัวของภาคเกษตรกลับเข้าสู่ระดับปกติมากขึ้น หลังการขยายตัวสูงเนื่องจากฐานต่ำในช่วงภัยแล้งปี 58-59 ซึ่งจะทำให้แรงขับเคลื่อนจากภาคเกษตรลดลง และการขยายตัวของเศรษฐกิจปี 61 ต้องพึ่งพิงภาคนอกเกษตรมากขึ้น

2.ความเสี่ยงจากความผันผวนในระบบเศรษฐกิจและการเงินโลก เนื่องจากความคืบหน้าของแผนปฏิรูปภาษี และกฎหมายงบประมาณสหรัฐฯ ยังมีความเสี่ยงที่จะล่าช้า, ทิศทางการดำเนินนโยบายการค้าของสหรัฐ และผลการเจรจา NAFTA, ผลการเจรจา BREXIT ระหว่างสหราชอาณาจักรกับสหภาพยุโรปซึ่งยังมีความยืดเยื้อ, เงื่อนไขทางการเมืองในสหภาพยุโรป โดยเฉพาะในสเปน และผลการเลือกตั้งในอิตาลี, ความขัดแย้งทางการเมืองบนคาบสมุทรเกาหลี และในตะวันออกกลาง

3.ราคาสินค้า อัตราเงินเฟ้อ และอัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ โดยในปี 61 คาดว่าเศรษฐกิจโลกขยายตัวดีต่อเนื่องที่ 3.6% ซึ่งจะส่งผลให้ราคาสินค้าในตลาดโลกเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ และอัตราเงินเฟ้อในประเทศสำคัญเพิ่มขึ้น, สหรัฐปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง ประเทศอื่นๆ ส่งสัญญาณปรับนโยบายการเงินเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้น ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยในตลาดโลกเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ ทั้งนี้อัตราดอกเบี้ยและราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ ไม่เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย แต่อาจจะกระทบบางกลุ่มที่มีความอ่อนไหวต่อดอกเบี้ยและราคาสินค้าได้

สำหรับการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในช่วงที่เหลือของปีและในปี 2561 สภาพัฒน์ เห็นว่าควรให้ความสำคัญกับ 1.การสนับสนุนการขยายตัวของการผลิตนอกภาคเกษตร โดยการดูแลการส่งออกให้สามารถขยายตัวได้เต็มศักยภาพและต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวเร่งขึ้นและสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้มากขึ้น, การสนับสนุนการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชนทั้งในด้านการดำเนินการตามโครงการลงทุนที่สำคัญ การชักจูงนักลงทุนในสาขาเป้าหมาย การยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน และการสร้างความมั่นใจแก่นักลงทุนในความต่อเนื่องของนโยบายและมาตรการที่สำคัญในช่วงหลังการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่การเลือกตั้ง, การสนับสนุนการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว ควบคู่กับการกระจายรายได้จากการท่องเที่ยวลงสู่ชุมชนและชนบท

2.การขับเคลื่อนการลงทุนภาครัฐให้สามารถขยายตัวตามเป้าหมายได้อย่างต่อเนื่อง โดยการเร่งรัดการจัดซื้อจัดจ้างในช่วงที่เหลือของปี และการเบิกจ่ายงบลงทุนในกรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี และงบลงทุนรัฐวิสาหกิจไม่ต่ำกว่า 75.0% และ 80.0% ตามลำดับ, การขับเคลื่อนโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ให้เข้าสู่ขั้นตอนการก่อสร้างได้อย่างต่อเนื่อง, การขับเคลื่อนโครงการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก (EEC) และพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน, การขับเคลื่อนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง โลจิสติกส์ และการพัฒนาเมืองและพื้นที่เศรษฐกิจในระดับภาคและจังหวัดสำคัญๆ

3. การดูแลเกษตรกรและผู้มีรายได้น้อย และการสร้างความเข้มแข็งให้ SMEs และเศรษฐกิจฐานราก ทั้งในด้านการผลิตสินค้าเกษตรและรายได้เกษตรกร การดำเนินการตามมาตรการการเงินการคลังเพื่อสนับสนุนเกษตรกร ผู้มีรายได้น้อย ผู้ประกอบการ SMEs และวิสาหกิจชุมชน และการพัฒนา SMEs ให้มีความเข้มแข็ง

4. การเตรียมความพร้อมด้านกำลังแรงงานและคุณภาพแรงงานให้มีเพียงพอต่อการรองรับการขยายตัวของภาคการผลิตและการลงทุน ทั้งในด้านกำลังแรงงานทักษะฝีมือ แรงงานกึ่งทักษะฝีมือ และแรงงานต่างชาติ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ