ปลัดเกษตรฯ สั่งตรวจสอบข้อเท็จจริงปัญหาข้อพิพาทกรณีชาวไร่อ้อยถูกฟ้องเรียกค่าเสียหาย

ข่าวเศรษฐกิจ Friday February 2, 2018 14:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพีรพันธ์ คอทอง ผู้ช่วยปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะรองโฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า จากกรณีเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยจังหวัดตากได้แจ้งความร้องเรียนว่าถูกบริษัท แม่สอดพลังงานสะอาด จำกัด ฟ้องร้องดำเนินคดีให้ชำระหนี้จากกรณีการทำสัญญาร่วมโครงการปลูกอ้อยเพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตเอทานอล จำนวน 53 ราย เป็นมูลหนี้รวมประมาณ 1,300 ล้านบาทนั้น

ล่าสุดนายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ ปลัดกระทรวงเกษตรฯ ได้สั่งการให้สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา ซึ่งอยู่ภายใต้สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรฯ จัดส่งเจ้าหน้าที่ด้านกฎหมายลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง และรายงานสรุปข้อเท็จจริง เพื่อประกอบการวางแผนในบริหารจัดการและแก้ไขปัญหา รวมทั้งนำเรียนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อย่างเร่งด่วนแล้ว

ข้อเท็จจริงปรากฏว่า กลุ่มเกษตรกรที่ปลูกอ้อยและมีหนี้สินกับบริษัทฯ รวมจำนวนทั้งสิ้น 53 รายมูลค่าหนี้ 46 ล้านบาท ได้ดำเนินการฟ้องร้องคดีอาญากับทางบริษัทฯ ในข้อหาฉ้อโกงประชาชนและอยู่ระหว่างไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างบริษัทฯ กับเกษตรกรดังกล่าวในชั้นศาล โดยที่ผ่านมาได้ดำเนินการเจรจาฯ ไปแล้ว 2 ครั้ง และจะมีการนัดเจรจาฯ ครั้งที่ 3 ในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2561 นี้

ทั้งนี้ จากกรณีดังกล่าวสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญาได้พิจารณาสัญญาที่บริษัทฯ ทำกับเกษตรกรแล้ว เห็นว่าเป็นสัญญาในระบบเกษตรพันธสัญญา ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา พ.ศ. 2560 เนื่องจากเป็นการทำสัญญาระหว่างผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรกับเกษตรกร (ตั้งแต่ 10 รายขึ้นไป) ที่มีเงื่อนไขในการปลูกอ้อยตามจำนวนคุณภาพ ราคา และระยะเวลาที่กำหนด และบริษัทฯ ตกลงรับซื้ออ้อย โดยผู้ประกอบธุรกิจเข้าไปมีส่วนร่วมในการผลิต โดยเป็นผู้จัดหาพันธุ์อ้อย ปุ๋ย ยา และปัจจัยการผลิตให้แก่เกษตรกร ประกอบกับบริษัท แม่สอดพลังงานสะอาดฯ ได้ดำเนินการจดแจ้งเป็นผู้ประกอบธุรกิจในระบบเกษตรพันธสัญญาต่อสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรฯ เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2560 และได้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติฯ โดยมีการจัดทำเอกสารสำหรับการชี้ชวนฯ และร่างสัญญาตามที่พระราชบัญญัติฯ กำหนด พร้อมทั้งได้ส่งให้กับสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อันเป็นการยอมรับว่าบริษัทฯ ได้ประกอบธุรกิจในระบบเกษตรพันธสัญญา

ดังนั้น กระทรวงเกษตรฯจะนำ พรบ.ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญาฯ มาดูแลแก้ไขปัญหาข้อพิพาทที่เกิดขึ้นและมีความเห็น ดังนี้ ในกรณีที่สัญญาสิ้นสุดไปแล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัติฯ มีผลใช้บังคับ 23 กันยายน 2560 กฎหมายฉบับนี้ไม่สามารถนำมาบังคับใช้ได้ เนื่องจากอยู่ในขบวนการของศาลหรือดีเอสไอพิจาณาดูแล ส่วนสัญญาที่ไม่สิ้นสุดนับจาก 23 กันยายน 2560 เป็นต้นมา ทางสำนักงานฯ จะเข้าไปดูรายละเอียดอีกครั้งเอกสารอีกครั้งจะมีการไกล่เกลี่ยอย่างไร ทั้งนี้ สำนักงานฯ จะติดตามความคืบหน้ากรณีข้อพิพาทที่เกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด และจะนำข้อมูลไปประกอบการกำหนดแนวทางในการส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญาต่อไป

"ปัญหาที่เกิดขึ้นกับเกษตรกรชาวไร่อ้อยใน อ.พบพระครั้งนี้ ถือเป็นกรณีตัวอย่างที่ให้เกษตรกรได้ตระหนักว่า ต่อไปหากต้องทำคอนแทรคท์ฟาร์มมิ่งกับองค์กรหรือผู้ประกอบการรายไหน สิ่งที่อยากฝากคืออันดับแรกจะต้องตรวจสอบด้วยว่าบริษัทนั้นๆ ได้ขึ้นทะเบียนเข้าสู่ระบบเกษตรพันธสัญญากับทางสำนักงานหรือยัง ซึ่งปัจจุบันมีผู้ประกอบการได้เข้ามาแจ้งจดเป็นผู้ประกอบในระบบแล้ว 104 รายและจะมีเข้ามาเพิ่มเรื่อยๆ

ประเด็นที่สอง เมื่อมีเอกสารชี้ชวนหรือมาโฆษณาให้เข้าร่วมทำเกษตรพันธสัญญาของผู้ประกอบการ จะต้องศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับข้อตกลงในเรื่องแผนการผลิต มูลค่าและราคาที่ตกลงร่วมกันเป็นราคาคงที่หรือยึดตามราคาขึ้นลงของตลาด รวมทั้งระยะเวลาในการดำเนินการคุ้มค่าต่อการลงทุนหรือไม่ และที่สำคัญคือปัจจัยการผลิต เช่น เมล็ดพันธ์ ปุ๋ย สารเคมี สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยการผลิตที่ได้การรับคุณภาพจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือไม่ เกษตรกรจะต้องดูเอกสารเหล่านั้นให้ละเอียดและให้เข้าใจอย่างถ่องแท้เสียก่อน" นายพีรพันธ์ กล่าว

นายพีรพันธ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การผลักดัน พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา พ.ศ. 2560 เป็นเจตนาที่ดีของรัฐบาลที่ต้องการให้กฏหมายดังกล่าวมาอุดช่องโหว่ปัญหา การทำธุรกิจทางการเกษตรที่ไม่เป็นธรรม การเอารัดเอาเปรียบกันในอดีต ซึ่ง พรบ.ดังกล่าวมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 23 กันยายน 2560 ที่ผ่านมา ซึ่งหลังจากนี้ไปเชื่อมันว่าปัญหาต่างๆ ที่เคยเกิดจะหมดไปโดยเร็ว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ