นายกฯชวนคนไทย"ออม"รองรับวัยเกษียณ พร้อมแนะท้องถิ่นชูจุดเด่น สร้างจุดขายหนุนใช้งบฯอย่างมีประสิทธิภาพ

ข่าวเศรษฐกิจ Saturday January 6, 2018 15:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ชวนคนไทยสร้างนิสัยการออม เพื่อรองรับวัยเกษียณ และสังคมผู้สูงอายุ ช่วยสร้างความมั่นคงที่ยั่งยืน โดยในส่วนผู้มีรายได้น้อย ให้หารายได้เสริม และสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าและบริการ ช่วยอุดรอยรั่วค่าใช้จ่าย ทำให้มีเงินคงเหลือเพื่อการออม พร้อมแนะท้องถิ่น ให้นำจุดเด่นของแต่ละพื้นที่มาสร้างจุดขาย เพื่อสร้างรายได้เพิ่ม ซึ่งจะเป็นส่วนช่วยสนับสนุนการใช้เงินงบประมาณของภาครัฐได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวในรายการ"ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน"ผ่านสถานีโทรทัศน์ เมื่อดึกวานนี้ว่า "การออม"เป็นเรื่องสำคัญ ที่ต้องใส่ใจ และปลูกฝังเยาวชนไทยในวันนี้ ซึ่งไม่มีใครรู้ว่าพรุ่งนี้จะยังมีงานทำหรือไม่ มีรายได้ มีเรี่ยวแรงในการทำมาหาเลี้ยงชีพหรือไม่ หรือต่อไปเมื่อเกษียณอายุไปแล้วไม่มีรายได้ หากไม่มีเงินออมไว้ในอดีตจะทำอย่างไร ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้สูงอายุประมาณ 10 ล้านคน คิดเป็น “1 ใน 6" ของประชากรทั้งประเทศ และในวันนี้ ผู้มีอายุ 35-60 ปี ซึ่งเป็น “วัยแรงงาน" ก็กำลังเข้าสู่ “วัยชรา" ในอนาคตอันใกล้ โดยสัดส่วน “วัยแรงงาน กับ วัยชรา" จะเปลี่ยนไปอย่างน่ากังวล จากปัจจุบันประชากรวัยแรงงาน 4 คนต่อผู้สูงอายุ 1 คน แต่ในอีก 25 ปีข้างหน้า จะเหลือประชากรวัยแรงงานเพียง 2 คน ต่อผู้สูงอายุ 1 คน ซึ่ง"การออม"ในวันนี้ จะเป็นสิ่งสำคัญช่วยสร้าง “ความมั่งคั่งที่ยั่งยืน" ให้กับทุกคน

อย่างไรก็ตาม ปัญหาสำหรับผู้มีรายได้น้อย คือ จะออมอย่างไร ในเมื่อรายได้ทุกวันนี้ก็ไม่พอจะใช้จ่ายอยู่แล้ว แต่ขอให้ลองตรึกตรองถึง “การเติมน้ำใส่ตุ่มที่ก้นรั่ว" การเติมน้ำคือ “รายได้" ส่วนน้ำรั่วคือ “รายจ่าย" หากต้องการมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ก็ต้องเติมน้ำให้ได้มากกว่าน้ำรั่วอยู่เสมอ เปรียบได้กับการหารายได้เสริม การสร้างมูลค่าเพิ่ม การปรับปรุง-แปรรูปพัฒนาสินค้าและบริการอยู่เสมอ แล้วก็อุดรอยรั่วให้ได้ ค่าใช้จ่าย หรือรายจ่ายที่ไม่จำเป็น รวมถึงต้องมีการทำ “บัญชีครัวเรือน" ซึ่งช่วยวิเคราะห์ ลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น จัดลำดับความสำคัญ–ความเร่งด่วน ไม่ใช้จ่ายที่เกินตัว เกินกำลังตัวเอง และก็วางแผนการเก็บเงินเพื่อค่าใช้จ่ายในอนาคตที่คาดการณ์ล่วงหน้าได้

สำหรับประเด็นบทบาทของท้องถิ่นและการใช้จ่ายงบประมาณของท้องถิ่นซึ่งในแต่ละปี งบประมาณท้องถิ่นจะประกอบด้วย (1) รายได้ที่ท้องถิ่นจัดเก็บได้เอง เช่น ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ภาษีบำรุงท้องที่ เป็นต้น ก็แล้วแต่ละพื้นที่ต้องรับผิดชอบด้วยการเก็บภาษีเหล่านี้ และ (2) เงินภาษีที่รัฐจัดสรรให้ แบ่งให้ รวมถึงเงินอุดหนุนเพิ่มเติม เพื่อให้ท้องถิ่นสามารถนำไปใช้บริหารจัดการและดำเนินการโครงการต่าง ๆ ตามความต้องการของชุมชน ได้อย่างเหมาะสม สอดคล้องกับการกระจายอำนาจไปยังท้องถิ่น และสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนได้อย่างตรงจุด ซึ่งในปีงบประมาณ 2561 นี้ รายได้ทั้งหมดขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) อยู่ที่ 720,000 ล้านบาท หรือเกือบร้อยละ 30 ของงบประมาณทั้งหมด นอกจากนี้รัฐบาลก็ยังมีการจัดสรรงบประมาณไปสู่กระทรวงต่าง ๆ ในการใช้จ่ายสำหรับการบริหารจัดการโครงการในภาพรวมของประเทศอีกด้วย

อย่างไรก็ตามในวันนี้คือองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เทศบาล เกิดปัญหาการจัดเก็บรายได้ ซึ่งสิ่งที่อยากเห็น คือท้องถิ่นต้องรู้ในศักยภาพของตนเอง อะไรคือสิ่งที่ได้เปรียบ อะไรคือจุดขาย หากต้องพัฒนาจุดนั้นให้ดียิ่งขึ้น จะต้องเติมเต็มอย่างไร องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นจะมาเติมเต็มในส่วนที่ประชาชนได้รับผลประโยชน์โดยตรงใกล้ ๆ ตัว เพราะนอกจากจะช่วยสร้างอัตลักษณ์ สร้างแบรนด์ให้กับพื้นที่ของตนรวมทั้งส่งเสริมการค้าและการลงทุน แล้วยังเป็นการพัฒนาที่มีโฟกัส หรือเป้าหมายที่ชัดเจน คือ เพิ่มในส่วนที่เก่ง ให้กลับไปช่วยพัฒนาหรือปรับกลุ่มที่ยังต้องการความช่วยเหลือ ซึ่งจะทำให้ทั้งท้องถิ่นเดินหน้าไปด้วยกันได้ดีขึ้น โดยใช้ทรัพยากรและงบประมาณที่คุ้มค่า ที่สำคัญต้องสอดคล้องกับภาพรวมของประเทศ หรือ “ยุทธศาสตร์ชาติ" ด้วย

"หาก อปท. และส่วนภูมิภาค ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เข้าใจในนโยบายเหล่านี้ ก็จะรู้ว่ารัฐบาลนี้ พยายามที่จะกระจายความเจริญไปสู่ทุกจังหวัด ลดปัญหา ลดภาระ ลดอันตรายต่าง ๆ ทั้งหมด ต้องคิดไปหลายกิจกรรมด้วยกัน เรียกว่าไม่ใช่คิดแต่งานฟังก์ชั่นอย่างเดียว สร้างถนนก็สร้างไป ทำอะไรก็ทำไป ของแต่ละกระทรวง ก็ไม่บรรจบกันทุกเรื่อง ก็เกิดปัญหาตามไปสู่ปัญหาอื่นๆ อีกด้วย ทั้งเมืองหลัก เมืองรอง เมืองท่า เมืองชายแดน มีเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ มีเครือข่ายการคมนาคม ทั้งทางบก-ทางราง-ทางน้ำ-ทางอากาศ บางทีก็มีรถไฟ ไปซับซ้อนทางกัน ก็อาจจะต้อง รถไฟไปเชื่อมในบางช่วง บางช่วงใช้ถนน บางช่วงไปต่อรถไฟ อย่างที่ผมบอกแล้ว ต้องเชื่อมโยงกันได้ทั้งหมด ก็จะแบ่งเบาไปได้มาก ข้อสำคัญคือว่าจะต้องมีรายรับที่เพียงพอในการใช้บริการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานเหล่านี้ จะทำให้สามารถเชื่อมโยงกันได้ แก้ปัญหาจราจรติดขัดต่าง ๆ เหล่านั้น เพราะว่าไม่ใช่แต่เพียงการแก้ปัญหาจราจรอย่างเดียวด้วยซ้ำไป เพราะช่วงเทศกาลปัญหาหนักอยู่แล้ว ปกติก็หนัก หนักด้วยวันนี้ ทุกเรื่องหนักไปหมด ต้องช่วยกัน ก็จะเป็นการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมของคนไทยทั้งประเทศ"พลเอก ประยุทธ์ กล่าว

พลเอก ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า วิสัยทัศน์การพัฒนาท้องถิ่นแบบนี้ ต้องอาศัยความร่วมมือกลไก “ประชารัฐ" ในแต่ละชุมชน ท้องถิ่น จังหวัด ภูมิภาค ประเทศ “ในภาพรวม" เชื่อมโยงกัน อย่าขัดแย้งกันเลย ต้องรับฟังความเห็นซึ่งกันและกัน เอาเสียงส่วนใหญ่ว่าต้องการอะไร ก็ต้องยอมกันบ้าง แล้ววันหน้าสิ่งที่ส่วนน้อยเสนอมาอาจจะทำไม่ได้ในระยะแรก ก็ไปทำระยะสองระยะสามต่อไป ซึ่งต้องใช้กติกาตัวนี้ ไม่เช่นนั้นทำไม่ได้ ไปเกลี่ยเงินมาก ๆ บางทีไม่ได้อะไรขึ้นมา ได้แบบเล็ก ๆ ไม่เพิ่มมูลค่าขึ้น ก็ลำบาก

"เพราะฉะนั้นผมเน้นคำว่าในภาพรวม เชื่อมโยงกัน โดยการใช้งบประมาณต้องมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ อาจจะเป็นงบประมาณของท้องถิ่นเอง ท้องถิ่นก็ไม่เท่ากันอีก บางท้องถิ่นเล็ก บางท้องถิ่นใหญ่ คนมาก คนน้อย สถานประกอบการมากบ้าง น้อยบ้าง เพราะฉะนั้นเก็บได้ไม่เท่ากัน บางพื้นที่ก็น้อยมากเลย รัฐบาลก็ต้องส่งเงินสมทบลงไปตามสัดส่วน ในทุก ๆ ท้องถิ่น เก็บเงินเท่าที่จำได้ก็ประมาณ 7 แสนกว่าล้าน จริงๆแล้วรัฐบาลก็เติมอีกแสนกว่าล้าน เพราะฉะนั้นงบประมาณแผ่นดินที่ต้องเป็นการลงทุนขนาดใหญ่ หรือการร่วมทุนกับเอกชน หรือ PPP ก็ตาม สิ่งสำคัญคือ จะต้องร่วมมือซึ่งกันและกันในด้านการพัฒนา เพราะต่างคนคนต่างมี “หน้าที่พลเมือง" ในการสอดส่อง ป้องกัน การทุจริตอีกด้วย จำไว้ส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่น ลงมาถึงกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน งบประมาณมีทุกส่วน จะทำอย่างไรให้สอดคล้องกัน ประสานกัน เชื่อมโยงกัน"

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ