กสท.ตั้งเป้าปี 61 รุกธุรกิจดิจิทัล เดินหน้าลงทุนเคเบิลใต้น้ำ พร้อมจับมือ SDC ขยายบริการโครงข่ายวิทยุฯ

ข่าวเศรษฐกิจ Monday December 18, 2017 10:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พ.อ.สรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. กสท โทรคมนาคม (CAT) กล่าวว่า แนวทางการดำเนินธุรกิจปี 2561 ของ กสท จะเน้นธุรกิจด้านบริการดิจิทัล (Digital service) มากขึ้น เพื่อยกระดับการแข่งขันขององค์กรให้ทันกับเทคโนโลยีปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดย กสท. จะสานต่อโครงการสำคัญของปี 2560 ได้แก่ โครงการขยายเคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศวงเงิน 2 พันล้านบาท เพื่อให้ประเทศไทยมีโครงข่ายโทรคมนาคมพื้นฐานที่เพียงพอรองรับการเชื่อมโยง Big data

รวมถึงส่งเสริมจุดแข็งให้ประเทศไทยขึ้นเป็นดิจิทัลฮับอาเซียน โดย กสท. จะเพิ่มความจุโครงข่ายเพื่อขยายความสามารถรองรับความต้องการสื่อสารภายในประเทศ โดยการเพิ่มความจุจะเชื่อมโยงพื้นที่รอยต่อชายแดนมายังสถานีเคเบิลใต้น้ำของกสท , การขยายความจุของระบบโครงข่ายเคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศที่ใช้งานอยู่ในปัจจุบัน กำหนดแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2561 และการก่อสร้างโครงข่ายเคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศระบบใหม่เชื่อมต่อประเทศไทยกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยล่าสุด กสท. ได้ร่วมหารือแนวทางร่วมกันกับผู้ให้บริการจากประเทศมาเลเซีย เวียดนาม กัมพูชา และจีน

สำหรับการพัฒนาโครงข่ายไร้สาย LoRaWAN (Long-Range Wide Area Network) โครงข่ายใหม่ที่รองรับการพัฒนาบริการ IoT และ Smart city โดยเฉพาะและเป็นการปูทางสู่การให้บริการอัจฉริยะของ กสท.ในระยะยาว จากการทดสอบใช้งานระบบตั้งแต่ต้นปีขณะนี้โครงข่าย LoRaWAN ได้ติดตั้งใช้งานโดยสมบูรณ์แล้วในโครงการภูเก็ตสมาร์ทซิตี้ โดย กสท. มีแผนขยายโครงข่าย LoRaWAN ให้ครอบคลุมพื้นที่ที่มีความต้องการใช้บริการ IoT มากยิ่งขึ้น และเตรียมเปิดให้บริการในเชิงพาณิชย์ในช่วงต้นปี 2561 โดยนักพัฒนาจากทุกภาคส่วนสามารถร่วมพัฒนานวัตกรรม IoT บนโครงข่าย LoRaWAN ที่มีเสถียรภาพสูงในอัตราค่าบริการต่ำ ทั้งนี้ กสท. สามารถดำเนินการติดตั้งโครงข่าย LoRaWAN ได้อย่างรวดเร็วบนโครงสร้างพื้นฐานเดิมของโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ กสท. ให้บริการอยู่ ทำให้ต้นทุนต่ำและส่งผลให้ค่าบริการเชื่อมต่อข้อมูลของอุปกรณ์ IoT บนโครงข่าย LoRaWAN มีอัตราถูกมากเมื่อเทียบกับกับค่าใช้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่

กสท. คาดว่า อุปกรณ์ IoT มีการเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างมากในอนาคตอันใกล้ จะเป็นรายได้ที่ไม่น้อยและเป็นรายได้ระยะยาว กสท.จึงมีแผนจะเป็นทั้งผู้ให้บริการโครงข่ายและเตรียมผันตัวเป็นผู้ให้บริการอัจฉริยะต่างๆ ร่วมกับพาร์ทเนอร์ นอกจากนี้ กสท. ยังได้ร่วมกับ บมจ.สามารถ ดิจิตอล (SDC) ขยายบริการโครงข่ายวิทยุคมนาคมระบบดิจิทัล DTRS (Digital Trunked Radio System) บนคลื่นความถี่ย่าน 800 เมกกะเฮิรตซ์ จำนวน 1,000 สถานีฐานทั่วประเทศ เพื่อรองรับการใช้งานของผู้ใช้บริการในพื้นที่ที่มีความต้องการใช้งานได้อย่างเพียงพอ

การขยายโครงข่ายพื้นฐาน จะเกิดเสถียรภาพการเชื่อมโยงข้อมูลที่แข็งแกร่ง เพื่อสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่พิเศษที่เป็นเป้าหมายสำคัญ คือ Digital Park Thailand บนเนื้อที่กว่า 700 ไร่ ใน อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ให้เป็นเมืองนวัตกรรมดิจิทัลครบวงจรในพื้นที่ EEC เป็นพื้นที่พิเศษมีสภาพแวดล้อมด้านดิจิทัล รองรับเหล่านักลงทุนและสตาร์ทอัพในการคิดค้นต่อยอดนวัตกรรมและบริการต่างๆ สำหรับเมืองอัจฉริยะ ซึ่งจะเพิ่มมูลค่าพื้นที่ดังกล่าวและช่วยส่งเสริมผลักดันประเทศไทยก้าวสู่ 4.0

ทั้งนี้ กสท. มีแนวทางที่จะจัดตั้งบริษัทลูกเพื่อทำหน้าที่บริหารจัดการโครงการฯ โดยหาเอกชนมาร่วมลงทุนพัฒนาพาร์ค ขณะนี้ Digital Park Thailand ได้บรรจุเป็นหนึ่งในโครงการร่วมทุน PPP ของ EEC คาดว่าจะเข้าสู่ขั้นตอนการคัดเลือกผู้ร่วมลงทุนได้อย่างช้าไตรมาส 3 ปีหน้า

สำหรับการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ภูเก็ตสมาร์ทซิตี้ ขณะนี้โครงข่ายมีความสมบูรณ์ใช้งานได้ 100% โดย กสท.ได้ติดตั้งฟรีไวไฟครบทั้ง 1,000 จุด ครอบคลุมทั่วจังหวัดภูเก็ต พร้อมกับได้วางระบบแพลทฟอร์ม LORA เทคโนโลยีโครงข่ายไร้สายใช้พลังงานต่ำ เพื่อการสื่อสัญญาณระหว่างอุปกรณ์เซ็นเซอร์ที่มีประสิทธิภาพสูงและประหยัดพลังงาน ซึ่งขณะนี้ได้เปิดใช้งานเชื่อมต่อระบบ Smart Logistics ให้บริการ GPS Tracking ติดตามตัวบุคคล ยานพาหนะต่างๆ รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ นอกจากนี้ยังมีระบบอื่นๆที่ทยอยเปิดใช้งานอย่างระบบ Smart Utility รองรับการทำงานของมิเตอร์อัจฉริยะสำหรับสาธารณูปโภค เช่น ไฟฟ้า น้ำประปา ตลอดจนการตรวจวัดคุณภาพสิ่งแวดล้อม เช่น มิเตอร์วัดระดับน้ำ ระดับความชื้นใต้ดิน สามารถใช้ประโยชน์ด้านการเตือนภัยในพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ ฯลฯ

โครงข่ายของ กสท.สามารถรองรับการพัฒนาแอปพลิเคชันต่างๆ ที่เป็นประโยชน์แก่นักท่องเที่ยวและชาวเมืองภูเก็ต กสท.จะนำต้นแบบความสำเร็จของเมืองอัจฉริยะที่ภูเก็ต ขยายผลต่อไปยังเชียงใหม่ ขอนแก่น และพื้นที่อื่นๆ ต่อไป

สำหรับผลประกอบการในช่วง 10 เดือนของปี 2560 กสท. มีรายได้ 41,194 ล้านบาท รายจ่าย 41,218 ล้านบาท ขาดทุนจากการดำเนินงาน 24 ล้านบาท รายได้ที่ต่ำกว่าแผนธุรกิจเนื่องจากบริการหลักคือธุรกิจไร้สาย กลุ่มบริการโทรศัพฺท์ และบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตมีการเติบโตต่ำกว่าเป้าหมาย โดยรายได้กลุ่มบริการโทรศัพฺท์ลดลง 5 ปีย้อนหลัง จากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและพฤติกรรมที่คนใช้การสื่อสารด้วยดาต้าเป็นหลัก ส่งผลให้เทรนด์เติบโตของบริการกลุ่มโทรศัพท์ระหว่างประเทศลดลงต่อเนื่องเฉลี่ย 12% โดยสิ้นปีนี้จะทำรายได้ประมาณ 2,000 ล้านบาท

ขณะที่กลุ่มบริการลื่อสารไร้สายยังคงเป็นรายได้ส่วนใหญ่ โดยมีกำไรจากการขายส่งตามสัญญาให้บริการ HSPA ขณะที่ my เติบโตขึ้นเล็กน้อย และรายได้สัมปทานดีแทคลดลง ส่วนบริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์เติบโตขึ้นจากปีก่อนเล็กน้อย (ประมาณ 100 ล้านบาท) ขณะที่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากการจ่ายค่าตอบแทนในโครงการเกษียณก่อนกำหนด (Early Retirement) เพิ่มขึ้นจากปีก่อนกว่า 500 ล้านบาท บวกกับมีค่าใช้จ่ายรายการพิเศษจากคดีกับกรมสรรพากรที่สิ้นสุดในปีนี้จำนวน 2,378 ล้านบาท ซึ่งรวมรับรู้เป็นรายจ่ายส่งผลให้ขาดทุนรวมประมาณ 2,402 ล้านบาท

อย่างไรก็ดี กสท. มั่นใจว่าจะสามารถกลับมามีกำไรในปีหน้า โดยปัจจัยสนับสนุน เช่น การลดต้นทุนจากโครงการ Early Retirement ในปีนี้มีผู้เข้าร่วมเต็มตามเป้าหมายซึ่งจะส่งผลช่วยทำให้ต้นทุนบุคลากรลดลงในระยะยาว โดยระยะ 2-3 เดือนที่ผ่านมาต้นทุนลดลงเฉลี่ยเดือนละ 10 ล้านบาท

นอกจากนี้ การฟื้นรายได้ปีหน้าของ กสท. คาดว่าจะเกิดจากโครงการส่วนหนึ่งที่นำเสนอกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) และคาดว่าจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติได้ในปี 2561 ได้แก่ โครงการดาวเทียมภาครัฐ และการยุติปัญหาคู่สัมปทานดีแทค และทรู ซึ่งอยู่ในขั้นตอนที่กระทรวงดีอีจะนำเสนอคณะรัฐมนตรี และคาดว่าจะผ่านได้ในช่วงไตรมาสแรกปีหน้า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ