(เพิ่มเติม) FETCO เผยดัชนีเชื่อมั่นนักลงทุน 3 เดือนข้างหน้าปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยอยู่ในภาวะร้อนแรง จากศก.ไทยโตต่อเนื่อง-เงินไหลเข้า

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 18, 2018 14:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสันติ กีระนันทน์ ผู้แทนสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยอยู่ที่ 153.94 อยู่ในเกณฑ์ “ร้อนแรง" (Bullish) (ช่วงค่าดัชนีระหว่าง 120 - 160) ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.08% จากเดือนที่ผ่านมาที่ 150.81

ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยกลุ่มบัญชีนักลงทุนต่างประเทศยังคงอยู่ที่ระดับร้อนแรงอย่างมาก ขณะที่กลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับร้อนแรงอย่างมาก โดยกลุ่มสถาบันภายในประเทศและกลุ่มนักลงทุนรายบุคคลปรับตัวลดลงเล็กน้อยอยู่ที่ระดับร้อนแรงเช่นเดียวกับเดือนก่อนหน้า

โดยหมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุด คือ หมวดธนาคาร (BANK) ส่วนหมวดสื่อและสิ่งพิมพ์ (MEDIA) เป็นหมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุด

สำหรับปัจจัยหนุนหลักมายังคงจากความเชื่อมั่นเศรษฐกิจในประเทศที่มีการเติบโตต่อเนื่อง และความคืบหน้านโยบายปฏิรูปภาษีที่ของสหรัฐที่จะมีผลบังคับใช้ปี 2018 ที่มีส่วนกระตุ้นภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐ

ส่วนปัจจัยความเสี่ยงความขัดแย้งระหว่างประเทศในกลุ่มประเทศตะวันออกกลางและคาบสมุทรเกาหลี แม้ว่ามีความเสี่ยงที่ไม่มากนักแต่มีผลกระทบมากยังเป็นปัจจัยกดดันความเชื่อมั่น สำหรับตลาดหุ้นไทยเดือนธันวาคม ดัชนีฯยังมีการปรับตัวในทิศทางที่เพิ่มขึ้นโดยดัชนีฯปิดทำการของวันสิ้นปีใกล้เคียงกับดัชนีปิดทำการสูงสุดในประวัติศาสตร์

“ภาวะการลงทุนในเดือนธันวาคม ดัชนีตลาดหุ้นไทยมีการเคลื่อนไหวเพิ่มขึ้นจากใกล้เคียง 1700 จุด มาปิดทำการที่ 1753.71 จุด ใกล้เคียงกับดัชนีปิดทำการสูงสุดในประวัติศาสตร์ จากปัจจัยหนุนหลักจากความเชื่อมั่นในภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่คาดการณ์ว่าจะขยายตัว 3.9% ในปี 2017 และคาดการณ์ว่าจะขยายตัว 3.9-4.1% ในปี 2018 จากการที่มีการฟื้นตัวทั้งจากภาคการลงทุนเอกชน การลงทุนระบบสาธารณูปโภคของภาครัฐที่จะอนุมัติโครงการและเริ่มสู่ช่วงการก่อสร้างและเบิกจ่ายงบประมาณจำนวนมาก รวมถึงการบริโภคภาคเอกชนที่เริ่มมีฟื้นตัวขึ้น ตัวเลขการท่องเที่ยวที่มีการเติบโตชัดเจน รวมถึงตัวเลขเงินทุนไหลเข้าที่ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น ทำให้ความเชื่อมั่นนักลงทุนส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในระดับร้อนแรง สำหรับปัจจัยต่างประเทศมีปัจจัยหนุนจากภาวะเศรษฐกิจในภูมิภาคที่มีการเติบโต รวมถึงตลาดหุ้นของสหรัฐที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากแผนปฏิรูปภาษีและการคาดการณ์ Normalization ที่จะยังคงเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป อย่างไรก็ตามปัจจัยที่ต้องจับตามองจากความขัดแย้งในกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง และคาบสมุทรเกาหลียังเป็นปัจจัยกดดันการลงทุน"

นางวรวรรณ ธาราภูมิ ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย กล่าวว่า ยังมีปัจจัยเสี่ยงต่อตลาดหุ้นไทย อาทิ มีความเสี่ยงในเรื่องสกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) ที่อาจส่งผลต่อ Sentiment ของนักลงทุน เนื่องจากปัจจุบันมีนักลงทุนสถาบันเข้าลงทุนด้วยจากเมื่อก่อนที่มีเพียงนักลงทุนรายย่อย ทำให้ราคามีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นอีก อย่างไรก็ตามนักลงทุนควรใช้ความระมัดระวัง เนื่องจากตามกฎหมายปัจจุบันไม่ถือเป็นหลักทรัพย์ และจับต้องไม่ได้

อีกทั้งอาจมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ เป็น 3.5% ต่อปี จากปัจจุบัน 2.5% ต่อปี โดยคาดว่าจะปรับตัวตามอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่จะปรับขึ้นเร็วและแรง

นอกจากนี้ ดัชนีตลาดหุ้นไทยอาจปรับฐานแรงในช่วงไตรมาสที่ 3/61 หากการเมืองในประเทศมีความไม่ชัดเจน โดยยังต้องติดตามการประกาศวันเลือกตั้งจากรัฐบาลอยู่ เนื่องจากจะกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน

นายสันติ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากกรณี บมจ.เจ มาร์ท (JMART) ประกาศว่าบริษัท เจ เวนเจอร์ส จำกัด อยู่ระหว่างการเตรียมระดมทุนด้วยดิจิทัล โทเคน “JFin” Coin ต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรก (Initial Coin Offering: ICO) ซึ่งเป็นการระดมทุนแบบ ICO รายแรกในประเทศไทยนั้น มองว่ายังต้องรอติดตามดู White paper ที่คาดว่าจะออกไม่เกินต้นเดือน ก.พ. 61 เนื่องจาก JMART จะมีการเปิดขายพรีเซลล์ในช่วงวันที่ 14-28 ก.พ. 61 จะได้เห็นว่า "JFin" Coin ที่ออกมาเป็นรูปแบบใด ส่วนตอนนี้ยังไม่มีเกณฑ์กำกับดูแล ซึ่งแนะให้นักลงทุนต้องทำความเข้าใจว่าสิ่งที่นักลงทุนจะได้จากการลงทุนคือ Token ไม่ใช่ใบหุ้น ซึ่งจะต้องติดตามว่าจะได้สิทธิจากการถือ Token อย่างไรบ้างใน White paper

"สกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) หรือการระดมทุนแบบ ICO แม้ว่าจะเกิดขึ้นแล้วหรือกำลังเกิดขึ้นทั่วโลก แต่ต้องยอมรับว่าสำหรับบ้านเราเป็นเรื่องใหม่มาก และการกำกับดูแลยังไม่มีความชัดเจนนัก ซึ่งที่สำนักงาน ก.ล.ต. เองก็ยังอยู่ระหว่างการรับฟังความเห็น ดังนั้นเมื่อพูดถึงนวัตกรรมใหม่ดังกล่าวยังมีความไม่ชัดเจนอยู่หลายประการ"นายสันติ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ