นายกฯ ใช้หลักคิด"ไทยนิยม"พัฒนาปท.ในยุคดิจิทัล ตามนโยบาย"ไทยแลนด์ 4.0" พร้อมขับเคลื่อนโครงการ EEC

ข่าวเศรษฐกิจ Saturday January 27, 2018 09:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" ว่า เราต้องสร้างสรรค์ “ไทยนิยม" ในสิ่งดีๆ ให้มากยิ่งขึ้นนะครับ ถูกต้อง มีคุณธรรม จริยธรรม รักความสงบ เหมือนในเพลงชาติไทยของเรา โดยเฉพาะในช่วงเวลาของประวัติศาสตร์ชาติไทย ระยะต่อจากนี้ไป มีความสำคัญมาก เพราะต่อกันมาทั้งหมด จากอดีต ปัจจุบัน และอนาคต เราต้องการอนาคตอย่างไร เราก็ต้องทำปัจจุบันให้ดีที่สุด เพื่ออนาคตที่ดี ประวัติศาสตร์ที่ดี ในวันข้างหน้า เพราะฉะนั้นระยะต่อจากนี้ไปมีความสำคัญกับพวกเราทุกคน ในสถานการณ์ปัจจุบัน สำหรับลูกหลานของเราในอนาคตด้วย เราต้องการการบริหารประเทศอย่างมีวิสัยทัศน์ เพื่อจะสร้างความ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน" ให้กับบ้านเมือง เราจะต้องน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง อันเป็นศาสตร์พระราชาของในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งเป็นมรดกของชาติ มาเป็นหลักคิดสำคัญในการกำหนดยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ

เพราะฉะนั้นจะเห็นว่า “ประชารัฐ" และ “ไทยนิยม" นั้นก็จะมีความเชื่อมโยงกันอยู่เป็นเนื้อเดียวกัน “ไทยนิยม" จะเป็นกรอบใหญ่ของทั้งประเทศ คล้าย ๆ กับ “ยุทธศาสตร์ชาติ" ที่จะเป็นกรอบใหญ่ให้กับยุทธศาสตร์จังหวัด กลุ่มจังหวัด ภาค ในการพัฒนาท้องถิ่นด้วยกลไก “ประชารัฐ" ทั้งนี้ หากเราสามารถสร้างความเข้มแข็ง เน้นการพึ่งพาตนเองได้ตั้งแต่ระดับฐานรากแล้ว ก็จะนำมาสู่ความสำเร็จในภาพรวมของประเทศได้ในที่สุด ผมอยากให้คนไทยเข้าใจคำว่า ไทยนิยม ประชารัฐ ยั่งยืน 3 คำมีความต่อเนื่องเชื่อมโยงกันทั้งหมด

นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า การพัฒนาประเทศในยุคดิจิทัล ตามนโยบาย “ไทยแลนด์ 4.0" นั้น เราจะต้องให้ความสำคัญกับโครงสร้างพื้นฐานทางสังคม ในมิติวัฒนธรรม ความเป็นไทย ตามหลักคิด “ไทยนิยม" ที่ได้กล่าวไปแล้ว และโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพของประเทศไปพร้อม ๆ กันด้วย อาทิ โครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคม เทคโนโลยีสารสนเทศ พลังงาน ชลประทาน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ประเทศของเรานั้นไม่ได้ร่ำรวยมากนัก จนสามารถเนรมิต หรือลงทุน ทุกอย่างได้ ตามที่เราต้องการในระยะเวลาอันสั้น ดังนั้น เราจำเป็นต้องมีการกำหนดยุทธศาสตร์ชาติ มีการพัฒนาอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ปัจจุบันแม้เราจะกำหนดเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษแล้ว (SEZ) ไว้ทุกภูมิภาคของประเทศ จำนวน 10 แห่ง แต่ก็ไม่ง่ายนักที่จะเริ่มดำเนินการได้พร้อม ๆ กัน เนื่องจากติดขัดในหลาย ๆ เรื่อง ทั้งกฎหมาย ทั้งงบประมาณ ทั้งความร่วมมือของประชาชนในพื้นที่ ความเข้าใจ บางท่านอาจจะไม่เข้าใจ ยังมองภาพความสำเร็จไม่ออก เพราะทุกคนก็เคยชินอยู่กับการทำวันนี้ ให้ได้พรุ่งนี้นะครับ บางทีหลายอย่างต้องใช้ระยะเวลา ก็ยังมองไม่ค่อยออกกัน เป็นหน้าที่ของรัฐบาล คสช. และทุกหน่วยงานนะครับ ในการที่จะ “สาธิต" ให้เห็นภาพอนาคต ของเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ บนพื้นที่ที่มีศักยภาพเดิม คือระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพราะว่าเมื่อสามารถทำได้สำเร็จ จะไม่เพียงแค่ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศเท่านั้น แต่ยุทธศาสตร์ขั้นต่อไป คือ การขยายผลในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ทั้ง 10 แห่ง ในวันข้างหน้า ซึ่งจะเป็นการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศครั้งยิ่งใหญ่ และเป็นก้าวย่างที่สำคัญของชาติ ข้าม “กับดัก" ความเหลื่อมล้ำ ความยากจน และการพัฒนาที่ไม่สมดุล สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

ผมจึงอยากวาดภาพอนาคต และความเป็นไปได้ให้ทุกคนได้เห็น ว่ารัฐบาลจะขับเคลื่อนโครงการ EEC อย่างไร โดยแผนปฏิบัติการลงทุน แบ่งออกเป็น 3 ระยะ

ระยะที่ 1 หรือระยะเร่งด่วนนะครับ ระหว่างปี 2560 ถึง 2561 ที่ต้องดำเนินการทันที เพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจภายใน EEC ให้มีการลงทุนจากในประเทศ และต่างประเทศ

ระยะที่ 2 ระหว่างปี 2562 ถึง 2564 เป็นแผนงานต่อเนื่อง เพื่อให้โครงข่ายการขนส่งสามารถรองรับกิจการทางเศรษฐกิจ ที่จะเกิดขึ้น และขยายกิจการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

และระยะต่อไป เริ่มตั้งแต่ปี 2565 ก็จะเป็นแผนงานเพื่อรองรับการพัฒนาพื้นที่ EEC อย่างยั่งยืน เพื่อจะเพิ่มรายได้ของประเทศ ให้กับประชาชนทุกระดับ ทุกฝ่าย รวมถึงการเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อเพิ่มมูลค่าอีกด้วย ทั้งนี้ จะมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ โดยเฉพาะด้านคมนาคมขนส่ง ทั้งทางบก ทางราง ทางน้ำ ทางอากาศ และ โลจิสติกส์ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่

(1) มอเตอร์เวย์ พัทยา-มาบตาพุด, แหลมฉบัง-ปราจีนบุรี และชลบุรี-อ.แกลง จ.ระยอง รวมทั้งการปรับปรุงโครงข่ายถนนสายรอง การเพิ่มโครงข่ายทางเลี่ยงเมือง

(2) รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 ท่าอากาศยาน (ดอนเมือง - สุวรรณภูมิ - อู่ตะเภา) รถไฟทางคู่ ช่วงแหลมฉบัง-มาบตาพุด รถไฟ ช่วงระยอง-จันทบุรี-ตราด และ รถไฟเชื่อม EEC-ทวาย-กัมพูชา รวมทั้ง สถานีบรรจุและยกสินค้ากล่อง จ.ฉะเชิงเทรา

(3) ท่าเรือแหลมฉบัง เฟสที่ 3 ท่าเรือมาบตาพุด เฟสที่ 3 และ อากาศยานผู้โดยสาร ท่าเรือ จุกเสม็ด

(4) การยกระดับท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา อาทิ การสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน ทางวิ่งที่ 2 พื้นที่ขนส่งสินค้าทางอากาศ เขตปลอดอากร (Free Zone) และอาคารผู้โดยสารหลัง ที่ 3 ตามลำดับ

สำหรับการจัดหาแหล่งวงเงินลงทุน เบื้องต้นนั้นประมาณ 1 ล้านล้านบาท จากงบประมาณแผ่นดิน 30% เงินลงทุนของรัฐวิสาหกิจ 10% รัฐและเอกชนร่วมลงทุน (PPP) 59% และ กองทุนหมุนเวียน จากกองทัพเรือ 1% ผลที่คาดว่าจะได้รับ อาทิ ใน 5 ปีแรก จะเกิดฐานเทคโนโลยีใหม่ของประเทศและ เกิดการพัฒนาคน ทำให้รายได้ประชาชาติ “ขยายตัว" ไม่ต่ำกว่า 5% ต่อปี เกิดการลงทุนจากภาคเอกชนเพิ่มเติมช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นได้กว่า 2.1 - 3.0 ล้านล้านบาท จะมีการเข้าถึงระบบขนส่งมวลชนคุณภาพสูงมากขึ้น ปริมาณการเดินทาง และขนส่งสินค้าใน EEC มากขึ้น สามารถจะลดต้นทุนของรถบรรทุกได้ ประมาณ 35.6 ล้านบาทต่อวัน ลดต้นทุนรถไฟได้ ประมาณ 2.3 แสนบาทต่อวัน รวมทั้ง ลดระยะเวลาการเดินทางลงได้อีกด้วย นอกจากนี้ จะเป็นการสนับสนุนให้ EEC เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมเป้าหมาย เป็นประตูเศรษฐกิจเชื่อมเพื่อนบ้าน - CLMV - และ อาเซียนทั้งหมด อย่างสมบูรณ์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ