บอร์ดค่าจ้าง เคาะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ 5-22 บาท สูงสุด 330 บาทในจ.ภูเก็ต-ชลบุรี-ระยอง มีผลตั้งแต่ 1 เม.ย.61

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 18, 2018 06:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) ชุดที่ 19 กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 19 ที่มีการพิจารณาเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำปี 2561 ซึ่งใช้ระยะเวลาประชุมยาวนานกว่า 7 ชั่วโมงว่า ที่ประชุมได้ข้อสรุปปรับขึ้นอัตราค่าจ้างทั่วประเทศ แบ่งเป็น 7 ระดับ ต่ำสุดอยู่ที่ 308 บาท ในกลุ่มจังหวัดสามชายแดนภาคใต้ และสูงสุดอยู่ที่ 330 บาท ในจังหวัดภูเก็ต ชลบุรี และระยอง ส่วนกรุงเทพฯและปริมณฑล อยู่ที่ 325 บาท โดยมีอัตราการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ที่ 5-22 บาท อัตราค่าเฉลี่ยรวมอยู่ 315.97 บาท

ทั้งนี้ ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนนี้ โดยไม่มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา พร้อมทั้งเตรียมเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไปในสัปดาห์หน้า

การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ครั้งนี้ แบ่งเป็น 7 ระดับ ประกอบด้วย 1.ค่าจ้าง 308 บาท มี 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ นราธิวาส ปัตตานี และยะลา 2.อัตรา 310 บาท มี 22 จังหวัด ได้แก่ สิงห์บุรี ตรัง ลำปาง ลำพูน ตาก ราชบุรี ระนอง ชุมพร สตูล หนองบัวลำภู พิจิตร กำแพงเพชร สุโขทัย เชียงราย อุทัยธานี ศรีสะเกษ ชัยภูมิ อำนาจเจริญ แพร่ แม่ฮ่องสอน นครศรีธรรมราช มหาสารคาม

3. อัตรา 315 บาท มี 21 จังหวัด ได้แก่ ร้อยเอ็ด ประจวบคีรีขันธ์ นครสวรรค์ สระแก้ว พัทลุง อุตรดิตถ์ อุดรธานี นครพนม บุรีรัมย์ สุรินทร์ เพชรบุรี พิษณุโลก เพชรบูรณ์ ชัยนาท เลย ยโสธร พะเยา บึงกาฬ น่าน กาญจนบุรี อ่างทอง 4. อัตรา 318 บาท มี 7 จังหวัด คือ จันทบุรี สมุทรสงคราม สกลนคร มุกดาหาร นครนายก กาฬสินธุ์ ปราจีนบุรี

5. อัตรา 320 บาท มี 14 จังหวัด คืออุบลราชธานี สุพรรณบุรี สระบุรี พระนครศรีอยุธยา หนองคาย ลพบุรี ตราด ขอนแก่น สงขลา สุราษฎร์ธานี กระบี่ เชียงใหม่ นครราชสีมา พังงา 6. อัตรา 325 บาท มี 7 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร ฉะเชิงเทรา และ 7. อัตรา 330 บาท มี 3 จังหวัด คือ ภูเก็ต ชลบุรี และระยอง

นายจรินทร์ กล่าวว่า ทางคณะกรรมการค่าจ้างได้เสนอมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ โดยให้ผู้ประกอบการ สามารถนำค่าจ้างแรงงานไปลดหย่อนภาษีได้ 1.5 เท่า และเสนอให้สถานประกอบการที่มีลูกจ้างมากกว่า 50 คนขึ้นไป ต้องมีโครงสร้างค่าจ้างให้ลูกจ้างได้เห็นอย่างชัดเจนว่าแต่ละปีจะสามารถขึ้นค่าจ้างได้ในอัตราใดบ้าง เพื่อเป็นหลักประกันให้กับลูกจ้างด้วย

พร้อมกันนี้ ได้เสนอให้สถานประกอบการสามารถกำหนดอัตรค่าจ้างลอยตัวได้ โดยมีข้อเสนอให้ดำเนินการนำร่องใน 3 จังหวัดในพื้นที่พัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ประกอบด้วย ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา เพื่อให้สถานประกอบการสามารถกำหนดคุณสมบัติลูกจ้างได้ตรงกับความต้องการได้

“การพิจารณาขึ้นค่าจ้างในปีนี้ พิจารณาจากปัจจัยต่าง ๆ ทั้งค่าครองชีพก็ไม่เท่ากันเติบโตอยู่ตลอด ขณะเดียวกันดัชนีผู้บริโภค และการขยายตัวเศรษฐกิจแต่ละจังหวัดก็มีการขยายตัวในตัวของมัน และโดยปกติจะมีการปรับค่าจ้างขึ้นทุกปีอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าเมื่อปี 2554 เราขึ้นเยอะมาก ขึ้นจาก 100 กว่าบาทขึ้นมา 300 ก็เลยมีมติว่าไม่ให้ขึ้น 3 ปี และจะมาขึ้นปีที่แล้วครั้งเดียวเท่านั้น"นายจรินทร์ กล่าว

นายจรินทร์ กล่าวต่อว่า การพิจารณาการปรับอัตราค่าจ้างได้พิจารณาอย่างรอบคอบ และการประชุมวันนี้เป็นการตกลงอย่างสมานฉันท์ ซึ่งไม่ได้มีการลงคะแนน แต่หาข้อสรุปที่มีความเห็นตรงกัน

ส่วนข้อกังวลที่ผู้ประกอบการอาจหันไปจากเครื่องจักรที่มีเทคโนโลยีแทนการจ้างลูกจ้างนั้น นายจรินทร์ กล่าวว่า ในอนาคตสถานประกอบการต่าง ๆ ก็ต้องนำเทคโนโลยีต่าง ๆ เพิ่มเข้ามาอยู่แล้ว ซึ่งทางกระทรวงแรงงานก็มีนโยบายในการพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อยกระดับแต่ละสาขาอาชีพให้ได้รับค่าจ้างที่เพิ่มขึ้น ส่วนกรณีที่ให้มีผลตั้งแต่ วันที่ 1 เมษายนนั้น เนื่องจากเป็นข้อตกลงร่วมกันเพื่อให้นายจ้างได้มีเวลาในการปรับตัวด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ