"จากรากหญ้าสู่ยอดหญ้า รัฐบาลปูพรมมาตรการทุกระดับหวังขยับ GDP"

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 30, 2017 12:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เศรษฐกิจไทยในปีนี้เริ่มฟื้นตัวขึ้นเป็นลำดับ แม้จะยังไม่เข้าสู่ระดับโตเต็มศักยภาพตามที่รัฐบาลคาดหวังไว้ที่ 4-5% ก็ตาม การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยปีนี้ได้ปัจจัยหนุนหลักๆ มาจากต่างประเทศ จากผลของเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว ทำให้หลายประเทศคู่ค้าสำคัญมีความต้องการนำเข้าสินค้ามากขึ้น รวมทั้งสินค้าจากไทย ส่งผลให้การส่งออกของไทยในปีนี้เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องติดต่อกัน 8 เดือน นับตั้งแต่เดือนมี.ค.จนถึงล่าสุดเดือน ต.ค. ซึ่งมีส่วนช่วยทำให้เศรษฐกิจไทยมีโอกาสเข้าใกล้ระดับ 4% ได้มากขึ้น

แต่ทว่าจะหวังให้การส่งออกเป็น "เครื่องยนต์หลัก" ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยนั้นอาจจะยังไม่เพียงพอ หรือการจะหวังพึ่งการลงทุนภาครัฐในโครงการลงทุนขนาดใหญ่ ก็คงยังไม่เห็นผลสัมฤทธิ์จากการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะอันใกล้ได้ชัดเจนนัก เนื่องจากโครงการลงทุนดังกล่าวเป็นโครงการระยะยาวที่ต้องใช้เวลาแรมปี ดังนั้น "เครื่องยนต์สำรอง" อีกตัวที่ไม่ควรมองข้ามและน่าจะช่วยวัดผลได้เร็วกว่า คือ "การบริโภคในประเทศ" ทำให้รัฐบาลต้องหันกลับมามองถึงอุปสงค์หรือกำลังซื้อในประเทศเพื่อจะให้เป็นอีกหนึ่งแรงที่ช่วยกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย เนื่องจากข้อมูลของหน่วยงานวิจัยด้านเศรษฐกิจได้ค้นพบประเด็นที่สำคัญ คือ ธุรกิจค้าปลีกยังคงเผชิญกับปัจจัยกดดันด้านกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ยังไม่ฟื้นตัวอย่างชัดเจน โดยเฉพาะในกลุ่มฐานราก ซึ่งถือเป็นกลุ่มลูกค้าหลักของประเทศ ประกอบกับตั้งแต่ต้นปีมานี้ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่สะท้อนผ่านการออกมาจับจ่ายใช้สอยก็ยังต่ำกว่าระดับปกติที่ 100 แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคยังมีความกังวลและไม่มั่นใจต่อสถานการณ์ต่างๆ จึงยังไม่กล้านำเงินออกมาใช้จ่าย ไม่ว่าจะเป็นความกังวลในเรื่องเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความผันผวน, ราคาพืชผลเกษตรที่ยังทรงตัวในระดับต่ำ, ภาวะการจ้างงานที่ยังไม่ฟื้นตัวดีนัก เป็นต้น

นี่อาจเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้รัฐบาลต้องพยายามเข็นมาตรการต่างๆ ออกมาปูพรมกับประชาชนในทุกกลุ่ม ตั้งแต่ระดับรากหญ้าไปจนถึงยอดหญ้า เพื่อหวังจะช่วยกระตุ้นกำลังซื้อในประเทศ กระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยที่ยังชะลอตัวให้มาเป็นอีกหนึ่งแรงส่งในการร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ถึงฝั่งฝัน ซึ่งถ้าจะพูดถึงมาตรการช่วยเหลือประชาชนในระดับรากหญ้าที่เด่นชัดในปีนี้ คงหนีไม่พ้น "โครงการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ" ซึ่งเป็นการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้มีรายได้น้อยที่เข้าเกณฑ์กว่า 11 ล้านคน ทั้งในเรื่องค่าใช้จ่ายในครัวเรือน เช่น วงเงินค่าซื้อสินค้าอุปโภค-บริโภคที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน สินค้าเพื่อการศึกษา และวัตถุดิบเพื่อเกษตรกรรมจากร้านธงฟ้าประชารัฐหรือร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ รายละ 200-300 บาท/เดือน และค่าใช้จ่ายในการเดินทาง เช่น วงเงินค่าโดยสารรถเมล์/รถไฟฟ้า 500 บาท/เดือน ค่าโดยสารรถ บขส. 500 บาท/เดือน และค่าโดยสารรถไฟ 500 บาท/เดือน

ส่วนมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อของประชาชนในระดับกลางถึงระดับยอดหญ้า ที่รัฐบาลนำออกมาใช้เป็นปีที่ 3 ยังคงเป็นมาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปี 2560 หรือมืชื่อเรียกเล่นๆ ว่า "มาตรการช็อปช่วยชาติ" โดยให้ผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา นำค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการซื้อสินค้า/บริการที่เข้าเงื่อนไขจากผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) นำมาหักเป็นค่าลดหย่อนได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท โดยมีระยะเวลาการใช้มาตรการนี้รวม 23 วัน ตั้งแต่ 11 พ.ย.-3 ธ.ค.60 ซึ่งรัฐบาลให้เหตุผลว่าต้องการส่งเสริมให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น สร้างปรากฎการณ์เชิงจิตวิทยาในการกระตุ้นอุปสงค์ในประเทศ และช่วยเพิ่มเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจ อันจะส่งผลดีต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในภาพรวม

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คาดว่า มาตรการช็อปช่วยชาติจะทำให้มีเม็ดเงินใหม่ที่เข้ามาช่วยเติมในระบบเศรษฐกิจปีนี้ได้ราว 15,000-20,000 ล้านบาท ซึ่งน่าจะใกล้เคียงกับปี 58 และ 59 ที่ผ่านมา ประกอบกับเม็ดเงินที่จะเข้ามาช่วยหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐของผู้มีรายได้น้อยอีกราว 5,000 ล้านบาท ดังนั้นเมื่อรวมกับมาตรการช็อปช่วยชาติแล้ว ก็คาดว่าจะมีเม็ดเงินเข้ามาหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปีนี้อีกประมาณ 25,000 ล้านบาท และช่วยกระตุ้น GDP ในปีนี้ให้เพิ่มขึ้นได้อีก 0.1% จากเดิมที่ ม.หอการค้าไทยประเมินว่าปีนี้ GDP จะโตได้ 3.9%

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ภาวะการครองชีพของครัวเรือนไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ จะได้รับอานิสงส์จากเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวดีอย่างต่อเนื่อง และมาตรการต่างๆ ที่ภาครัฐทยอยออกมา ไม่ว่าจะเป็น 1.มาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับฐานรากได้ดีพอสมควร 2.มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วม และ 3.มาตรการช็อปช่วยชาติ โดยคาดว่าจะช่วยให้ภาคธุรกิจการค้าและการบริการเพิ่มชั่วโมงการทำงานล่วงเวลา ซึ่งส่งผลบวกต่อรายได้ของครัวเรือนให้เพิ่มขึ้น

ส่วนศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ประเมินว่า การบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มฟื้นตัวจากปัจจัยลบที่คลี่คลายและการสนับสนุนจากภาครัฐ ซึ่งการบริโภคภายในประเทศที่กลับมาฟื้นตัวจากผลของบรรยากาศการใช้จ่ายที่สดใสขึ้นหลังผ่านพ้นช่วงอุทกภัย รวมถึงกิจกรรมการบริโภคต่างๆ กลับมาดำเนินการได้หลังพ้นช่วงการไว้อาลัย และที่สำคัญได้รับแรงสนับสนุนจากมาตรการภาครัฐ ทั้งการให้ความช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยผ่านช่องทางบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และมาตรการช็อปช่วยชาติในช่วงปลายปี

ขณะที่ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารออมสิน ประเมินว่า ดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจฐานราก (GSI) จะปรับตัวสูงขึ้นในช่วงปลายปีนี้ โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากเศรษฐกิจของประเทศที่ขยายตัวต่อเนื่องจากภาคการส่งออก การใช้จ่ายภาครัฐ และการท่องเที่ยว รวมถึงมาตรการของภาครัฐที่ออกมาช่วยเหลือประชาชนในระดับฐานรากในโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งจะช่วยเพิ่มกำลังซื้อและสภาพคล่องให้กับประชาชนฐานรากได้ในระดับหนึ่ง

ด้านนายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการ คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ มองว่า มาตรการช็อปช่วยชาติที่รัฐบาลประกาศใช้ในช่วงระยะเวลา 23 วันนั้น คงเป็นอีกหนึ่งแรงส่งที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปีนี้ได้ แต่อาจไม่ได้มากพอนักที่จะเป็นตัวหลักในการกระตุ้นให้ GDP โตได้ถึง 4% เพราะเป็นเพียงมาตรการกระตุ้นการบริโภคในประเทศให้เพิ่มขึ้นเท่านั้น

ดังนั้น หากจะพิจารณาข้อมูลและมุมมองความเห็นจากหลายสถาบันวิจัยเศรษฐกิจต่างๆ แล้ว ก็ยังพอทำให้ใจชื้นขึ้นได้ว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในทุกระดับเพื่อขยับกำลังซื้อของกลุ่มรากหญ้าจนถึงยอดหญ้า ก็น่าจะมีส่วน "ไม่มากก็น้อย" ที่จะเป็นฟันเฟืองช่วยผลักดันเศรษฐกิจไทยในปีนี้ให้เข้าใกล้ความหวังของรัฐบาลที่ต้องการเห็นการเติบโตอย่างเต็มศักยภาพที่ระดับ 4-5% ได้ แม้ว่ามาตรการที่ออกมาอาจจะเป็นเพียงการช่วยเหลือประชาชนในช่วงสั้นๆ แต่ก็มีผลในการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศระยะสั้นได้

อย่างไรก็ดี สิ่งที่รัฐบาลต้องพึงระวัง คืออย่าใช้มาตรการในลักษณะเช่นนี้พร่ำเพรื่อจนเหมือนเป็น "นโยบายประชานิยม" ที่ทำให้ประชาชนเกิดอาการเสพติด เฝ้ารอความหวังมาตรการช่วยเหลือจากรัฐบาลแต่เพียงอย่างเดียว ซึ่งเท่ากับว่าไม่ได้ช่วยทำให้เศรษฐกิจไทยสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ