ครม.ไฟเขียว ก.พ.ร.ทำแผน Doing Business อีก 11 ด้าน หวังขยับอันดับดีขึ้นกว่าปัจจุบัน

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 21, 2017 16:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้รับทราบรายงานผลการจัดอันดับความยาก-ง่ายในการประกอบธุรกิจของธนาคารโลก (World Bank) หรือ Doing Business 2018 และรายงานการขับเคลื่อนการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ ประจำปีงบประมาณ 2560-2561 ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (สำนักงาน ก.พ.ร.) เสนอ

ทั้งนี้ หลังจากธนาคารโลกได้แถลงผลการจัดอันดับความยาก-ง่ายในการประกอบธุรกิจของประเทศไทยที่ได้รับการจัดอันดับดีขึ้นถึง 20 อันดับ มาอยู่ที่อันดับที่ 26 (ปีก่อนอันดับที่ 46) จาก 190 ประเทศทั่วโลก และถือเป็นอันดับที่ 3 ของอาเซียน รองจากสิงคโปร์ และมาเลเซียนั้น สำนักงาน ก.พ.ร.จึงได้นำเสนอแผนการดำเนินงานสำหรับปีงบประมาณ พ.ศ.2561 ต่อที่ประชุมครม. เพื่อให้การปรับปรุงการดำเนินการมีผลบังคับใช้ทันต่อรอบการประเมินรอบต่อไปของธนาคารโลก โดยมีประเด็นที่ต้องเร่งดำเนินการทั้งหมด 11 ด้าน และมีส่วนราชการที่ต้องรับผิดชอบในแต่ละด้านรวมทั้งหมด 12 หน่วยงาน ประกอบด้วย

1.การเริ่มต้นธุรกิจ เช่น การสร้างการรับรู้ ความเข้าใจ และประชาสัมพันธ์ระบบจดทะเบียนนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์ และการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนเป็นอัตราคงที่ และลดอัตราค่าธรรมเนียมสำหรับระบบจดทะเบียนนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ

2.การขออนุญาตก่อสร้าง เช่น แก้ไข พ.ร.บ.ระเบียบกรุงเทพมหานครว่าด้วยวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการขออนุญาตและการควบคุมการก่อสร้างอาคาร โดยใช้วิธีการตรวจสอบความเสี่ยงในการก่อสร้างอาคารเป็นช่วงระยะเวลา โดยให้กรุงเทพมหานคร เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ การทบทวนการแบ่งประเภทความเสี่ยงของอาคาร, เผยแพร่การใช้ Single Online Window สำหรับการใช้งานออนไลน์และรับรองการออกใบอนุญาตการก่อสร้าง โดยให้กรมโยธาธิการและผังเมือง เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ

3.การขอใช้ไฟฟ้า เช่น กาขึ้นทะเบียนผู้ตรวจสอบสายภายในเพิ่มเติม, การปรับปรุงค่าธรรมเนียมการขอใช้ไฟฟ้า การเพิ่มตัวแทนหรือธนาคารที่รับชำระค่าธรรมเนียมการขอใช้ไฟฟ้า โดยให้การไฟฟ้านครหลวง เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบ

4.การจดทะเบียนทรัพย์สิน เช่น เปลี่ยนแปลงการแบ่งเขต และแผนผังการใช้ที่ดินเพื่อให้สามารถเชื่อมโยงข้อมูลรูปแบบที่ดินกับข้อมูลสำนักผังเมือง กรุงเทพมหานครได้, การจัดตั้งกองทุนจ่ายค่าชดเชย และการจัดทำระเบียบของกรมที่ดินเพื่อให้รองรับการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมที่จะเกิดขึ้น ณ สำนักงานที่ดินใดก็ได้ เพื่อรองรับการจดทะเบียนออนไลน์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยให้กรมที่ดิน เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ

5.การได้รับสินเชื่อ เช่น การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวกับหลักประกันทางธุรกิจ โดยให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง, กรมพัฒนาธุรกิจการค้า, กรมบังคับคดี, ธนาคารแห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ

6.การคุ้มครองผู้ลงทุน เช่น สร้างความรับรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายและกฎเกณฑ์ที่มีผลบังคับใช้ในปัจจุบัน รวมทั้งที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมให้แก่ประชาชนและผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ

7.การชำระภาษี ขยายฐานการชำระเงินสมทบผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ไปยังธนาคารที่มีฐานลูกค้าจำนวนมาก, ปรับปรุงค่าธรรมเนียมเพื่อจูงใจให้สถานประกอบการชำระเงินสมทบกองทุนประกันสังคมผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยสำนักงานประกันสังคมเป็นผู้รับผิดชอบค่าธรรมเนียมแทนสถานประกอบการ, พัฒนาระบบ e-filing เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการยื่นแบบและชำระภาษี สามารถรองรับการยื่นแบบภาษีเงินได้นิติบุคคลในรอบระยะเวลาบัญชี ปี 2561 โดยให้สำนักงานประกันสังคม เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ

8.การค้าระหว่างประเทศ สร้างมาตรฐานการดำเนินงานด้านศุลกากรและขั้นตอนที่เกี่ยวข้องตามมาตรฐานสากล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการอำนวยความสะดวกทางการค้า และเป็นที่ยอมรับระดับสากล, พัฒนานโยบายและกำกับดูแลระบบ National Single Window (NSW) เพื่อยกระดับขั้นตอนการนำเข้า-ส่งออกอย่างเบ็ดเสร็จ ณ หน้าต่างเดียวด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ภายใต้ระบบ NSW โดยให้กรมศุลกากร เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ

9.การบังคับให้เป็นไปตามข้อตกลง เช่น พัฒนาระบบ e-filing, ปรับปรุงแก้ไขร่างกฎกระทรวงว่าด้วยคุณสมบัติ หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขของบุคคลที่ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติการแทนเจ้าพนักงานบังคับดคี พ.ศ...., การปรับโครงสร้างองค์กรจากผู้ปฏิบัติงานเป็นผู้กำกับดูแล, การนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการทำงานเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน และลดค่าใช้จ่ายและระยะเวลาในการบังคับคดี โดยให้กรมบังคับคดี เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ

10.การแก้ปัญหาการล้มละลาย เช่น ปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.ล้มละลาย, เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการคดี และนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการทำงาน โดยให้กรมบังคับคดีเป็นหน่วยงานรับผิดชอบ

11.การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เช่น การศึกษาเกณฑ์การประเมินและรวบรวมข้อมูลพื้นฐานตามแนวทางการประเมินตัวชี้วัดของธนาคารโลก และการประชาสัมพันธ์ให้ผู้เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนรับทราบขั้นตอนและกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 โดยให้กรมบัญชีกลางเป็นหน่วยงานรับผิดชอบ

นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า จากแผนงานดังกล่าวที่สำนักงาน ก.พ.ร.นำเสนอนั้นคาดว่าจะสามารถดำเนินการได้มากกว่าครึ่งให้เป็นไปตามแผน และเชื่อว่าจะส่งผลดีให้ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับที่ดีขึ้นจากธนาคารโลกในปีต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ