รมว.พลังงาน นำคณะลงพื้นที่จ.เพชรบุรี เตรียมเสนอโครงการสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์สู้ภัยแล้ง หวังแก้ปัญหาน้ำท่วม-ภัยแล้ง

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 5, 2018 17:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน พร้อมด้วยคณะผู้บริหารระดับสูงจากกระทรวงพลังงาน เดินทางตรวจเยี่ยมโครงการต่าง ๆ ในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี ระหว่างวันที่ 5-6 มี.ค. 61 ซึ่งเป็นภารกิจก่อนและหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นอกสถานที่อย่างเป็นทางการ

โดยในช่วงเช้า เป็นการตรวจเยี่ยมและหารือโครงการระบบสูบน้ำกลับจากเขื่อนเพชรไปยังเขื่อนแก่งกระจาน ร่วมกับกรมชลประทานและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานสภาเกษตร จ.เพชรบุรี ในการแก้ปัญหาเรื่องอุทกภัยและปัญหาภัยแล้งในจังหวัดเพชรบุรี ทั้งนี้ได้ศึกษาถึงสภาพลุ่มน้ำเพชรบุรี โครงข่ายแม่น้ำ อุทกวิทยา และทั้งสองหน่วยงานสรุปว่า ถึงแม้ว่าจะลงทุนสูงถึง 2 พันล้านบาท เพื่อก่อสร้างระบบสูบน้ำกลับถึง 15 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้ เนื่องจากกรณีน้ำหลากเกิดในช่วงสั้น ๆ (2 เดือน) เป็นปริมาณมาก

ทั้งนี้ ผู้แทนกรมชลประทาน ได้เสนอโครงการที่จะนำเสนอต่อ ครม. เพื่อแก้ปัญหาอุทกภัยในจังหวัดเพชรบุรีอย่างถาวร คือ การสร้างฟลัดเวย์ (Floodway) ด้วยวงเงินก่อสร้างประมาณ 8 พันล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะแก้ปัญหาอุทกภัยในจังหวัดเพชรบุรีได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ในส่วนของกระทรวงพลังงานเองนั้น จะช่วยแก้ปัญหาช่วงภัยแล้ง ด้วย "โครงการสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์สู้ภัยแล้ง" โดยใช้ไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลล์ เป็นปั๊มสูบน้ำจากแหล่งน้ำสาธารณะ และสามารถมากักเก็บไว้ในบ่อน้ำของหมู่บ้านหรือชุมชน โดยมีการบริหารจัดการร่วมกัน ซึ่งเกษตรกรและชาวบ้าน จะไม่ต้องเสียค่าไฟฟ้าในการสูบน้ำดังกล่าว

ขณะที่ในช่วงบ่าย รมว.พลังงานเดินทางเยี่ยมชมโครงการสูบน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์สู้ภัยแล้ง ที่บริเวณบ้านหนองคอไก่ ต.เขากระปุก อ.ท่ายาง ซึ่งได้ดำเนินการโดยสำนักงานพลังงานจังหวัดเพชรบุรี ด้วยเงินสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน และได้เริ่มใช้งานในระบบแล้ว สามารถสูบน้ำจากบ่อที่ความลึกประมาณ 82 เมตร ได้ปริมาณน้ำ 7 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง โดยโครงการ ฯ ใช้ประโยชน์ในพื้นที่กว่า 30 ไร่ ให้เกษตรกรสมาชิกผู้ใช้น้ำ 7 ราย สามารถปลูกพืช เช่น พริก มะเขือ มะละกอ กล้วย ซึ่งจุดเด่นของโครงการสูบน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ที่ท่ายางแห่งนี้ สามารถใช้น้ำในการปลูกพืชแบบผสมผสานพร้อมกับการเลี้ยงสัตว์ และชุมชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ