รายงาน กนง.ระบุยังจำเป็นใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนปรนเพื่อรักษาสมดุล policy trade-offs

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 22, 2017 11:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยแพร่รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 8 พ.ย.60 โดยคณะกรรมการฯ ได้พิจารณาถึงการรักษาสมดุลระหว่างผลกระทบของทางเลือกเชิงนโยบายต่าง ๆ (policy trade-offs) จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ในการประชุมครั้งนี้ โดยเห็นพ้องถึงความจำเป็นในการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนปรนต่อไป โดยพร้อมใช้เครื่องมือเชิงนโยบายที่มีอยู่เพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการรักษาเสถียรภาพการเงินของประเทศ

ในการตัดสินนโยบายครั้งนี้ กรรมการได้อภิปรายถึงปัจจัยส่าคัญที่มีผลต่อการพิจารณาดำเนินนโยบายการเงิน โดยมีข้อสรุปและเหตุผลหลักประกอบการตัดสินใจ ดังนี้

(1) เศรษฐกิจในภาพรวมมีแนวโน้มขยายตัวชัดเจนมากขึ้น จากการส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่องตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่เข้มแข็งมากขึ้น ประกอบกับอุปสงค์ในประเทศยังขยายตัวดีต่อเนื่อง โดยเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนปรับดีขึ้นในหลายอุตสาหกรรมเช่นเดียวกับการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวได้ต่อเนื่องตามกำลังซื้อและความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการฯ แสดงความกังวลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ยังไม่ส่งผ่านผลดีไปสู่การจ้างงานและรายได้ของกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มธุรกิจ SMEs เท่าที่ควร ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัญหาเชิงโครงสร้างที่ไม่อาจใช้นโยบายการเงินเพียงอย่างเดียวในการแก้ไขได้สำหรับการแข็งค่าของเงินบาทในช่วงที่ผ่านมามีทิศทางที่สอดคล้องกับสกุลเงินภูมิภาค ส่วน NEER และ REER ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้คณะกรรมการฯ เห็นว่านโยบายการเงินแบบผ่อนคลายในระดับปัจจุบันยังมีความจ เป็นต่อไปอีกระยะหนึ่งเพื่อสนับสนุนให้อุปสงค์ในประเทศขยายตัวได้เข้มแข็งมากขึ้น

(2) อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ตามราคาอาหารสดและราคาพลังงานที่ทยอยปรับสูงขึ้น และมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นอย่างช้า ๆ ตามการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศ การปรับขึ้นภาษีสรรพสามิต รวมถึงผลกระทบต่อค่าจ้างแรงงานจากมาตรการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าว นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ เห็นว่าอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำกว่ากรอบเป้าหมายในช่วงที่ผ่านมา เป็นผลจากปัจจัยด้านอุปทานและปัจจัยเชิงโครงสร้างเป็นหลัก การผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมจึงไม่ใช่นโยบายที่เหมาะสมและยังจะเร่งให้เกิดการสะสมความเปราะบางเพิ่มเติมต่อเสถียรภาพระบบการเงินในระยะต่อไป

นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ ประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ที่โน้มลดลงยังไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงภาวะเงินฝืด เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อยังมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น โดยราคาสินค้าและบริการส่วนใหญ่ไม่ได้ปรับลดลง และการบริโภคและการลงทุนยังขยายตัวได้ อย่างไรก็ดี ยังจำเป็นต้องติดตามพลวัตเงินเฟ้อที่เปลี่ยนแปลงไปจากปัจจัยเชิงโครงสร้างอย่างใกล้ชิดต่อไป

(3) เสถียรภาพระบบการเงินโดยรวมยังอยู่ในเกณฑ์ดี แต่ยังมีความเสี่ยงที่อาจเป็นการสะสมความเปราะบางในระบบการเงินในระยะต่อไปซึ่งต้องติดตามต่อไปอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะพฤติกรรม search for yield ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานาน ซึ่งอาจนำไปสู่การประเมินความเสี่ยงที่ต่ำกว่าที่ควร (underpricing of risks) โดยในช่วงที่ผ่านมายังเห็นการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนได้จากกองทุน FIF ที่ขยายตัวในระดับสูงและมีการลงทุนกระจุกตัวในบางประเทศและพฤติกรรมการลงทุนของสหกรณ์ออมทรัพย์บางแห่งที่มีการกู้ยืมเพื่อไปลงทุน

รวมทั้ง ความสามารถในการชำระหนี้ในกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มธุรกิจ SMEs ที่ยังไม่ปรับดีขึ้นมาก และ ปัญหาเสถียรภาพระบบการเงินที่อาจเกิดขึ้นได้ในจุดที่เกณฑ์การกำกับดูแลยังไม่ครอบคลุม (regulatory gap) โดยกรรมการส่วนหนึ่งแสดงความกังวลต่อภาคอสังหาริมทรัพย์ที่มีการแข่งขันสูงในภาวะที่อุปทานคงค้างยังมีพอสมควร

นอกจากนี้ คณะกรรมการ กนง.เห็นควรให้ติดตามพัฒนาการและวิเคราะห์เสถียรภาพระบบการเงินต่อเนื่อง ตลอดจนประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินมาตรการกำกับดูแลควบคู่กันไป

"คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีกว่าที่ประเมินไว้เดิมจากการส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยวรวมถึงอุปสงค์ในประเทศที่ขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีทิศทางปรับสูงขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามที่ประเมินไว้ตามราคาอาหารสดและพลังงานที่ทยอยปรับสูงขึ้น การฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศ การปรับขึ้นอัตราภาษีสรรพสามิต รวมทั้งผลของมาตรการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวที่อาจส่งผลให้ค่าจ้างแรงงานโดยรวมปรับสูงขึ้น

ขณะที่ภาวะการเงินโดยรวมยังอยู่ในระดับผ่อนคลายและเอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ สะท้อนจากต้นทุนการระดมทุนในตลาดสินเชื่อและตลาดตราสารหนี้ของภาคธุรกิจยังอยู่ในระดับต่ำพอสมควร ด้านเสถียรภาพระบบการเงินอยู่ในเกณฑ์ดี แต่มีความเสี่ยงในบางจุดที่อาจสะสมความเปราะบางในระบบการเงินในระยะต่อไป คณะกรรมการฯ ได้พิจารณาถึงผลดีและผลกระทบของทางเลือกเชิงนโยบายต่าง ๆ (policy trade-offs) แล้วเห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายในระดับปัจจุบันมีส่วนช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจและเอื้อให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับสู่เป้าหมายได้ แม้อาจต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง" เอกสารรายงาน กนง.ระบุ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ