นายกฯ มองบทบาทเศรษฐกิจนอกประเทศจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากภายใน-หนุนการส่งออก

ข่าวเศรษฐกิจ Saturday January 27, 2018 10:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" ว่า ได้เดินทางไปร่วมการประชุมในเวทีระหว่างประเทศ คือ การประชุมสุดยอดอาเซียน-อินเดีย ในวันที่ 25 มกราคม ที่ผ่านมา และผมยังได้เข้าร่วมงานวันสถาปนาสาธารณรัฐอินเดีย ครั้งที่ 69 ในวันที่ 26 มกราคมนี้ ในฐานะแขกเกียรติยศ ร่วมกับผู้นำอาเซียน 9 ประเทศ อีกด้วย ซึ่งอินเดียไม่เคยทำมาก่อนในอดีต การเข้าร่วมครั้งนี้ จึงถือว่าเป็นการส่งสัญญาณการให้ความสำคัญแก่พันธมิตรอาเซียนของอินเดีย ในการร่วมมือด้านต่าง ๆ ที่จะแน่นแฟ้นขึ้นในอนาคตด้วย

สำหรับการประชุมสุดยอดอาเซียน-อินเดีย ครั้งนี้ถือว่ามีความพิเศษเพราะปกติประชุมสุดยอดอาเซียนกับประเทศคู่เจรจามักจะจัดในภูมิภาคอาเซียน แต่เนื่องจากเป็นโอกาสครบรอบการสถาปนาความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนและอินเดีย ที่เริ่มต้นอย่างเป็นทางการ "ครบรอบ 25 ปี" อีกทั้ง อินเดียยังเป็นประเทศคู่ค้า และ “หุ้นส่วนยุทธศาสตร์" ที่สำคัญของอาเซียน รวมถึงเป็นหนึ่งสมาชิกของความตกลงพันธมิตรทางการค้าระดับภูมิภาค (หรือ RCEP) อีกด้วย จึงได้มีการจัดการประชุมสมัยพิเศษนี้ขึ้นที่อินเดีย การประชุมครั้งนี้ เป็นโอกาสที่จะทบทวนในเรื่องยุทธศาสตร์ของอินเดียที่มีต่ออาเซียน และประเทศเอเชียแปซิฟิก ตามแนวนโยบาย "มุ่งตะวันออก" หรือ Act East ของนายกรัฐมนตรีอินเดียที่จะเพิ่มบทบาทของอินเดียในประเทศอาเซียนและเอเชียแปซิฟิกอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อสร้างสมดุลอำนาจกับประเทศมหาอำนาจอื่น ๆ อีกทั้งยังสอดรับเป็นอย่างดีกับนโยบาย Look West ของไทย ในการหาลู่ทางขยายตลาดการค้า การลงทุน และ การสร้างพันธมิตรในอินเดีย ที่เป็นตลาดขนาดใหญ่ ทุกคนทราบดีมีประชากรมาก และมีศักยภาพทางเทคโนโลยีสูงอีกด้วย

ประเด็นสำคัญของกลุ่มอาเซียนคงเป็นเรื่องของการหาจุดสมดุลอำนาจระหว่างประเทศต่าง ๆ ภายใต้การเปลี่ยนแปลงนโยบายด้านการเมือง และการปกครองของโลกทั้งสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น จีน นอกจากนี้ ความร่วมมือที่แน่นแฟ้นกับอินเดีย ยังจะช่วยเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับกลุ่มประเทศอาเซียน และ ช่วยส่งเสริมความเชื่อมโยงทางโครงสร้างพื้นฐานระหว่างกัน ทั้งนี้เพื่อเพิ่มบทบาทของภูมิภาคอาเซียน ในการเป็น “แกนกลาง" เชื่อมอินเดียเข้ากับประเทศต่าง ๆ รอบ ๆ มหาสมุทรแปซิฟิก จนประกอบเป็นกลุ่มประเทศที่เราเรียกกันว่า “อินโด-แปซิฟิก" คือ ประเทศยักษ์ใหญ่ 4 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐฯ อินเดีย ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย

สำหรับผลลัพธ์จากการประชุมได้มีการหารือในเรื่องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจระหว่างกัน ทั้งด้านการค้า และการลงทุน เพื่อจะให้เพิ่มมูลค่าการค้าได้ตามเป้าหมายภายในปี 2022 รวมทั้ง เร่งใช้ประโยชน์จากความร่วมมือด้านการค้าอาเซียน-อินเดีย และผลักดันความตกลง RCEP ให้แล้วเสร็จโดยเร็วมีการร่วมกันพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ MSMEs และการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ นอกจากนี้ ยังจะร่วมกันเสริมสร้างความเชื่อมโยงทางวัฒนธรรม เทคโนโลยี และประชาชน ระหว่างอาเซียนและอินเดียเข้าด้วยกัน ผ่านการพัฒนาชุมชนเมืองที่เป็นอัจฉริยะ ซึ่งจะมีการจัดสร้าง SMART Cities-Cultural Centres ในอนาคต อาเซียนอาจพัฒนาไปสู่ความเป็น 4.0 สอดคล้องกับนโยบาย 4.0 ของไทยด้วย

นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า ให้ความสำคัญอย่างมาก ต่อนโยบายระหว่างประเทศ ทั้งในลักษณะการเจรจาทวิภาคีและการหารือในลักษณะของการเป็นพหุภาคีกลุ่มประเทศ ที่ผ่านมา นานาประเทศให้การยอมรับ ตอบรับและชื่นชม กับความตั้งใจของรัฐบาลนี้มาต่อเนื่อง สะท้อนจากการทยอยปรับดีขึ้นของฐานะประเทศไทย ในการจัดลำดับต่าง ๆ ผมได้มีโอกาสไปร่วมประชุมหารือกับกลุ่มประเทศใหม่ ๆ ที่แม้ไทยจะไม่ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิก แต่ก็ยังได้รับคำเชิญให้เข้าร่วม เช่น การประชุมของกลุ่มประเทศ BRICS ในปี 2560 ที่ผ่านมา ซึ่งเหล่านี้ ได้เปิดโอกาสให้เราชี้แจงประชาสัมพันธ์ประเทศ และทิศทางนโยบายของภาครัฐ เพื่อดึงดูดการค้าและการลงทุน ทั้งยังมีโอกาสได้แลกเปลี่ยนความเห็น และข้อมูลที่เป็นประโยชน์เพื่อนำไปใช้พัฒนากิจกรรมในประเทศด้วย

เมื่อครู่ได้พูดถึงบทบาทที่เศรษฐกิจนอกประเทศจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากภายใน ให้เราอีกแรงก็เพราะ เมื่อเศรษฐกิจภายนอกดี ความต้องการจับจ่ายใช้สอยของเขาก็จะมากขึ้น ประเทศเราก็สามารถส่งออกสินค้า และบริการออกไปได้มากขึ้น ตามไปด้วยเช่นกัน ก็เป็นที่น่ายินดีว่าล่าสุด กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลก ในปีนี้ และปีหน้า ปีละ 0.2% จากเดิมที่เคยประมาณว่าเศรษฐกิจโลกจะเติบโตได้ร้อยละ 3.7 ในปี 2561 และ 2562 ตอนนี้ ก็จะปรับสูงขึ้นเป็นร้อยละ 3.9 ในขณะเดียวกัน ก็ได้ปรับเพิ่มตัวเลขการขยายตัวของการค้าและบริการทั่วโลกขึ้นจากร้อยละ 4.0 เป็นร้อยละ 4.6 ในปีนี้

การปรับเพิ่มตัวเลขทางเศรษฐกิจในครั้งนี้มาจากการที่เศรษฐกิจในหลายประเทศขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง ในช่วงก่อนหน้า ทำให้มีแรงส่งที่ดี เราต้องใช้โอกาสนี้ในการพัฒนาของเราให้มากยิ่งขึ้น อีกทั้ง ได้มีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจประเทศพัฒนาแล้วจะขยายตัวได้ดีขึ้นกว่าที่ประมาณไว้ เมื่อเดือนตุลาคม 2560 โดยเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกา ที่มาตรการปฏิรูประบบภาษี ของประธานาธิบดีส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจ โดยในระยะสั้น คาดว่าการปรับลดภาษีนิติบุคคล จะช่วยกระตุ้นการลงทุนของภาคเอกชนได้พอควร แต่อาจเป็นภาระในระยะยาวได้ นอกจากนี้ IMF ยังปรับเพิ่มอัตราการเติบโตของหลายประเทศในสหภาพยุโรป และญี่ปุ่นขึ้น อย่างมีนัยสำคัญ รวมถึง 5 ประเทศอาเซียน ได้แก่ ไทย มาเลเซีย อินโดนิเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ซึ่งคาดว่าจะขยายตัวได้ดีขึ้นในปี 2561 นี้ จากที่เคยให้ไว้ที่ร้อยละ 5.2 เป็นร้อยละ 5.3

สำหรับประเทศไทย ซึ่งถือว่าเป็นประเทศขนาดเล็ก การปรับประมาณการครั้งนี้ จึงไม่ได้เปิดเผยในรายละเอียด ไม่สามารถแยกพิจารณาได้ชัดเจน แต่ล่าสุด ธนาคารแห่งประเทศไทย ก็มีการปรับเพิ่มประมาณการของประเทศไทยในปี 2561 จากร้อยละ 3.8 ที่ทำไว้ในเดือนกันยายน ปีที่แล้ว เป็นร้อยละ 3.9 ในเดือนธันวาคมที่ผ่านมาด้วย อย่างไรก็ตาม รัฐบาลก็คงให้ความสำคัญกับมาตรการการดูแลผู้มีรายได้น้อย ตามโมเดลลดความยากจนด้วย

การปรับประมาณการเศรษฐกิจโลกในครั้งนี้ เป็นสัญญาณว่าเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าของไทยจะขยายตัวได้ดี กว่าที่คาดไว้เดิม ซึ่งจะเป็นผลดี ต่อการส่งออกของไทย แต่ผลดีนั้น จะดีมากหรือน้อยแค่ไหน ก็จะขึ้นอยู่กับการปรับตัวรับโอกาสนี้ของภาคธุรกิจเอกชนไทย และการทำงานร่วมกับรัฐบาลในการขยายตลาด การเข้าถึงความต้องการของผู้บริโภค โดยการจัดเวทีหารือ การจัดแสดงสินค้า การ matching ผู้ซื้อและผู้ขายโดยตรง ซึ่งต้องเร่งดำเนินการทั้งสองฝ่าย ภาคเอกชนไทยมีความสามารถ มีศักยภาพ ผมขอให้เราร่วมกันฉกฉวยโอกาสนี้ไว้ ในระยะสั้น คงต้องทำงานหนัก ต้องมีการป้องกันความเสี่ยงไว้ล่วงหน้า โดยต้องประมาณตน มีภูมิคุ้มกัน และเน้นการพึ่งพาตนเองให้มาก ต้องทำงานเชิงรุกร่วมกัน สำหรับระยะยาวภาครัฐเองก็จะเดินหน้าตามแผนปฏิรูปประเทศ รวมถึงยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่จะช่วยปรับโครงสร้างให้ประเทศในภาพรวมมีความสามารถในการแข่งขัน และการปรับเศรษฐกิจภายในให้แข็งแกร่ง รองรับความเสี่ยงต่าง ๆ ได้ดีขึ้นด้วย แน่นอนที่สุด คือช่วงระยะนี้ซึ่งเป็นระยะเปลี่ยนผ่านเราทุกคนต้องร่วมมือ ร่วมใจกัน ฟันฝ่าอุปสรรคไปพร้อม ๆ กัน ด้วยความเสียสละ อดทนเผื่อแผ่ แบ่งปัน ประนีประนอมตามอัตลักษณ์คนไทยด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ