(เพิ่มเติม) สมาคมกุ้ง คาดแนวโน้มปี 61 ยอดส่งออกโต 10% มาที่ 3.3 แสนตัน จาก 2 แสนตันปีนี้

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday December 14, 2017 16:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สมาคมกุ้งไทย คาดแนวโน้มปริมาณการส่งออกกุ้งในปี 61 จะอยู่ที่ประมาณ 3.3 แสนตัน เพิ่มขึ้น 10% จากในปีนี้ที่คาดว่าจะส่งออกได้ประมาณ 2 แสนตัน พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งเจรจาข้อตกลงเสรีการค้า (FTA) กับสหภาพยุโรป ขณะเดียวกัน เห็นว่าอัตราแลกเปลี่ยนที่เหมาะสมควรอยู่ที่ระดับ 33-35 บาท/ดอลลาร์

"ฝากรัฐบาลว่าถ้าอียูเปิดโอกาสให้เจรจา FTA เมื่อไหร่ โดยเฉพาะสินค้ากุ้งให้ผ่าน เพื่อที่จะได้ส่งออกกุ้งไปโดยไม่ต้องเสียภาษีแล้วจะช่วยเพิ่มช่องทางในการส่งออกผลผลิตกุ้งของไทยไปยังต่างประเทศให้มากขึ้น โดยคาดว่าเราน่าจะขายกุ้งได้อีก 7 หมื่นตัน"นายสมศักดิ์ ปณีตัธยาศัย นายกสมาคมกุ้งไทย กล่าว

นอกจากนี้ขอให้เดินหน้าแก้ปัญหา Tier 2 ของสหรัฐต่อไปจนกว่าการประกาศผลในครั้งหน้า ซึ่งไทยเรามีโอกาสที่จะหลุดพ้นจาก Tier2 (Watch List)

"ปัญหา Tier 2 (Watch List) ซึ่งส่งต่อภาพพจน์สินค้า ทำให้คู่แข่งสามารถนำไปอ้างเพื่อแย่งตลาดไปจากไทยได้ เพราะฉะนั้น ขอให้รัฐบาลเร่งแก้ไขสถานการณ์นี้ให้ดีขึ้น ซึ่งเราก็มีความหวังว่าการประกาศ Tier ครั้งต่อไปจะเกิดขึ้นในเดือนมีนาคม 61 เราน่าจะพ้นมลทิน"นายกสมาคมกุ้งไทย กล่าว

สำหรับอัตราแลกเปลี่ยน มีผลต่อความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออกกุ้งของไทย เพราะเวลานี้ค่าเงินรูปีของอินเดียและค่าเงินด็องของเวียดนามต่างอ่อนค่าลงเรื่อยๆ ขณะที่เงินบาทไทยแข็งค่าขึ้นเรื่อยๆ

"2 ปีที่แล้วเราส่งออกกุ้ง อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 34 บาท/ดอลลาร์ แต่ตอนนี้เราส่งออกกุ้งที่อัตราแลกเปลี่ยน 32 บาท/ดอลลาร์ และมีแนวโน้มจะแข็งค่าขึ้นเรื่อยๆ แต่ทั้งอินเดียและเวียดนามค่าเงินกลับอ่อนค่าลงเรื่อยๆ มันจะเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้การแข่งขันของเราลำบาก ซึ่งค่าเงินบาทที่เหมาะสมควรจะอยู่ระหว่าง 33-35 บาท/ดอลลาร์ ถ้าจะแข็งก็ไม่ควรต่ำกว่า 33 และแต่ถ้าอ่อนก็ไม่ควรเกิน 35 บาท/ดอลลาร์"นายสมศักดิ์ กล่าว

เมื่อหันมามองศักยภาพและสถานการณ์ของประเทศคู่แข่ง นายสุรพล ประเทืองธรรม นายกกิตติมศักดิ์ และที่ปรึกษาสมาคมกุ้งไทย กล่าวว่า ในอดีตที่ไทยเคยเป็นเบอร์ 1 ของการส่งออกกุ้ง แต่ปัจจุบันตกมาอยู่อันดับ 4 ระดับเดียวกับอินโดนีเซีย ขณะที่อินเดียกลายเป็นประเทศผู้นำในตลาดโลกแล้ว โดยมีผลผลิตราว 6 แสนตันต่อปี ส่งออกปีละ 1 แสนล้านบาท ซึ่งรัฐบาลอินเดียมีนโยบายเปลี่ยนพื้นที่นาข้าวมาเป็นพื้นที่เลี้ยงกุ้ง มีการตัดถนนเข้าฟาร์มกุ้ง ติดตั้งไฟฟ้าโยงเข้าฟาร์ม ให้การสนับสนุนสินเชื่อให้เกษตรกรปรับปรุงฟาร์ม

ส่วนเวียดนามที่ขยับขึ้นมาเป็นเบอร์ 2 ของโลก หลังจากเรียนรู้รูปแบบการผลิตไปจากไทยและมีการพัฒนาการเลี้ยงอย่างมีคุณภาพ โรคระบาดน้อย ราคากุ้งดี ทำให้มีการขยายการเลี้ยงจนกระทั่งปี 60 ผลผลิตกุ้งของเวียดนามอยู่ที่ 320,000 ตัน และปัจจุบันกลายเป็น Hub ด้านการค้ากุ้งได้อย่างรวดเร็ว

อีกทั้งรัฐบาลเวียดนามประกาศนโยบายปี 68 จะส่งออกสินค้าประมงเพิ่มเป็น 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ จากปัจจุบันประมาณ 6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยรัฐบาลประกาศขยายพื้นที่เพาะเลี้ยงกุ้ง ด้วยการปรับเปลี่ยนพื้นที่นาข้าวบริเวณปากแม่น้ำโขง เขตเวียดนามเขม่า ซึ่งมีปัญหาน้ำเค็มจากทะเลรุกพื้นที่เพาะปลูกจากภาวะโลกร้อน หรือ Climate Change โดยเฉพาะปัญหาความแห้งแล้งที่เกิดจากปรากฏการณ์เอลนิโญ ทำให้เกิดความเสียหายต่อพืชที่ต้องอาศัยน้ำจืด เช่น ข้าว ปรับมาทำนากุ้งชายฝั่ง หรือ ปลูกข้าวสลับกับนากุ้ง เช่นกรณีมีน้ำจืดหกเดือนน้ำเค็มหกเดือน ก็จะทำให้เวียดนามมีความมั่นคงทางด้านอาหาร และมีโอกาสทางเศรษฐกิจอยู่ด้วย

อันดับ 3 คือ เอกวาดอร์ รัฐบาลเอกวาดอร์ให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมกุ้งจนกลายเป็นสินค้าส่งออกหลักของประเทศ คาดว่าปี 61 ผลผลิตกุ้งของเอกวาดอร์จะอยู่ที่ 350,000-380,000 ตันหรือน้อยกว่า เนื่องจากตั้งแต่เดือน ก.ย.60 จนถึงปัจจุบัน โรงเพาะฟักในเอกวาดอร์กำลังเผชิญกับโรคระบาด EMS ส่งผลให้ภาวะลูกกุ้งขาดแคลน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ