(เพิ่มเติม) นายกฯ ถกบอร์ด กนช. สั่งสทนช.บูรณาการโครงการจัดการน้ำทั่วประเทศ 44 โครงการแก้ปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้ง

ข่าวเศรษฐกิจ Friday February 2, 2018 14:02 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ครั้งที่ 1/2561 โดยมีพล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะกรรมการและเลขานุการ กนช. ผู้ทรงคุณวุฒิ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม

โดยการประชุม กนช.ครั้งนี้ มีประเด็นสำคัญได้แก่ แผนแม่บทโครงการสำคัญปี 2561-2565 ตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้ สทนช.ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันบูรณาการเพื่อแก้ไขปัญหาและบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ ให้สำนักงบประมาณสนับสนุนงบประมาณ จำนวน 216 โครงการ งบประมาณ 4,212 ล้านบาท พร้อมกับแผนบูรณาการการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำปี 2562 ที่ปรับลดตามหลักเกณฑ์แล้วและเสนอขอสนับสนุนงบประมาณจำนวน 128,783.9197 ล้านบาท โดยให้ สทนช.ร่วมกับสำนักงบประมาณเร่งจัดทำแผนงานโครงการและงบประมาณรายจ่ายแบบบูรณาการเชิงยุทธศาสตร์ (ด้านน้ำ) ปี 2562 ต่อไป

สำหรับแผนบริหารจัดการน้ำและแนวทางพัฒนาเพื่อรองรับระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ได้เห็นชอบแผนการพัฒนาเพื่อรองรับ EEC ในระยะ 10 ปี พร้อมทั้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำแผนหลักเพื่อรองรับการพัฒนาในระยะ 20 ปีให้ครอบคลุมถึงการใช้น้ำระหว่างประเทศ เทคโนโลยีการพัฒนาน้ำบาดาลชั้นสูงและการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลต่อไป

ส่วนการแก้ไขปัญหาอุทกภัยเมืองชัยภูมิ ตามแผนปี 2562-2568 ที่ประชุมเห็นชอบให้หลักการให้กรมชลประทานเร่งดำเนินโครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองชัยภูมิ (ระยะที่ 1) โดยให้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สำหรับสถานการณน้ำและการเตรียมการเพื่อรองรับสถานการณ์น้ำปี 2561 คือ ปริมาณน้ำใช้การปัจจุบันสามารถรองรับความต้องการใช้น้ำในทุกภาคจนถึงสิ้นฤดูแล้ง (เม.ย.61) ส่วนที่ต้องพึงระวังคือ การบริหารจัดการน้ำเพื่อรองรับในฤดูฝน ควรพิจารณาพร่องน้ำให้สอดคล้องกับสภาพฝนและทิศทางของลมพายุที่ผ่าน และเตรียมรับมือปริมาณฝนที่คาดว่าจะตกในช่วงฤดูแล้ง โดยการติดตามการคาดการณ์ของกรมอุตุฯ เน้นการบริหารจัดการน้ำในเขตเมืองและพื้นที่เกษตรเพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้น

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองประธาน กนช. กำกับดูแล สทนช. กล่าวว่า ที่ประชุมได้จัดตั้งคณะกรรมการ 4 คณะ ประกอบด้วย คณะกรรมการวิเคราะห์ติดตามสถานการณ์น้ำ คณะกรรมการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ คณะกรรมการยุทธศาสตร์บริหารจัดการน้ำ

ในส่วนของการจัดสรรงบประมาณ จะมีงบฯประจำปีอยู่แล้วประมาณ 50,000 - 60,000 ล้านบาท ซึ่งในปี 61 ได้งบฯประมาณ 60,000 ล้านบาท โดยงบฯที่ได้รับ จะเน้นนำไปพัฒนาและดูแลแหล่งน้ำขนาดเล็ก เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำและกักเก็บน้ำ ทั้งนี้ในส่วนของแผนงานและโครงการขนาดใหญ่ ที่ให้มีการจัดทำแผนในระยะ 20 ปี จะระบุแผนงานเร่งด่วนในแต่ละปี โดยเริ่มตั้งแต่ปี 61 ซึ่งโครงการขนาดใหญ่ที่มีวงเงินตั้งแต่ 1,000ล้านบาท ขึ้นไป ต้องมีการศึกษาออกแบบการลดผลกระทบในพื้นที่ โดยในที่ประชุมวันนี้ได้นำเสนอโครงการขนาดใหญ่ในทุกภูมิภาค จำนวน 44 โครงการ

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สทนช. กล่าวว่า ยุทธศาสตร์ชาติด้านการบริหารจัดการน้ำ ที่ดำเนินการมาใน 2-3 ปีที่ผ่านมา ยังไม่เป็นไปตามเป้าที่วางไว้ โดยยังมีจุดที่เป็นปัญหา คือ น้ำอุปโภคบริโภค ที่เคยประกาศไว้ว่าปี 2561 จะได้ครอบคลุม ปัจจุบันยังมีประมาณ 256 หมู่บ้าน ที่มีปัญหาซึ่งนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ทุกหน่วยที่ได้รับมอบหมายดำเนินการให้แล้วเสร็จในปี 2562 เช่นเดียวกับการแก้ปัญหาน้ำในภาคการผลิต ทั้งเกษตร อุตสาหกรรมและ EEC ที่ยังต้องเดินหน้าพัฒนาแหล่งน้ำเพิ่มเติมทั้งขนาดกลางและขนาดใหญ่

นอกจากนี้การแก้ปัญหาน้ำท่วม ซึ่งตามแผนงานของกรมเจ้าท่าและกรมโยธาธิการและผังเมือง มีแผนแม่บทไว้แล้ว ซึ่งในอนาคต จะทำงานบูรณาการกับกรมชลประทาน และจัดทำเรื่องการแก้ไขปัญหาเชิงพื้นที่ทั้งระบบ โดยปรับแผนให้กรมเจ้าท่า แก้ปัญหาเรื่องการขุดลอกแม่น้ำสายหลักภายในปี 2562 -2563 ทั้งแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำยม แม่น้ำชี ส่วนพื้นที่ป่าต้นน้ำ นายกรัฐมนตรีใด้มอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติเป็นหน่วยงานดูแล เรื่องจากมีงบประมาณ ดูแลด้านนี้อยู่แล้ว

อีกโครงการหนึ่งที่สำคัญคือโครงการแก้ไขปัญหาน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออก เน้นในพื้นที่ EEC โดยกรมชลประทาน ได้เสนอโครงการเร่งด่วนขึ้นมาทำใน 2 ปี ให้สามารถรองรับความต้องการใช้น้ำในช่วง 10 ปี หลังจากนี้ ไป แต่เพื่อความไม่ประมาท นายกรัฐมนตรีมีคำสั่งให้ สทนช. บูรณาการร่วมกับหน่วยงาน ทำแผนโดยนำน้ำทุกหยดในประเทศกลับมาใช้ รวมไปถึงการรีไซเคิลน้ำในภาคอุตสาหกรรม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ