คลัง เผยฐานะการคลัง Q1/61 รัฐนำส่งรายได้ 5.51 แสนลบ. เงินคงคลังสิ้นธ.ค. 1.8 แสนลบ.

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 24, 2018 13:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในช่วงไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2561 (ตุลาคม – ธันวาคม 2560) รัฐบาลมีรายได้นำส่งคลังทั้งสิ้นจำนวน 551,400 ล้านบาท ในขณะที่มีการเบิกจ่ายเงินงบประมาณทั้งสิ้นจำนวน 967,456 ล้านบาท รัฐบาลได้กู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลจำนวน 161,053 ล้านบาท ส่งผลให้เงินคงคลัง ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2560 มีจำนวนทั้งสิ้น 180,910 ล้านบาท โดยมีรายละเอียดดังนี้

1.รายได้นำส่งคลัง รัฐบาลมีรายได้นำส่งคลังทั้งสิ้นจำนวน 551,400 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วจำนวน 1,658 ล้านบาท (คิดเป็น 0.3%) ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากการชำระค่าประมูลใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อกิจการโทรคมนาคมย่าน 1800 MHz (ใบอนุญาต 4G)

2.รายจ่ายรัฐบาล การเบิกจ่ายเงินงบประมาณของรัฐบาลมีจำนวนทั้งสิ้น 967,456 ล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 1,649 ล้านบาท (คิดเป็น 0.2%) ประกอบด้วยรายจ่ายปีปัจจุบัน 897,768 ล้านบาท คิดเป็น 31.0% ของวงเงินงบประมาณรายจ่าย (2,900,000 ล้านบาท) สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 2.5% และรายจ่ายจากงบประมาณปีก่อนจำนวน 69,688 ล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 25.1%

โดยรายจ่ายปีปัจจุบันจำนวน 897,768 ล้านบาท ประกอบด้วย รายจ่ายประจำ จำนวน 810,586 ล้านบาท (คิดเป็น 35.6% ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำหลังโอนเปลี่ยนแปลงจำนวน 2,278,482 ล้านบาท) สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 3.4% และรายจ่ายลงทุนจำนวน 87,182 ล้านบาท (คิดเป็น 14.0% ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายลงทุนหลังโอนเปลี่ยนแปลงจำนวน 621,518 ล้านบาท) ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 5.4%

3.ดุลการคลังรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดขาดดุล 503,901 ล้านบาท โดยเป็นการขาดดุลเงินงบประมาณ 416,056 ล้านบาท และขาดดุลเงินนอกงบประมาณ 87,845 ล้านบาท ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากการไถ่ถอนตั๋วเงินคลังจำนวน 42,500 ล้านบาท การถอนคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตาม พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น งวดที่ 10 – 12 จำนวน 27,072 ล้านบาท และการส่งคืนเงินกันชดเชยให้แก่ผู้ส่งออกเป็นรายได้แผ่นดินจำนวน 10,448 ล้านบาท

ทั้งนี้ รัฐบาลได้บริหารเงินสดให้สอดคล้องกับความต้องการใช้เงินโดยการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลจำนวน 161,053 ล้านบาท ส่งผลให้ดุลเงินสด (หลังการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล) ขาดดุลเท่ากับจำนวน 342,848 ล้านบาท และเงินคงคลัง ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2560 มีจำนวนทั้งสิ้น 180,910 ล้านบาท

สำหรับฐานะการคลังในเดือนธันวาคม 2560 รัฐบาลขาดดุลเงินสดจำนวน 83,741 ล้านบาท โดยเป็นการขาดดุลเงินงบประมาณจำนวน 80,100 ล้านบาท และเป็นการขาดดุลเงินนอกงบประมาณจำนวน 3,641 ล้านบาท ส่งผลให้เงินคงคลัง ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2560 มีจำนวน 180,910 ล้านบาท โดยมีรายละเอียดดังนี้

1.รัฐบาลมีรายได้นำส่งคลัง จำนวน 208,807 ล้านบาท สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้ว จำนวน 15,067 ล้านบาท (คิดเป็น 7.8%) ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากการชำระค่าประมูลใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อกิจการโทรคมนาคมย่าน 1800 MHz (ใบอนุญาต 4G)

2.รัฐบาลมีการเบิกจ่ายเงินงบประมาณทั้งสิ้น จำนวน 288,907 ล้านบาท ต่ำกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วจำนวน 69,130 ล้านบาท (คิดเป็น 19.3%) โดยเป็นรายจ่ายปีปัจจุบันจำนวน 262,625 ล้านบาท ต่ำกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้ว14.0% ประกอบด้วย รายจ่ายประจำจำนวน 226,792 ล้านบาท ต่ำกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้ว 13.6% และรายจ่ายลงทุนจำนวน 35,833 ล้านบาท ต่ำกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้ว 16.4% และการเบิกจ่ายเงินจากงบประมาณปีก่อนจำนวน 26,282 ล้านบาท ต่ำกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้ว 50.2%

โดยการเบิกจ่ายเงินงบประมาณที่สำคัญในเดือนนี้ ได้แก่ รายจ่ายชำระหนี้ของกระทรวงการคลัง จำนวน 52,040 ล้านบาท เงินอุดหนุนของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จำนวน 49,422 ล้านบาท งบลงทุนของกรมทางหลวง จำนวน 11,147 ล้านบาท และเงินอุดหนุนของกระทรวงศึกษาธิการ จำนวน 8,981 ล้านบาท

3.ดุลการคลังรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสด จากรายได้นำส่งคลังและการเบิกจ่ายเงินงบประมาณของรัฐบาล ส่งผลให้ดุลเงินงบประมาณในเดือนธันวาคม 2560 ขาดดุล 80,100 ล้านบาท เมื่อรวมกับดุลเงินนอกงบประมาณที่ขาดดุล 3,641 ล้านบาท ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากการถอนเงินฝากกองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานรากจำนวน 2,994 ล้านบาท ทำให้รัฐบาลขาดดุลเงินสด 83,741 ล้านบาท ทั้งนี้ รัฐบาลได้กู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลจำนวน 48,440 ล้านบาท ส่งผลให้ดุลเงินสด (หลังกู้ชดเชยการขาดดุล) ขาดดุลเท่ากับ 35,301 ล้านบาท และเงินคงคลัง ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2560 มีจำนวนทั้งสิ้น 180,910 ล้านบาท

"ภาพรวมการเบิกจ่ายงบประมาณในช่วงไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2561 เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะต่อไป" โฆษกกระทรวงการคลังระบุ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ