ไทย-อินโดฯ-มาเลย์ ร่วมกำหนดโควตาส่งออกยางรวมไม่เกิน 3.5 แสนตัน เป็นระยะเวลา 3 เดือน

ข่าวเศรษฐกิจ Friday December 22, 2017 16:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายลักษณ์ วจนานวัช รมช.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมสภาไตรภาคียางพารา (ITRC) นัดพิเศษวันนี้ ระหว่าง 3 ประเทศสมาชิก ไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย เห็นชอบให้เดินหน้ามาตรการ AETS ร่วมกำหนดโควตาการส่งออกยางพาราร่วมกันทั้ง 3 ประเทศ รวมไม่เกิน 350,000 ตัน ตั้งแต่บัดนี้จนถึง 31 มีนาคม 2561 พร้อมสร้างเสถียรภาพด้านราคาให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

ความร่วมมือระหว่าง 3 ประเทศสมาชิกผู้ผลิตยางรายใหญ่ของโลก ทั้งไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ในครั้งนี้ เป็นอีกมาตรการในการแก้ปัญหาสถานการณ์ราคายางที่ผิดปกติและมีความผันผวน โดยเฉพาะประเทศไทย ซึ่งเป็นผู้ผลิตยางรายใหญ่ของโลก จะนำข้อตกลงดังกล่าวมาดำเนินการอย่างเคร่งครัด ภายใต้การปฏิบัติตามมาตรการควบคุมปริมาณการส่งออกยางพาราของประเทศไทย ซึ่งมีทั้งพระราชบัญญัติควบคุมยาง พ.ศ.2542 โดยกรมวิชาการเกษตรซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ดูแลและควบคุมปริมาณการส่งออกยางของประเทศไทยออกนอกราชอาณาจักร และระเบียบตามประกาศของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดปริมาณจัดสรรเนื้อยางแห้งสำหรับการส่งออก (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2556 มาใช้ในช่วงระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่บัดนี้ จนถึง 31 มีนาคม 2561 ทั้งนี้ มอบให้การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ประสานงานกับผู้ประกอบกิจการยาง เพื่อให้ทราบถึงแนวทางปฏิบัติร่วมกันตามมาตรการ AETS พร้อมทั้ง ให้เร่งดำเนินการจัดตั้งคณะทำงานติดตามอย่างใกล้ชิด

“มาตรการความร่วมมือระหว่างประเทศในการควบคุมการส่งออกยางครั้งที่ 5 นี้ จะเป็นอีกหนึ่งในมาตรการสำคัญต่างๆ ที่รัฐบาลจะแก้ปัญหาสถานการณ์ราคายางผันผวน เพื่อช่วยยกระดับราคายางในตลาดให้สูงขึ้น ให้ความสำคัญเรื่องคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นแก่พี่น้องเกษตรกรชาวสวนยาง” รมช.เกษตรฯ กล่าว

ด้านนายธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการ กยท. ในฐานะตัวแทนประเทศไทย ในสภาไตรภาคียางพารา กล่าวว่า ในการประชุมสภาไตรภาคียางพารา (ITRC) นัดพิเศษระหว่างประเทศไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซียวันนี้ รัฐบาล 3 ประเทศภายใต้กรอบความร่วมมือมีมติเห็นชอบในการประกาศมาตรการควบคุมปริมาณการส่งออกยางพารา โดยมีระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่บัดนี้จนถึงสิ้นเดือนมีนาคม 2561 ซึ่งได้กำหนดการลดโควตาการส่งออกยางพาราร่วมกัน 3 ประเทศลง 350,000 ตัน ซึ่งที่มาของจำนวนดังกล่าวมาจาก การคาดการณ์ปริมาณยางส่วนเกินโดยสมาคมประเทศผู้ผลิตยางธรรมชาติระหว่างประเทศ (ANRPC) ของตลาดโลก และคาดว่าจะส่งผลต่อระดับราคายางที่จะเพิ่มสูงขึ้น

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีความเห็นเพิ่มเติมว่า ประเทศผู้ผลิตยางแต่ละรายควรแก้ปัญหาความสมดุลของปริมาณยางในโลกด้วยการต้องเพิ่มปริมาณการใช้ยางภายในประเทศของตนเองให้มากขึ้น ไม่ว่าจะนำยางธรรมชาติไปใช้ด้านการคมนาคม การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ยุทโธปกรณ์ กีฬา สุขภาพ รวมถึงภาคธุรกิจ สินค้าอุปโภคบริโภคและบริการต่างๆ

“ในนาม ITRC มีความมั่นใจว่าการดำเนินการร่วมกันในมาตรการนี้ จะส่งผลให้ราคายางมีเสถียรภาพขึ้น และส่งผลดีต่อเกษตรกรรายย่อย สถาบันเกษตรกร และทุกส่วนที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่อุปทานยางพารา ให้ได้รับผลตอบแทนอย่างเป็นธรรมในระยะยาวต่อไป โดยมาตรการนี้จะมีการติดตามอย่างใกล้ชิดโดย ITRC และคณะกรรมการควบคุมยาง"นายธีธัช กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ