(เพิ่มเติม) สภาผู้ส่งออก กังวลบาทแข็ง-ขึ้นค่าแรง กดดันส่งออกไทยปี 61 โตได้แค่ 3.5% จากคาด 5.5%

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday February 6, 2018 12:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือ สภาผู้ส่งออก ยังยืนยันเป้าการส่งออกไทยปี 61 เติบโตได้ 5.5% แต่คาดการณ์ว่าผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาทและการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ อาจส่งผลให้สูญเสียรายได้จากการส่งออกประมาณ 5,000 ล้านเหรียญฯ (อัตราแลกเปลี่ยนที่ 33 บาท/ดอลลาร์) คิดเป็น 1.5% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด ซึ่งอาจทำให้การเติบโตของการส่งออกลดลงเหลือ 3.5%

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธาน สรท. กล่าวว่า ความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออกกับประเทศเพื่อนบ้านเริ่มถดถอย หลังเผชิญปัญหาเงินบาทแข็งค่า ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจที่ไม่พึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ โดยเฉพาะภาคเกษตรที่ได้รับผลกระทบมากสุด โดยเงินบาทแข็งค่าไปแล้ว 11% และตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน เงินบาทแข็งค่าอีก 2.45% ซึ่งเมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้าแล้วพบว่ามีเพียงค่าเงินของกลุ่มสหภาพยุโรป (อียู) อังกฤษ และมาเลเซียเท่านั้นที่แข็งค่ากว่าเงินบาท นอกนั้นค่าเงินอ่อนกว่าเงินบาททั้งสิ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อการแข่งขันทางการค้า ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องหาแนวทางแก้ไข เช่น การเจรจากับคู่ค้าเรื่องการกำหนดค่าเงินที่จะใช้ชำระค่าสินค้า

สรท. จึงมีข้อเสนอแนะที่สำคัญสำหรับการแก้ไขปัญหาจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำและการแข็งค่าของเงินบาท ประกอบด้วย สรท.ขอเลื่อนการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอออกไป 1 ปี เพื่อให้ผู้ประกอบการได้ไปรับปรุงประสิทธิภาพและเพิ่มทักษะแรงงานฝีมือขั้นสูง ขั้นกลาง ให้มีความเชี่ยวชาญในการเรียนรู้เครื่องจักรและเทคโนโลยีขั้นสูงจากต่างประเทศ, สรท.ขอขยายเวลามาตรการช่วยเหลือด้วยการลดหย่อนภาษี SME 1.15 เท่า จากให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.ไปจนถึงสิ้นปี ให้เพิ่มเติมออกไปเป็น 2 ปี จนถึง 31 ธ.ค. 63, ลดเงินสมทบที่ผู้ประกอบการส่งออกต้องจ่ายให้กับประกันสังคมจาก 5% เหลือ 1-3% ในช่วงค่าเงินบาทมีความผันผวน ประกอบกับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศ 5-22 บาท ซึ่งคิดเป็นการเพิ่มขึ้นประมาณ 1.6-7.0%, รวมทั้งขยายเวลาการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลที่นำเข้าเครื่องจักรมาปรับปรุงและนำระบบดิจิทัลและอินเทอร์เน็ตมาช่วยในการจัดการธุรกิจ จกาเดิม 3 ปี เป็นเวลา 5 ปี

สำหรับผู้ประกอบการที่นำเข้าเครื่องจักร สำหรับส่งเสริมและปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต โดยเป็นการลงทุนในเครื่องจักรทุกประเภททั้งในประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศ ขอให้นำมาหักค่าเสื่อมได้ 2 เท่า ของมูลค่าเครื่องจักรที่ลงทุน, ลดภาษีนำเข้า เครื่องจักรแขนกล (Robot) เหลือ 0-5% เป็นเวลา 1 ปี

นอกจากนี้ รัฐบาลควรสนับสุน SME ด้วยการจัดหาแหล่งเงินทุนสนับสนุนหรือแหล่งเงินทุนกู้ยืม Soft Loan โดยที่ไม่ต้องคืนเงินต้น ในช่วง Grace period ที่ยาวนานกว่าเงินกู้ปกติ เพื่อชดเชยในช่วงที่ปรับตัวกับค่าแรงและค่าเงินบาท, รัฐบาลต้องคุมต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการทั้ง Supply Chain เพื่อการส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ไม่ใช่เพียงคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภคในประเทศเท่านั้น และรัฐบาลต้องมีการวางแผนล่วงหน้าและจัดทำแผนระยะยาวในการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ โดยการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในอนาคต ควรปรับให้สอดคล้องกับทักษะของแรงงาน โดยต้องมีใบประกาศรับรองมาตรฐานฝีมือแรงงานหรือมาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพของแรงงานไทย เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การส่งออกไทยยังมีปัจจัยเสี่ยงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เช่น เงินดอลลาร์สหรัฐที่ยังมีแนวโน้มอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เงินบาทยังมีทิศทางแข็งค่าขึ้น 2.มาตรการกีดกันทางการค้า และมาตรการตอบโต้ของประเทศคู่ค้าที่เข้มข้นมากขึ้น โดยเฉพาะนโยบาย American Frist 3.ต้นทุนการส่งออกที่เพิ่มสูงขึ้นจากปัญหาขาดแคลนแรงงาน ตลอดจนการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศในอัตรา 5-22 บาท/วัน ส่งผลให้ต้นทุนของผู้ผลิตในภาคการส่งออกเพิ่มสูงขึ้น และขีดความสามารถในการแข่งขันลดลง 4.ความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศคู่ค้าสำคัญ 5.ความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างประเทศ 6.ปัญหาสภาพอากาศที่รุนแรงกระทบต่อการชะงักงันในระบบโลจิสติกส์ และ 7.การเลื่อนการเลือกตั้งออกไป ส่งผลทางอ้อมต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ

ขณะที่ปัจจัยบวกที่ส่งผลต่อการส่งออกในปีนี้ ประกอบด้วย 1.การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้าหลัก 2.การปรับตัวของสินค้าไทยไปสู่ Digitalization ตามความต้องการของตลาดโลก โดยเฉพาะกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 3.ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรและสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันมีราคาสูงขึ้นตาม

นายคงฤทธิ์ จันทริก ผู้อำนวยการบริหาร สรท. กล่าวว่า การส่งออกสินค้าสำคัญของปีนี้ ในกลุ่มเกษตรคาดว่า ข้าวจะขยายตัว 1%, ยางพารา ขยายตัว 5%, น้ำตาล ขยายตัว 9% ขณะที่มันสำปะหลัง ลดลง 5% ส่วนกลุ่มอาหาร อาหารทะเลแช่แข็งแปรรูป (ไม่รวมกุ้ง) และผักและผลไม้สด แช่แข็งและแปรรูป ขยายตัว 5-7%, ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป ขยายตัว 2.5%, กุ้งสดแช่แข็งและแปรรูป ขยายตัว 5-7%

กลุ่มพลังงาน ผลิตภัณฑ์ยาง ขยายตัว 15%, เม็ดพลาสติก ขยายตัว 6-7%, เคมีภัณฑ์ ขยายตัว 8%, ผลิตภัณพ์พลาสติก ขยายตัว 6-7% กลุ่มยานพาหนะ ขยายตัว 6% และกลุ่มอื่นๆ อัญมณีและเครื่องประดับ ขยายตัว 5%, น้ำมันสำเร็จรูป ขยายตัว 9%, สิ่งทอ ขยายตัว 4%, วัสดุก่อสร้าง ขยายตัว 3%

ด้านนายชัยชาญ เจริญสุข เลขาธิการ สรท. กล่าวว่า สรท. จะมีการประเมินสถานการณ์อีกครั้งหลังไตรมาสที่ 2/61 จึงจะเห็นชัดเจนมากขึ้นว่าทั้ง 2 ปัจจัยส่งผลกระทบมากน้อยเพียงใด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ