สนช.-สสว. เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นร่างกฎหมายส่งเสริม SME ปรับโครงสร้าง-เพิ่มอำนาจบอร์ด-เพิ่มหลักเกณฑ์รายได้

ข่าวเศรษฐกิจ Monday December 18, 2017 16:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า สสว.ร่วมกับ คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จัดงานสัมมนารับฟังความคิดเห็นร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว เพื่อนำมาปรับปรุงแก้ไขให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันและสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ดียิ่งขึ้น โดยเชิญหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ประกอบการ SME เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นร่างกฎหมายดังกล่าว

โดยมีสาระสำคัญของการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวใน 4 ประเด็นหลัก คือ 1.เพิ่มหลักเกณฑ์เรื่อง “รายได้" กำหนดนิยามลักษณะของ SME สอดคล้องกับการเจริญเติบโตและลักษณะของการประกอบธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป

2.ปรับปรุงองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (บอร์ดส่งเสริม) และคณะกรรมการบริหารสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (บอร์ดบริหาร) ให้ครอบคลุมทุกภาคส่วนที่มีภารกิจส่งเสริมและสนับสนุนกิจการของ SME ไทย รวมถึงเป็นหน่วยงานเกี่ยวข้องกับกิจการ สสว.โดยตรง

ทั้งนี้ บอร์ดส่งเสริมฯ มีการแก้ไขโครงสร้างเพิ่มเติมให้เหมาะสมยิ่งขึ้น โดยให้ตำแหน่ง “รองประธาน" มาจากตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีโดยนายกรัฐมนตรีมอบหมายแทนตำแหน่ง รมว.อุตสาหกรรม รวมถึงเพิ่มตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และประธานสมาคมธนาคารไทยเป็นกรรมการภาคเอกชน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 10 คน ซึ่งแต่งตั้งโดยคณะรัฐมนตรีจากกลุ่มคนที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ด้าน SME

สำหรับบอร์ดบริหารฯ กำหนดให้ตำแหน่งประธานมาจากผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์เกี่ยวกับ SME จากเดิมเป็นตำแหน่งปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และเพิ่มกรรมการโดยตำแหน่ง ได้แก่ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน อธิบดีกรมพัฒนาการค้า อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร

3.เพิ่มอำนาจหน้าที่ของบอร์ดส่งเสริมเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อกำหนดให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับ SME จัดทำงบประมาณด้าน SME โดยบูรณาการความร่วมมือกัน เพื่อให้เป็นไปตามแนวทางเดียวกัน และบอร์ดส่งเสริมแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาติดตามและประเมินผลการใช้จ่ายงบประมาณของหน่วยงานร่วมด้วย เพื่อให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

และ 4.เพิ่มวัตถุประสงค์หรือหน้าที่ของ สสว.ในการประสานงานกับส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชน หรือสถาบันการศึกษาทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค เพื่อให้มีการจัดตั้งศูนย์บ่มเพาะ SME ช่วยในการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีด้านต่างๆ ให้ SME มีความเข้มแข็งยิ่งขึ้น

ปัจจุบันผู้ประกอบการ SME ไทยมีจำนวน 3 ล้านราย คิดเป็น 99.7% ของจำนวนผู้ประกอบการทั้งประเทศ และกลุ่ม SME มีการจ้างงานเกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจเกือบ 12 ล้านราย คิดเป็น 78.5% ของการจ้างงานทั้งประเทศ ประกอบกับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของเอสเอ็มอี (GDP SME) ขยับเป็น 42.6% ของ GDP ประเทศ คิดเป็นมูลค่า 1.62 ล้านล้านบาท แสดงให้เห็นถึงบทบาทสำคัญของ SME ต่อภาวะเศรษฐกิจไทย

ดังนั้นการปรับปรุงกฎหมายมุ่งเน้นให้ความช่วยเหลือ SME ถือเป็นกลุ่มเศรษฐกิจฐานราก โดยผ่านกลไกของภาครัฐ ซึ่งบอร์ดทั้งสองคณะจะมีโครงสร้างใหม่ที่มีหน่วยงานต่างๆ เกี่ยวข้อง SME เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น อาทิ การเพิ่มตำแหน่งผู้ว่าการ ธปท. มองว่าเป็นองค์กรบทบาทสำคัญพิจารณาข้อมูลภาพรวมของประเทศ โดยเฉพาะเรื่องการเงินการคลังของประเทศ จึงช่วยส่งเสริมและสนับสนุนให้ SME เข้าถึงแหล่งเงินทุนที่เหมาะสมมากขึ้น นอกจากนี้เพิ่มอำนาจให้บอร์ด สสว. เสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐจัดทำงบประมาณด้าน SME บูรณาการร่วมกันให้ไปในทิศทางเดียว เพื่อช่วยกันขับเคลื่อน SME ไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน เช่นเดียวกับการเพิ่มหน้าที่ สสว. ให้ประสานงานกับภาคส่วนต่างๆ เพื่อจัดตั้งศูนย์บ่มเพาะถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยี เพื่อเสริมความแข็งแกร่ง SME ไทยควบคู่ไปด้วย


แท็ก สสว.   กมธ.   SME  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ