รมว.คมนาคม เร่งรฟท. ลุยโครงการทางคู่-ศึกษาใช้รถไฟฟ้าแทนรถดีเซล เพื่อลดมลพิษ เบื้องต้นนำร่อง 4 เส้นทาง

ข่าวเศรษฐกิจ Friday February 16, 2018 18:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม กล่าวภายหลังตรวจเยี่ยมและมอบให้นโยบายให้กับผู้บริหารการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ว่า รฟท.จะต้องมีการยกระดับบริการ ลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ เพิ่มบทบาทการขนส่งสินค้า ปัจจุบันปริมาณสินค้าที่มีการขนส่งจำนวน 500 ล้านตัน แต่ขนส่งทางรถไฟประมาณ 10 ล้านตัน หรือเพียง 1 ใน 50 ของปริมาณสินค้า โดยคาดว่า เมื่อการก่อสร้างรถไฟทางคู่ระยะที่ 1 แล้วเสร็จจะเพิ่มปริมาณการขนส่งสินค้าเป็น 20 ล้านตัน และเมื่อก่อสร้างรถไฟทางคู่ระยะที่ 2 แล้วเสร็จในปี 2565-2566 จะสามารถเพิ่มปริมาณการขนส่งสินค้าเป็น 30 ล้านตัน หรือไม่เกินปี 2570 ทั้งนี้จะต้องขึ้นกับจำนวนหัวรถจักรและแคร่สินค้าที่จะต้องเพิ่มขึ้นด้วย

ขณะที่ความคืบหน้าการลงทุนในการก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่นั้น ช่วงที่ 1 มีระยะทาง 993 กม.วงเงิน 113,660 ล้านบาทนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างก่อสร้างในช่วงชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น มีความคืบหน้า 52% กำหนดแล้วเสร็จ ก.พ.62, ช่วงฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย สัญญา 1 คืบหน้า 66% แล้วเสร็จ ก.พ.62 สัญญาที่ 2 งานอุโมงค์ คืบหน้า 98% แล้วเสร็จ ก.พ.61

ส่วนรถไฟทางคู่ระยะที่ 1 จำนวน 9 สัญญาที่ได้ลงนามไปเมื่อเดือน ธ.ค.60 ได้ทยอยเริ่มต้นก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.61 โดยจะแล้วเสร็จตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปี 2565 ส่วนช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ สัญญา 2 ที่มีการปรับแบบนั้นจะเสนอ ครม.ขออนุมัติได้ในเดือน ส.ค.61

สำหรับรถไฟทางคู่ระยะที่ 2 และสายใหม่ ระยะทาง 2,174 กม. วงเงิน 427,012 ล้านบาท คาดว่า ช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ และช่วงบ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม คาดว่าจะเสนอ ครม.ได้ในเดือน มี.ค.61 ส่วนอีก 7 เส้นทางอยู่ระหว่างทำข้อมูลเพิ่มเติมให้สภาพัฒน์ คาดว่าจะเสนอ ครม.ได้ตั้งแต่เดือน เม.ย.61 เป็นต้นไป

ส่วนรถไฟทางคู่ระยะที่ 3 ซึ่งเป็นทางรถไฟสายใหม่ที่เป็นฟีดเดอร์ 14 เส้นทาง วงเงินประมาณ 501,455 ล้านบาท ได้เร่งรัดให้ รฟท.ศึกษาออกแบบให้เสร็จในปี 2561-2562 เช่น ช่วงบ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม, แม่สอด-ตาก-กำแพงเพชร-นครสวรรค์, ช่วงนครสวรรค์-บ้านไผ่, ศรีราชา-ระยอง, มาบตาพุด-ระยอง-จันทบุรี-ตราด,กาญจนบุรี-บ้านพุน้ำร้อน, กาญจนบุรี-สุพรรณบุรี-บ้านภาชี, อุบลราชธานี-ช่องเม็ก, ศรีสะเกษ-ยโสธร-ร้อยเอ็ด, เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ, ชุมพร-ระนอง, สุราษฏร์ธานี-ดอนสัก, สุราษฏร์ธานี-พังงา-ท่านุ่น, ทับปูด-กระบี่

ส่วนบทบาทด้านการเดินทางของผู้โดยสารนั้น รมว.คมนาคม กล่าวว่า มีการเพิ่มโครงสร้างพื้นฐาน รถไฟทางคู่ได้ลงนามสัญญากับผู้รับเหมาเพื่อก่อสร้างแล้ว 7 เส้นทาง จะเพิ่มขีดความสามารถในการขนส่งผู้โดยสารด้วย จากปัจจุบันขนส่งผู้โดยสารที่ 35 ล้านคนต่อปี คาดว่าปี 2570 เมื่อรถไฟทางคู่เสร็จหมด จะเพิ่มการขนส่งผู้โดยสารเป็น 70 ล้านคน หรือมากขึ้นอีก 2 เท่า

นอกจากนี้จะต้องมีการปรับปรุงด้านบริการ จากปัจจุบันที่มีประเภทรถด่วน รถด่วนพิเศษ รถเร็ว รถธรรมดา รถชานเมือง ฯลฯ ซึ่งได้ให้นโยบายในการแบ่งประเภทของบริการใหม่เป็น 4 รูปแบบ คือ 1.Premium Train เป็นบริการที่ต้องการใช้เวลาเดินทางน้อยที่สุด ได้แก่ รถไฟความเร็วสูงกรุงเทพ-เชียงใหม่ ใช้เวลาเดินทาง 3 ชั่วโมงครึ่ง

2.Overnight Train สำหรับการเดินทางไม่เร่งรีบมาก ใช้รถไฟปกติซึ่งปัจจุบันเส้นทางกรุงเทพ-เชียงใหม่ ได้ปรับลดเวลาเดินทางจาก 14 ชม.เหลือ 12 ชม. จากการปรับปรุงทางเปลี่ยนรางและหมอนคอนกรีต ทำให้รถเพิ่มความเร็วได้เป็น 80-90 กม./ชม. ในอนาคตเมื่อรถไฟทางคู่แล้วเสร็จ จะลดระยะเวลาเดินทางเหลือ 7 ชม.เท่านั้น สามารถปรับตารางการเดินทางให้สอดคล้องกับความต้องการผู้โดยสารได้มากขึ้น

3.ประเภทรถไฟบริการระหว่างเมือง เช่น กรุงเทพ-นครสวรรค์, กรุงเทพ-ขอนแก่น, กรุงเทพ-บุรีรัมย์ หรือจากบุรีรัมย์-สุรินทร์, บุรีรัมย์-อุบลราชธานี, ขอนแก่น-หนองคาย เป็นต้น ซึ่งเป็นรถไฟที่ไม่ต้องการความเร็วมากนัก 3. ประเภทรถไฟชานเมือง รถไฟในเมือง หรือ Commuter Train เช่นรถไฟสายสีแดง ซึ่งในแต่ละประเภทจะแบ่งชั้นในการให้บริการ เป็น ชั้นธุรกิจ ชั้นประหยัด ได้อีก

นอกจากนี้ ได้มอบหมายให้ รฟท.ยกระดับบริการจากรถไฟดีเซลเป็นรถไฟฟ้า เพื่อลดปัญหามลพิษ ซึ่ง รฟท.อยู่ระหว่างศึกษาการใช้หัวรถจักรไฟฟ้า เบื้องต้นจะนำร่อง 4 เส้นทาง กรุงเทพ-นครราชสีมา, กรุงเทพ-หัวหิน, กรุงเทพ-นครสวรรค์, กรุงเทพ-ฉะเชิงเทรา เนื่องจากเป็นเส้นทางที่มีศักยภาพในการยกระดับเป็นหัวจักรไฟฟ้า ซึ่งในเส้นทางจะมีบริการรถไฟดีเซลในปัจจุบันร่วมด้วย

ส่วนการเพิ่มบุคลากรนั้น รฟท.ได้เสนอของยกเว้นมติครม.เมื่อวันที่ 28 ก.ค. 2541 ที่จำกัดการรับพนักงานเพิ่มได้ 5% ของพนักงานเกษียณอายุ ซึ่งได้เสนอเรื่องมากระทรวงคมนาคมแล้วเตรียมเสนอครม.ต่อไป นอกจากนี้จะมีการยกระดับโรงเรียนวิศวกรรมรถไฟ และการตั้งสถาบันวิจัยพัฒนาระบบราง ซึ่งมีนายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รมช.คมนาคม เป็นประธาน

ด้านนายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ รักษาการผู้ว่าการ รฟท. กล่าวว่า เรื่องการเดินรถไฟฟ้าใน 4 เส้นทางนั้นได้ตั้งงบศึกษาและออกแบบไว้แล้วประมาณ 100 ล้านบาทเศษ เพื่อคัดเลือกเส้นทางที่จะออกแบบ เนื่องจากต้องลงทุนในการติดตั้งเสาไฟฟ้า และสร้างโรงไฟฟ้าสำหรับจ่ายไฟฟ้าด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ