ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดราคายางอาจกระเตื้องขึ้นใน Q1/61 แต่ในช่วงที่เหลือยังเผชิญปัจจัยความท้าทาย

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday December 21, 2017 16:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ในปี 2560 ราคายางพาราแผ่นดิบชั้น 3 อาจเฉลี่ยอยู่ที่ 57.6 บาทต่อกิโลกรัม หรือเพิ่มขึ้น 19.0% (YoY) จากผลที่ช่วงครึ่งแรกของปีราคายางพาราปรับตัวสูงขึ้นตามราคาน้ำมันดิบดูไบที่ขยายตัวกว่า 39.4% (YoY) แต่ในช่วงครึ่งหลังของปี 2560 ทิศทางราคายางพาราเริ่มปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ด้วยปัจจัยกดดันทั้งอุปทานยางโลกและปริมาณสต๊อกยางของจีนที่อยู่ในระดับสูง จนกระทั่งในสัปดาห์แรกของเดือนธันวาคม 2560 ราคายางพาราแผ่นดิบชั้น 3 ได้ปรับลดลงมาต่ำสุดในรอบปีที่ 41.35 บาทต่อกิโลกรัม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ราคายางพาราต่อจากนี้ต่อเนื่องไปในปี 2561 น่าจะปรับตัวดีขึ้นได้ในไตรมาสแรกของปี 2561

โดยมีปัจจัยผลักดันราคา ได้แก่ การนำเข้ายางพาราจากจีน จะเห็นว่า จีนมีการนำเข้ายางพาราจากไทยเป็นอันดับหนึ่ง (ราวร้อยละ 65 ของการนำเข้ายางทั้งหมดของจีน) และส่วนใหญ่จีนมักนำเข้ายางพาราจากไทยมากที่สุดในช่วงไตรมาสแรกของทุกปี ตามความต้องการในตลาดรถยนต์ของจีน เพื่อนำยางไปผลิตเป็นยางล้อ ทั้งนี้ หากพิจารณาข้อมูลในช่วงไตรมาสแรกปี 2556-ไตรมาสที่สามของปี 2560 จะพบว่า จีนนำเข้ายางพาราจากไทยเฉลี่ยในไตรมาสแรกของปี 2556-2560 อยู่ที่ราว 450,000 ตัน ซึ่งหากมองต่อไปในไตรมาสแรกปี 2561 จีนอาจยังมีความต้องการยางพาราจากไทยไม่ต่ำกว่า 450,000 ตัน เพื่อรองรับในอุตสาหกรรมรถยนต์ที่มีแนวโน้มเติบโตโดยเฉพาะในไตรมาสแรกของปี โดยคาดว่า ทั้งปี 2561 ยอดการผลิตรถยนต์ของจีนอาจเฉลี่ยอยู่ที่ 31.52 ล้านคัน หรือเพิ่มขึ้น 5.0% (YoY)

อย่างไรก็ดี เมื่อเทียบกับปริมาณสต็อกยางพาราของจีนที่เมืองชิงเต่า ซึ่งเป็นเมืองที่มีการนำเข้ายางมากที่สุดเพื่อนำไปผลิตยางล้อ อันสะท้อนถึงการใช้ยางในสต๊อกของจีนที่แท้จริง จะพบว่าในไตรมาสแรกปริมาณสต็อกยางพาราเฉลี่ยอยู่ที่ราว 200,000 ตัน ซึ่งล่าสุด ณ ต้นเดือนธันวาคม 2560 เกิดเหตุไฟไหม้โกดังเก็บสต็อกยางที่เมืองชิงเต่าทำให้ยางพาราเสียหายกว่า 30,000 ตัน สะท้อนถึงปริมาณสต็อกยางที่ลดลง ซึ่งจีนจะต้องมีความต้องการใช้ยางเพิ่ม ดังนั้น ราคายางพาราในช่วงไตรมาสแรกของปี 2561 จึงน่าจะปรับตัวขึ้นได้จากความต้องการใช้ยางของจีนที่มีมากกว่าปริมาณสต็อกยางของจีน

การนำเข้ายางพาราจากมาเลเซีย โดยมาเลเซียนำเข้ายางพาราจากไทยเป็นอันดับหนึ่ง (ราว 55% ของการนำเข้ายางทั้งหมดของมาเลเซีย) และส่วนใหญ่มาเลเซียมักนำเข้ายางพาราจากไทยมากที่สุดในช่วงไตรมาสแรกของทุกปี ตามความต้องการในตลาดถุงมือยางเพื่อการแพทย์ของมาเลเซีย ทั้งนี้ หากพิจารณาข้อมูลในช่วงไตรมาสแรกปี 2556-ไตรมาสที่สามของปี 2560 จะพบว่า มาเลเซียนำเข้ายางพาราจากไทยเฉลี่ยในไตรมาสแรกของปี 2556-2560 อยู่ที่ราว 130,000 ตัน ซึ่งหากมองต่อไปในไตรมาสแรกปี 2561 มาเลเซียอาจยังมีความต้องการยางพาราจากไทยไม่ต่ำกว่า 130,000 ตัน เพื่อรองรับในอุตสาหกรรมถุงมือยางทางการแพทย์ที่มีแนวโน้มเติบโตโดยเฉพาะในไตรมาสแรกของปี โดยคาดว่า ทั้งปี 2561 มูลค่าถุงมือยางทางการแพทย์ของมาเลเซียอาจเฉลี่ยอยู่ที่ 17.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้น 7.9% (YoY)

          มาตรการกระตุ้นการใช้ยางในประเทศของภาครัฐในปี 2561 ตามแนวทางการแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง ซึ่งคาดว่าจะเห็นผลเป็นรูปธรรมในอีก 3 เดือน (มกราคม-มีนาคม 2561) เพื่อนำยางมาใช้ในโครงการต่างๆ เช่น แผ่นยางรองรางรถไฟ โครงการโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ อีกทั้งยังเร่งรัดให้หน่วยงานราชการนำยางไปใช้อีกราว 50,000-80,000 ตัน รวมถึงยังขอความร่วมมือทั้งภาคเอกชนและรัฐบาลเร่งซื้อยางมากขึ้น นอกจากนี้ ผลต่อเนื่องของการควบคุมอุปทานยางในประเทศ ก็อาจช่วยผลักดันราคาในไตรมาสแรกปี 2561 ให้กระเตื้องขึ้นได้

อย่างไรก็ดี แม้ราคายางพาราจะได้รับแรงหนุนจากปัจจัยเชิงบวกในช่วงไตรมาสแรกของปี 2561 ให้ราคากระเตื้องขึ้นได้จากราคาในปัจจุบัน ประกอบกับแนวโน้มราคาน้ำมันดิบดูไบปี 2561 ที่อาจขยับขึ้นไปเฉลี่ยอยู่ที่ 55 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล (ปี 2560 คาดว่า ราคาน้ำมันดิบดูไบอาจเฉลี่ยอยู่ที่ 52.4 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล) แต่ในช่วงเวลาตั้งแต่ไตรมาสที่ 2-4 ของปี 2561 ยังคงต้องติดตามแนวโน้มราคายางพาราซึ่งยังมีปัจจัยกดดันสำคัญตามฤดูกาลอย่างอุปทานยางของไทยที่จะออกสู่ตลาดจำนวนมากโดยเฉพาะในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี (ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย มีผลผลิตยางพารารวมกันกว่าร้อยละ 80 ของปริมาณผลผลิตยางพาราโลก) ประกอบกับแนวโน้มภาพรวมเศรษฐกิจจีนปี 2561 ที่อาจขยายตัวชะลอลงเล็กน้อยจากปีก่อน ทำให้การประคับประคองราคายางพาราในช่วงเวลาดังกล่าวให้สามารถยืนระดับต่อเนื่องจากไตรมาสแรก อาจยังเป็นประเด็นที่ต้องติดตาม

ดังนั้น จึงนับเป็นโจทย์ท้าทายของภาครัฐในการประคับประคองสถานการณ์ราคายางพาราผ่านมาตรการต่างๆ ที่จะเข้ามาช่วยเหลือชาวสวนยางโดยเฉพาะในช่วงไตรมาสที่ 2-4 ของปี 2561 และเพื่อเป็นการเตรียมรับมือกับแนวโน้มราคายางในปี 2561 จากการที่ต้องเผชิญปัจจัยท้าทาย เกษตรกรชาวสวนยางจึงควรปรับตัวด้วยการปลูกพืชอื่นที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า หรือปลูกพืชแซมในสวนยาง และควรหารายได้เสริมอื่นควบคู่ไปด้วย อีกทั้งการควบคุมอุปทานยางพาราในประเทศเพื่อให้สมดุลกับความต้องการใช้ ตลอดจนการสร้างนวัตกรรมให้กับยางพาราเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ยางพารา เช่น แผ่นยางปูพื้น ถุงมือผ้าเคลือบยาง ชุดวัสดุป้องกันการเซาะตลิ่งจากธรรมชาติ ที่นอนและหมอนยางพารา เครื่องขึ้นรูปแผ่นเสริมรองเท้าเพื่อสุขภาพ เป็นต้น นอกจากนี้ แนวโน้มการลงทุนโรงงานผลิตยางรถยนต์ในประเทศที่เพิ่มขึ้น ก็นับเป็นปัจจัยผลักดันสำคัญที่จะช่วยหนุนให้ราคายางมีเสถียรภาพได้ในระยะยาว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ