SCB คาดเศรษฐกิจไทยปี 61 โต 4% จากแรงหนุนหลักภาคส่งออก-ท่องเที่ยว-เอกชนเริ่มกลับมาลงทุน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 8, 2018 10:31 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้อำนวยการเศรษฐกิจมหภาค ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) กล่าวว่า อีไอซีมองเศรษฐกิจไทยปี 61 โต 4% เท่ากับปี 60 โดยมีแรงหนุนเสริมด้วยการลงทุนภาคเอกชนที่กำลังจะกลับมา อานิสงส์จากเศรษฐกิจโลกที่แข็งแกร่ง ส่งผลให้การส่งออกและการท่องเที่ยวไทยมีแนวโน้มเติบโตดีต่อเนื่องจากปีก่อนหน้า ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้การลงทุนภาคเอกชนของไทยมีโอกาสกลับมาขยายตัวตามการผลิตเพื่อการส่งออกที่มีการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นติดต่อกันมาหลายเดือน

นอกจากนี้ การลงทุนภาคเอกชนยังมีสัญญาณสนับสนุนอื่นๆ อีก ได้แก่ การขยายสาขาของกลุ่มค้าปลีกขนาดใหญ่ การเริ่มกลับมาเปิดโครงการของบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ตามโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐที่มีแนวโน้มขยายตัวอีกเท่าตัว และการลงทุนในเทคโนโลยีของบริษัทใหญ่เพื่อปรับธุรกิจเข้าสู่ยุคดิจิทัล อีกทั้งธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่มีความคึกคักอย่างชัดเจนในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาก็มีแนวโน้มนำไปสู่การลงทุนในหลายด้าน ทั้งในด้านการขนส่ง โกดังสินค้า และการรองรับเทคโนโลยีการชำระเงินออนไลน์

นายพชรพจน์ กล่าวว่า ตัวแปรสำคัญที่อาจทำให้เศรษฐกิจไทยปี 61 เติบโตได้สูงกว่าคาด คือ การลงทุนของบริษัทต่างชาติในโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ในขณะที่ตลาดผู้บริโภคมีแนวโน้มดีขึ้นเพียงบางกลุ่ม การบริโภคภาคเอกชนในภาพรวมมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องเช่นกัน แต่เป็นการพึ่งพากำลังซื้อของคนบางกลุ่มที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี ได้แก่ กลุ่มผู้มีรายได้สูงและกลุ่มผู้ซื้อรถคันแรกที่ทยอยหมดภาระการผ่อน ซึ่งจะช่วยให้สินค้าและบริการที่เจาะกลุ่มชนชั้นกลางยังคงขยายตัวได้

นอกจากนี้ การผ่านพ้นช่วงไว้อาลัยก็จะทำให้กิจกรรมต่างๆ กลับมาดำเนินการตามปกติ เช่น การจัดงานรื่นเริง กิจกรรมและสื่อด้านความบันเทิง รวมไปถึงการท่องเที่ยวทั้งของคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติ อย่างไรก็ตาม กำลังซื้อของคนส่วนใหญ่ยังคงได้รับผลกระทบจากทั้งการจ้างงานและค่าจ้างที่ลดลงในปีที่ผ่านมา รวมถึงภาระหนี้ต่อรายได้ที่ยังสูงและเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงสินเชื่อเพื่อการบริโภค

อีไอซีประเมินว่ามี 4 ความเสี่ยงหลักในปี 61 โดยความเสี่ยงแรก คือ ราคาสินค้าเกษตรที่ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ จากผลผลิตที่ออกมามากจะกระทบกับรายได้ของครัวเรือนส่วนใหญ่ เป็นการส่งผลซ้ำเติมต่อกำลังซื้อที่ยังไม่ได้ฟื้นตัว ความเสี่ยงที่สอง คือ การแข็งค่าของเงินบาทที่จะกระทบกับรายได้ในรูปเงินบาท และความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออก ความเสี่ยงที่สาม คือ การขาดแคลนแรงงาน ทั้งแรงงานต่างด้าวและแรงงานทักษะขั้นสูง ซึ่งความเสี่ยงนี้เป็นปัจจัยสำคัญที่อาจทำให้แนวโน้มการฟื้นตัวของการลงทุนสะดุดลงได้ และความเสี่ยงสุดท้าย คือ ความไม่แน่นอนทางการเมืองที่มีโอกาสส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจ อาทิ ความไม่สงบในคาบสมุทรเกาหลี ความไม่แน่นอนทางการเมืองของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีของสหรัฐฯ รวมถึงความไม่แน่นอนทางการเมืองของหลายประเทศในสหภาพยุโรป

ด้านสภาวะทางการเงินของไทยยังอยู่ในเกณฑ์ดี แม้นโยบายการเงินโลกจะตึงตัวมากขึ้น ในระยะข้างหน้าสภาพคล่องในตลาดการเงินโลกจะเริ่มลดน้อยลงจากการดำเนินนโยบายการเงินแบบตึงตัวของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งอาจเป็นตัวกระตุ้นทำให้เกิดความสั่นคลอนในประเทศที่มีหนี้ต่างประเทศสูง และยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการปรับฐานของสินทรัพย์ทางการเงินต่างๆ รวมทั้งดัชนีตลาดหลักทรัพย์ของไทยที่ได้ปรับตัวขึ้นมาสูงในปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจของไทยในภาพรวมยังถือว่ามีความเสี่ยงไม่มาก ด้วยทุนสำรองระหว่างประเทศที่มีมาก และสถานะการเงินของบริษัทใหญ่ที่ยังคงแข็งแกร่ง ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยมีความเป็นไปได้ที่จะยังอยู่ในระดับเดิมที่ 1.50% เพื่อประคับประคองเศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวได้ไม่ทั่วถึงและแรงกดดันจากเงินเฟ้อก็ยังมีไม่มากนัก ในด้านค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ คาดว่าจะอยู่ในช่วง 32.00-33.00 บาท/ดอลลาร์ ในช่วงปลายปี 61


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ