(เพิ่มเติม) ศูนย์วิจัยกสิกรฯ-SCB EIC คาดเงินเฟ้อปี 61 เร่งตัวขึ้นมาที่ 1.1% ตามทิศทางราคาพลังงาน-ต้นทุนแรงงานสูงขึ้น

ข่าวเศรษฐกิจ Friday December 1, 2017 15:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินทิศทางอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยในปี 2561 โดยคาดว่าจะเร่งตัวขึ้นมาอยู่ที่ 1.1% (กรอบประมาณการที่ 0.6-1.5%) ตามทิศทางราคาพลังงานและต้นทุนแรงงานที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยราคาพลังงานในประเทศที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นในปี 2561 อาจจะส่งผลต่อราคาสินค้าที่อาศัยพลังงานเชื้อเพลิงเป็นสัดส่วนที่สูงในการผลิตหรือดำเนินการอย่างการขนส่งสาธารณะให้ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

ทั้งนี้ คาดว่าราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยในปี 2561 จะอยู่ที่ 55 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล (กรอบประมาณการที่ 52-60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล) เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่คาดว่าจะอยู่ที่เฉลี่ย 52.4 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากกำลังการผลิตน้ำมันดิบของประเทศผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันยังถูกตรึงไว้จนถึงสิ้นปี 2561 โดยประเทศผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันดิบกลุ่ม OPEC และ Non-OPEC รวม 25 ประเทศมีมติเห็นพ้องต่อแผนการขยายระยะเวลาอีก 9 เดือนในการปรับลดกำลังการผลิตลง 1.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน ไปจนถึงวันที่ 31 ธ.ค.61 (จากกำหนดการเดิมจนถึงวันที่ 31 มี.ค.61) ในขณะที่เศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวดีต่อเนื่องช่วยสนับสนุนความต้องการใช้พลังงานให้ปรับตัวเพิ่มขึ้น

ส่วนต้นทุนแรงงานไม่มีฝีมือที่ปรับตัวสูงขึ้น เป็นผลจากแนวโน้มการปรับขึ้นของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำประจำปี 2561 ที่จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.61 เป็นต้นไป รวมถึงการบังคับใช้ พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 ที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนผู้ประกอบการในการจ้างแรงงานต่างด้าวบางส่วน นอกจากนี้ ยังมีผลของปัจจัยฐานจากการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตในช่วงปลายปี 2560 ที่ยังสะท้อนเข้ามาในดัชนีราคาสินค้าผู้บริโภคในช่วงปี 2561

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ทิศทางเงินเฟ้อในปี 2561 เร่งตัวขึ้น ส่วนใหญ่จะมาจากการปรับเพิ่มขึ้นของฝั่งต้นทุนทั้งพลังงานและแรงงาน มากกว่าจะเป็นผลจากความต้องการใช้จ่ายของผู้บริโภค เนื่องด้วยกำลังซื้อของผู้บริโภคในภาพรวมที่ยังถูกกดดันด้วยหนี้ครัวเรือนที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ในขณะที่รายได้ของครัวเรือนยังไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

นอกจากนี้ ภาพรวมการจ้างงานล่าสุดในเดือนต.ค.2560 ยังไม่ได้ส่งสัญญาณการปรับตัวที่ดีขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวดี ก็อาจจะเป็นปัจจัยกดดันกำลังซื้อในภาพรวมไปอีกระยะหนึ่ง อย่างไรก็ดี หากภาพเศรษฐกิจไทยสามารถรักษาระดับการเติบโตได้ดีต่อเนื่องและมีการกระจายการเติบโตให้มีความครอบคลุมมากขึ้น ก็น่าจะส่งผลให้ภาพการจ้างงานปรับตัวดีขึ้นตาม ซึ่งจะเป็นสัญญาณบวกต่อภาพกำลังซื้อในประเทศ

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ปรับประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยตลอดทั้งปี 2560 ลงมาอยู่ที่ 0.7% (จากเดิมที่ 0.8%) เนื่องจากราคาอาหารสด อาทิ ไข่ไก่ เนื้อหมู เนื้อไก่ ปรับตัวลดลงมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้า แต่จากราคาพลังงานในประเทศที่ปรับตัวขึ้น รวมถึงผลจากการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิต ก็เป็นปัจจัยที่เป็นแรงหนุนของเงินเฟ้อในปี 2560

โดยราคาพลังงานในประเทศที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามทิศทางราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่สูงขึ้น ส่งผลต่อเนื่องให้ราคาสินค้าที่พึ่งพิงต้นทุนพลังงานเป็นสัดส่วนที่สูงปรับตัวเพิ่มขึ้นตามไปด้วย โดยสินค้าที่ราคาปรับตัวเพิ่มขึ้นในปีนี้ ได้แก่ น้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกในประเทศ, ก๊าซ NGV, ก๊าซหุงต้ม, ค่าเอฟที (ปรับขึ้น 2 รอบ), ค่าโดยสารสาธารณะ เช่น เรือด่วนเจ้าพระยา (ปรับขึ้นลงตามราคาน้ำมันดีเซล) และรถไฟฟ้า BTS-MRT

ขณะที่การปรับเปลี่ยนโครงสร้างการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตตาม พ.ร.บ. ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 (มีผลบังคับใช้ 16 ก.ย.60) ส่งผลให้สินค้าฟุ่มเฟือยบางประเภทมีภาระภาษีเพิ่มขึ้น ผู้ผลิตจึงทยอยปรับขึ้นราคาสินค้า อาทิ บุหรี่ เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์อย่างเครื่องดื่มบรรจุขวดพร้อมดื่ม เช่น ชาเขียว กาแฟสำเร็จรูป รวมถึงน้ำผลไม้

ด้านศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) คาดอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 60 และปี 61 อยู่ที่ 0.7%YOY และ 1.1%YOY ตามลำดับ โดยปัจจัยหลักที่จะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นในปีหน้ามาจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่มีแนวโน้มปรับสูงขึ้น โดยราคาน้ำมันดิบเบรนท์เฉลี่ยในปี 61 มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นไปอยู่ที่ 58 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลจาก 54 ในปีนี้ ประกอบกับการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตสำหรับบุหรี่และสุราที่จะยังคงมีผลต่ออัตราเงินเฟ้อต่อเนื่องไปจนถึงช่วงครึ่งแรกของปีหน้า

อย่างไรก็ตาม ราคาอาหารสดโดยเฉพาะราคาผักและผลไม้ยังมีแรงกดดันจากผลผลิตทางการเกษตรที่อาจมีปริมาณออกสู่ตลาดจำนวนมาก ตามแนวโน้มสภาพอากาศและปริมาณน้ำที่เอื้ออำนวยต่อการผลิตในปีหน้า

อย่างไรก็ตาม SCB EIC มองว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำที่ 0.5% และ 0.6% ในปี 60 และ 61 ตามลำดับ เนื่องจากกำลังซื้อของผู้บริโภคยังไม่ได้ฟื้นตัวชัดเจนนัก โดยเฉพาะในกลุ่มของผู้มีรายได้ปานกลาง-น้อย ทำให้ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคอื่นๆ จะถูกปรับราคาขึ้นได้อย่างช้าๆ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ