ภาวะตลาดเงินบาท: ปิด 32.60/61 แกว่งแคบ นลท.จับตาผลประชุม FOMC คาดกรอบพรุ่งนี้ 32.55-32.75

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 12, 2017 17:31 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงเทพ เปิดเผยว่า เงินบาทปิดตลาดเย็นนี้อยู่ที่ระดับ 32.60/61 บาท/ดอลลาร์ ทรงตัว จากช่วงเช้าที่เปิดตลาดที่ระดับ 32.60 บาท/ดอลลาร์

วันนี้เงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบแคบมาก เนื่องจากตลาดอยู่ในช่วงรอฟังผลการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบาย การเงิน ของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) ระหว่างวันที่ 12-13 ธ.ค. ซึ่งในไทยน่าจะทราบผลการประชุมได้วันที่ 14 ธ.ค. และ หาก FOMC ลงมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ก็จะทำให้ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า ส่งผลให้เงินบาทปรับอ่อนค่า ลงได้

"ตอนนี้ยังคง wait & see เพราะรอผลประชุม FOMC น่าจะรู้ช่วงเช้าวันพฤหัส ซึ่งบาทก็มีโอกาสจะอ่อนค่าได้ หากผล ออกมาว่าขึ้นดอกเบี้ย เพราะจะทำให้ดอลลาร์ปรับตัวแข็งค่าขึ้น" นักบริหารเงินระบุ

นักบริหารเงิน คาดว่า พรุ่งนี้เงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบ 32.55 - 32.75 บาท/ดอลลาร์

  • ปัจจัยสำคัญ
  • เย็นนี้เงินเยนอยู่ที่ระดับ 113.45/46 เยน/ดอลลาร์ จากช่วงเช้าที่ระดับ 113.53 เยน/ดอลลาร์
  • ส่วนเงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.1782/1785 ดอลลาร์/ยูโร จากช่วงเช้าที่ระดับ 1.1737 ดอลลาร์/ยูโร
  • ดัชนี SET ปิดวันนี้ที่ระดับ 1,702.17 จุด ลดลง 4.35 จุด (-0.25%) มูลค่าการซื้อขาย 52,256 ล้านบาท
  • สรุปปริมาณการซื้อขายรายกลุ่ม ต่างชาติขายสุทธิ 709.62 ลบ.(SET+MAI)
  • กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่ามีแนวโน้ม
เคลื่อนไหวในกรอบ 32.50-32.75 ต่อดอลลาร์ โดยตลาดจะให้ความสนใจกับการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) รวมถึงข้อมูล
เงินเฟ้อของสหรัฐฯ หลังจากอัตราการเติบโตของค่าจ้างในเดือน พ.ย.60 สะท้อนว่าแรงส่งผ่านไปยังเงินเฟ้อยังคงอ่อนแอแม้อัตรา
การว่างงานจะอยู่ที่ระดับต่ำสุดในรอบ 17 ปี เราคาดว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% สู่ระดับ 1.25-1.50% ในการ
ประชุมวันที่ 13 ธ.ค.ซึ่งเป็นครั้งสุดท้ายของปีนี้

ขณะที่นักลงทุนจะจับตาการส่งสัญญาณการปรับขึ้นดอกเบี้ยในระยะถัดไป หากเฟดปรับลดประมาณการเดิมที่เคยบ่งชี้ถึง การขึ้นดอกเบี้ยอีก 3 ครั้งในปี 61 หรือแสดงท่าทีกังวลที่เงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานาน เงินดอลลาร์อาจจะเผชิญแรงเทขาย เนื่องจากความไม่แน่นอนเกี่ยวกับแนวโน้มนโยบายการเงินของสหรัฐฯ ในทางกลับกัน หากเฟดคงประมาณการทิศทางดอกเบี้ยไว้ตาม เดิม ดอลลาร์จะสามารถประคองตัวได้ในระยะสั้น

  • ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เสนอบทความเรื่อง เงินบาทกับเศรษฐกิจไทย ระบุว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
ไทยในปัจจุบันมาจากปัจจัยต่างประเทศเป็นสำคัญ ทั้งการส่งออกสินค้าและรายรับจากการท่องเที่ยว แม้เศรษฐกิจในประเทศเองจะมี
พัฒนาการที่ดีขึ้นเช่นกัน แต่โดยเปรียบเทียบแล้ว ถือว่าเป็นการฟื้นตัวที่ช้ากว่ากันมาก จนนักเศรษฐศาสตร์บางท่านเรียกเศรษฐกิจไทย
ในปัจจุบันว่า เป็นเศรษฐกิจที่แข็งนอกอ่อนใน ดังนั้น หากค่าเงินที่แข็งทำให้การส่งออกสินค้าสะดุดติดขัดขึ้นมา ย่อมมีผลต่อการขยายตัว
ของเศรษฐกิจไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

พร้อมคาดว่าในระยะต่อไป คาดว่าแรงกดดันต่อค่าเงินบาทจากดุลบัญชีเดินสะพัดจะลดลง ตามแนวโน้มการบริโภคภาค เอกชน และการลงทุนของทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่จะปรับดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งจะทำให้การนำเข้าสูงขึ้น และทำให้ ขนาดของดุลบัญชีเดินสะพัดลดลง อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการไม่ควรนิ่งนอนใจ เพราะปัจจัยหลักที่กำหนดทิศทางค่าเงินบาทมาจากค่า เงินดอลลาร์สหรัฐซึ่งมีความไม่แน่นอนสูง ขนาดของดุลบัญชีเดินสะพัดเป็นเพียงปัจจัยเสริม ผู้ประกอบการจึงควรทำประกันความเสี่ยง อัตราแลกเปลี่ยนอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าในด้านที่มิใช่ราคา ซึ่งเป็นวิธีรับมือกับความผันผวน ของอัตราแลกเปลี่ยนที่ดีที่สุดในระยะยาว

  • ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า เม็ดเงินใช้จ่ายของคนกรุงฯ ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2561 จะอยู่ที่ 29,600 ล้านบาท
ขยายตัวร้อยละ 4.0 เมื่อเทียบกับปีก่อน แม้ว่ามาตรการช็อปช่วยชาติในปีนี้จะออกมาเร็วกว่าปีก่อนๆ แต่ผู้ประกอบการก็มีการกระตุ้น
การขายต่อเนื่องไปตลอดทั้งช่วงเทศกาล อย่างไรก็ดี กำลังซื้อของผู้บริโภคในภาพรวมยังถูกกดดันด้วยหนี้ครัวเรือนและค่าครองชีพที่ยัง
คงอยู่ในระดับสูง รวมถึงความกังวลกับกำลังซื้อในอนาคต ทำให้การวางแผนใช้จ่ายของผู้บริโภคยังเป็นไปอย่างระมัดระวัง โดย
เฉพาะกับกลุ่มผู้มีฐานรายได้ต่อเดือนไม่สูงมาก
  • กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เปิดเผยในวันนี้ว่า จีนควรให้ความสำคัญกับเสถียรภาพด้านการเงินมากกว่า
การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจ และควรช่วยเหลือภาคเอกชนให้สามารถหลีกเลี่ยงการเลิกจ้างพนักงานซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้
ปัญหาหนี้สินของจีนทวีความรุนแรงขึ้นในขณะนี้
  • หอการค้าอังกฤษ (BCC) ได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศปีนี้ จากระดับ 1.6% ลงสู่
ระดับ 1.5% ทั้งนี้แม้แนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจอังกฤษอยู่ที่ระดับ 2-2.5% แต่ความสามารถในการผลิตที่อยู่ในระดับต่ำและ
ความไม่แน่นอนของผลพวงที่จะเกิดขึ้นจากการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) ทำให้การเติบโตหยุดชะงักลง โดย BCC ยัง
ได้ปรับลดคาดการณ์การเศรษฐกิจในปี 2561 จากระดับ 1.2% ลงสู่ระดับ 1.1% และปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจปี 2562 จากระดับ
1.4% ลงสู่ระดับ 1.3%
  • กระทรวงการคลังสหรัฐเปิดเผยว่า ร่างกฎหมายปฏิรูปภาษีจะช่วยสร้างรายได้มากถึง 1.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐใน
ช่วงหนึ่งทศวรรษ หากเศรษฐกิจขยายตัวเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้
  • นักลงทุนจับตาการประชุมระยะเวลา 2 วันของเฟดซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 12-13 ธ.ค.นี้ ขณะที่มีกระแสคาดการณ์เป็นวง
กว้างว่า คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งนี้
  • ธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะเปิดฉากการประชุมขึ้นในวันที่ 14 ธ.ค.นี้ และคาดว่า การประชุมดังกล่าวอาจจะมี

การเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการที่ทาง ECB จะปรับลดปริมาณการซื้อสินทรัพย์รายเดือนลง ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะเริ่มมีผล

บังคับใช้ในช่วงเดือนม.ค. 2561


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ