(เพิ่มเติม) สภาผู้ส่งออก คาดปี 61 ส่งออกขยายตัว 5% จากปีนี้คาด 8.5-9%

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 6, 2017 13:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.กัญญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก คาดการณ์ว่า การส่งออกของไทยในปี 2560 จะเติบโตได้ไม่ต่ำกว่า 8.5-9% ขณะที่ปี 61 คาดว่าการส่งออกจะโตได้ราว 5% โดยได้รับอานิสงส์จาก 2 ปัจจัยบวกที่สำคัญ คือ 1.การขยายตัวดีขึ้นของการค้าระหว่างประเทศโดยรวมทั่วโลก และสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลัก เช่น สหรัฐฯ จีน และสหภาพยุโรป โดยเฉพาะกลุ่มเอเชียใต้ ออสเตรเลีย ลาตินอเมริกา ที่พลิกกลับมาโตช่วงต้นไตรมาส 4 สะท้อนให้เห็นถึงการเติบโตของปริมาณสินค้าที่ขนส่งทั้งทางทะเลและทางอากาศระหว่างประเทศในช่วงที่ผ่านมา 2.การฟื้นตัวของราคาสินค้าโภคภัณฑ์สำคัญ เช่น น้ำมันสำเร็จรูป เม็ดพลาสติก เหล็ก ยางพาราและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น และความต้องการสินค้าเพื่อนำไปผลิตต่อ

อย่างไรก็ดี การส่งออกของไทยยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามด้วย เช่น 1.มาตรการปฏิรูปภาษีของสหรัฐ และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐ อาจเป็นปัจจัยส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทิศทางของเงินทุนเคลื่อนย้ายที่มีโอกาสจะไหลกลับไปสู่ตลาดสหรัฐ และส่งผลต่อทิศทางค่าเงินบาทในอนาคต 2.ผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ผันผวนและไม่มีเสถียรภาพ จากการเมืองในตะวันออกกลางและกลุ่มผู้ผลิตน้ำมัน อาจส่งผลต่อราคาและปริมาณการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยในปี 61 3.การขาดแคลนแรงงานเฉพาะทางที่มีคุณภาพในประเทศ เพื่อรองรับการทำงานร่วมกับเครื่องจักรและเทคโนโลยีที่ทันสมัยมากขึ้น 4.ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน ที่อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยไปยังตลาดอาเซียน

ทั้งนี้ สภาผู้ส่งออกมีข้อเสนอแนะที่สำคัญ ประกอบด้วย 1.ต้องกำกับดูแลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพ ไม่แข็งค่าสูงกว่าคู่ค้าและคู่แข่งสำคัญ ใช้เครื่องมือที่จำเป็นเพื่อสกัดไม่ให้เงินทุนไหลเข้าในประเทศมากเกินไป 2.ส่งเสริม SMEs ในทุกมิติ ภาครัฐควรมีการกำหนดมาตรฐานการส่งเสริมระหว่าง SMEs และผู้ประกอบการรายใหญ่ให้ชัดเจน 3.รัฐบาลควรส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมโดยให้มีการยกระดับสถาบันวิชาชีพอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง เพื่อรองรับและตอบโจทย์นโยบายไทยแลนด์ 4.0

4.ส่งเสริมภาคเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร โดยเน้นให้มีการทำ R&D เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าและพัฒนาคุณภาพให้สามารถแข่งขันได้ และต่อเนื่องไปถึงการหาตลาดในต่างประเทศเพื่อรองรับสินค้าดังกล่าว 5.รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับการอำนวยความสะดวกทางการค้า เพื่อลดอุปสรรคและต้นทุนสำหรับการค้าระหว่างประเทศ รวมถึงเร่งผลักดันให้การค้าในระบบ Cross Border e-Trading มีการขยายตัวได้มากขึ้น และ 6.รัฐบาลควรเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมมากขึ้นในการกำหนดหลักเกณฑ์และขั้นตอนปฏิบัติที่สอดคล้องกับการดำเนินงานของภาคธุรกิจ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ