ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดตลาดส่งออกรถไทยอาจชะงักระยะสั้นรับผลเวียดนามออกกฎตรวจสอบคุณภาพใหม่, แต่ภาพรวมยังขยายตัว

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 24, 2018 18:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ตลาดส่งออกรถยนต์ไปเวียดนามปี 2561 เผชิญแรงกดดันหนักตั้งแต่ต้นปี หลังรัฐบาลเวียดนามออกกฎหมายที่ส่งผลทำให้การนำเข้ารถยนต์ดำเนินการยากมากขึ้น โดยกฎหมายมาตราที่ 116 / 2017 / ND-CP มีเนื้อหาส่วนหนึ่งเกี่ยวกับการออกเอกสารรับรองรถยนต์นำเข้าจากประเทศผู้ส่งออก และการตรวจสอบคุณภาพรถยนต์ใหม่ที่นำเข้ามาจำหน่ายในประเทศเวียดนามที่ประกาศออกมาเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2560 และบังคับใช้จริงตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 โดยบังคับให้ผู้นำเข้าต้องเป็นตัวแทนจำหน่ายที่ได้รับการแต่งตั้งจากบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ การนำเข้ารถยนต์ทุกล็อตต้องมีการสุ่มตรวจคุณภาพรถยนต์ก่อนที่จะนำมาวางจำหน่ายในประเทศได้ รถยนต์จะต้องมีการรับประกันตามระยะเวลาที่กำหนด และผู้นำเข้าจะต้องมีศูนย์ซ่อมที่มีมาตรฐานเป็นของตนเองหรือมีการทำสัญญากับศูนย์ซ่อมที่ได้มาตรฐานอื่นๆ นอกจากนี้ผู้นำเข้ายังต้องได้เอกสารรับรองต่างๆทั้งจากประเทศผู้ผลิตและส่งออกรถยนต์เข้ามายังเวียดนาม และจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องของเวียดนาม ซึ่งข้อบังคับต่างๆเหล่านี้ส่งผลทำให้การนำเข้ารถยนต์ของเวียดนามมีความยุ่งยากมากขึ้นในด้านเอกสาร ต้องเสียเวลานานขึ้นในการตรวจสอบคุณภาพก่อนวางจำหน่าย รวมถึงยังต้องมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากการตรวจคุณภาพและการออกเอกสารกำกับต่างๆอีกด้วย

จากการออกกฎหมายดังกล่าวคาดว่าจะส่งผลโดยตรงต่อการส่งออกรถยนต์ของไทยไปยังเวียดนาม โดยในเบื้องต้นพบว่ามีบางค่ายรถยนต์ดำเนินการหยุดการผลิตรถยนต์ล็อตที่มีแผนจะส่งออกไปยังเวียดนามเรียบร้อยแล้ว เพื่อรอความชัดเจนที่มากขึ้นจากทางการเวียดนาม โดย ณ ปัจจุบัน ค่ายรถที่ส่งออกไปยังเวียดนามกำลังพยายามเจรจาเพื่อให้มีการผ่อนปรน ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าประเด็นดังกล่าวนี้อาจส่งผลให้การส่งออกรถยนต์ไปยังเวียดนามได้รับผลกระทบโดยเฉพาะในช่วงไตรมาสที่ 1 โดยอาจหดตัวลงอย่างรุนแรงจากที่ส่งออกไปกว่า 10,000 คัน ในไตรมาส 1 ปี 2560 โดยเป็นผลจากการระงับแผนการส่งออกรถยนต์ของบางค่ายดังกล่าวเบื้องต้น

"หากค่ายรถนำเข้าและรัฐบาลเวียดนามสามารถเจรจาตกลงกันได้ผลดีก็ไม่น่าจะส่งผลกระทบมากนักต่อการส่งออกรถยนต์ของไทย โดยหากค่ายรถเริ่มกลับมาส่งออกได้ตามปกติในไตรมาสที่ 1 คาดว่าการส่งออกรถยนต์ไปเวียดนามของไทยปี 2561 น่าจะทำได้ประมาณ 31,000-34,000 คัน จากที่ปี 2560 คาดว่าจะส่งออกได้ 33,000 คัน"

นอกเหนือจากกฎหมายมาตราที่ 116 / 2017 / ND-CP แล้ว การส่งออกรถยนต์ของไทยอาจต้องเผชิญแรงกดดัน โดยเฉพาะรถปิกอัพด้วย เนื่องจากขณะนี้รัฐบาลเวียดนามกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาเรื่องการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตสำหรับรถปิกอัพ ซึ่งถ้าหากแนวคิดดังกล่าวผ่านการอนุมัติและนำขึ้นมาบังคับใช้ ทำให้จากเดิมที่รถปิกอัพต้องเสียภาษีสรรพสามิตที่ร้อยละ 15 สำหรับความจุต่ำกว่า 2,500 ซีซี ร้อยละ 20 สำหรับความจุระหว่าง 2,500 ถึง 3,000 ซีซี และร้อยละ 25 สำหรับความจุมากกว่า 3,000 ซีซี ไปเป็นที่ระดับเท่ากับอัตราส่วนร้อยละ 60 ของรถยนต์นั่งขนาดความจุเดียวกัน ซึ่งปัจจุบันรถยนต์นั่งขนาดดังกล่าวต้องเสียภาษีสรรพสามิตในช่วงระหว่างร้อยละ 55 ถึงร้อยละ 90 น่าจะส่งผลให้ราคาขายรถปิกอัพในเวียดนามปรับเพิ่มขึ้น ทำให้แรงจูงใจในการซื้อรถปิกอัพลดลง โดยปัจจุบันไทยเป็นผู้ส่งออกปิกอัพหลักของเวียดนาม ซึ่งในปี 2560 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าไทยน่าจะส่งออกรถปิกอัพไปเวียดนามสูงถึงมากกว่า 24,000 คัน คิดเป็นมากกว่าร้อยละ 70 ของการส่งออกรถยนต์ทั้งหมดของไทยไปเวียดนาม

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า แม้ตลาดเวียดนามจะมีความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวข้างต้น แต่สำหรับตลาดส่งออกรถยนต์ของไทยโดยรวมแล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังมีมุมมองทางบวกอยู่พอสมควร หลังสถานการณ์ต่างๆเป็นบวกมากขึ้นมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังปี 2560 โดยเฉพาะปัจจัยบวกจากการที่ราคาน้ำมันเริ่มปรับตัวดีขึ้น สภาวะเศรษฐกิจต่างประเทศเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น ทำให้ประเทศผู้นำเข้ารถยนต์ต่างเริ่มกลับมานำเข้าเพิ่มขึ้น ซึ่งทิศทางดังกล่าวนี้มีแนวโน้มต่อเนื่องมาสู่ปี 2561 ด้วย ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกที่ผลักดันการส่งออกตลอดปีนี้

นอกจากนี้ ในปี 2561 ค่ายรถบางค่ายยังมีแผนที่จะลงทุนผลิตรถยนต์รุ่นใหม่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในรุ่นรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า และมีแผนที่จะส่งออกรถยนต์รุ่นดังกล่าวออกไปตลาดโลกด้วย เช่น รถยนต์ไฮบริด ซึ่งปัจจุบันสถานการณ์ความต้องการรถยนต์ของโลกมีการเปลี่ยนแปลงไป โดยมีความต้องการซื้อรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้ามากขึ้น อันน่าจะเป็นผลดีต่อการส่งออกรถยนต์ชับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าของไทย อย่างไรก็ตามค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น เนื่องจากมีเงินทุนไหลเข้ามาในตลาดเกิดใหม่รวมทั้งไทยอย่างต่อเนื่อง อาจกลายมาเป็นปัจจัยลบหนึ่งที่จะเข้ามากดดันการส่งออกของไทยได้

โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าถึงแม้จะมีปัจจัยลบที่สำคัญ คือ ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ทว่าปัจจัยบวกอันหลากหลาย น่าจะช่วยผลักดันให้การส่งออกรถยนต์ของไทยในปี 2561 ขยายตัวได้กว่าร้อยละ 2 ถึง 4 หรือคิดเป็นจำนวนรถยนต์ส่งออกไปต่างประเทศ 1,160,000 ถึง 1,190,000 คัน เพิ่มขึ้นจากที่ส่งออกรถยนต์ได้ 1,139,696 คัน ในปี 2560 หรือหดตัวร้อยละ 4.1 จากปี 2559 โดยตลาดส่งออกรถยนต์ของไทยที่คาดว่าจะเติบโตได้ในปี 2561 ได้แก่ ตลาดโอเชียเนีย โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้ารถปิกอัพ ซึ่งปิกอัพไทยสามารถทำตลาดได้ดีเหนือคู่แข่งประเทศอื่นโดยถือครองส่วนแบ่งในตลาดสูงถึงมากกว่าร้อยละ 75 นอกจากนี้ตลาดเอเชีย โดยเฉพาะฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และจีน ก็ยังเป็นอีกตลาดที่มีโอกาสขยายตัวได้ โดยไทยยังคงมีรถยนต์รุ่นใหม่ๆนำเสนอเข้าสู่ตลาดเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง ขณะที่ตลาดตะวันออกกลางซึ่งหดตัวรุนแรงในปีที่ผ่านมา คาดว่าจะกลับมาฟื้นตัวหลังจากปัจจุบันราคาน้ำมันเริ่มปรับดีขึ้น และปัญหาเรื่องการบริหารสต๊อกรถยนต์กลับมาดีขึ้นแล้ว รวมถึงประเทศผู้นำเข้ารถยนต์หลักของไทยในตะวันออกกลางอย่างซาอุดีอาระเบียได้ออกกฎหมายอนุญาตให้ผู้หญิงสามารถซื้อและขับรถยนต์ได้ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2560 ซึ่งจะส่งผลให้ไทยสามารถส่งออกไปตะวันออกกลางได้มากขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ