เจโทร มองไทยมีศักยภาพพร้อมเป็นฐานการผลิตอาหารแปรรูปขั้นสูง แต่ยังเสียเปรียบเวียดนามเรื่องค่าแรง

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 5, 2018 18:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายซาชิโอะ ทาคิยามะ ผู้อำนวยการแผนกเกษตรและอาหาร เจโทร กรุงเทพ เปิดเผยว่า รัฐบาลญี่ปุ่นตั้งเป้าหมายการส่งออกสินค้าอาหาร เกษตร ป่าไม้และประมงไปทั่วโลกในปี 2562 ไว้ที่ 1 ล้านล้านเยน หรือประมาณ 3 แสนล้านบาท (100 เยน เท่ากับ 30 บาท) หลังจากการส่งออกสินค้าอาหาร เกษตร ป่าไม้และประมงของประเทศญี่ปุ่นเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 นับตั้งแต่ปี 2556 โดยมูลค่าการส่งออกในปี 2560 อยู่ที่ 807,300 ล้านเยน หรือ 242,190 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.6% จากปี 2559

สำหรับประเทศที่นำเข้าสินค้าจากญี่ปุ่นอันดับ 1 ของโลกในปี 2560 คือ ฮ่องกง มูลค่า 187,7000 ล้านเยน หรือ 56,310 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.3% จากปี 2559 ขณะที่ไทยนำเข้าสินค้าในกลุ่มนี้จากญี่ปุ่นมูลค่า 39,100 ล้านเยน หรือ 11,730 ล้านบาท เป็นอันดับ 7 ของโลก และ เป็นอันดับ 2 ของอาเซียนรองจากเวียดนาม โดยสินค้าที่ไทยนำเข้าจากญี่ปุ่น คือ หนังหมูสำหรับใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องหนัง ปลาโอ ปลาทูนา และปลาซาบะ

นายทาคิยามะ กล่าวถึงความสำคัญของประเทศไทยในสายตานักลงทุนว่า ประเทศไทยมีเป้าหมายที่จะยกระดับอุตสาหกรรมอาหารไปสู่อุตสาหกรรมขั้นสูง อาทิ การผลิตสินค้าอาหารแปรรูปที่มีมูลค่าเพิ่มสูงและผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสุขภาพนั้น ซึ่งญี่ปุ่นมองว่าประเทศไทยมีศักยภาพในหลายๆด้านในการจะจัดตั้งฐานผลิตอาหารญี่ปุ่นโดยใช้ไทยเป็นฐานการผลิตอาหารแปรรูป (ผลิตภัณฑ์ขั้นสุดท้าย) เพื่อส่งออกไปจำหน่ายที่ญี่ปุ่น อาเซียน อินเดียและภูมิภาคตะวันออกกลาง ซึ่งสามารถจัดหาวัตถุดิบทั้งจากภายในประเทศและต่างประเทศ จากประเทศญี่ปุ่นและประเทศเพื่อนบ้าน มีความสามารถในการผสมผสานการใช้วัตถุดิบจากญี่ปุ่นที่มีคุณภาพและมูลค่าเพิ่มสูงกับวัตถุดิบจากในประเทศและประเทศเพื่อนบ้านที่มีข้อได้เปรียบด้านราคาอย่างเหมาะสม เพื่อผลิตสินค้าอาหารแปรรูปที่มีคุณภาพสูงแต่ต้นทุนต่ำ ซึ่งเป็นการส่งเสริมการส่งออกไปยังประเทศต่างๆ ในอาเซียน รวมถึงตลาดที่มีแนวโน้มขยายตัวดี เช่น อินเดียและตะวันออกกลาง

แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่จะทำให้เสียเปรียบคู่แข่งที่สำคัญอย่างเวียดนามในเรื่องของค่าแรง เพราะค่าแรงที่เวียดนามถูกกว่าที่ไทยมาก ซึ่งหากผลิตสินค้าแบบเดียวกัน อาหารประเภทเดียวกันต้นทุนที่เวียดนามจะถูกกว่ามาก ส่วนเรื่องความสามารถของแรงงานนั้นเป็นเรื่องที่แต่ละบริษัท เช่น อายิโน๊ะโมะโต๊ะซึ่งมีฐานการผลิตที่ไทยมานาน ไม่ว่าค่าแรงที่เวียดนามจะถูกกว่าแค่ไหนแต่ก็คงไม่เอาโรงงานที่มีอยู่แล้วย้ายไปทุ่มทุนสร้างโรงงานใหม่ที่เวียดนาม และถึงวันนี้ค่าแรงที่เวียดนามจะถูกแต่เดี๋ยวก็ต้องขยับค่าแรงขึ้น สุดท้ายอาจจะยอมค่าแรงแพงที่ไทย แต่สร้างสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มเพื่อที่จะขายได้แพงขึ้น ซึ่งถ้าจะเอาจุดศูนย์กลางของการแปรรูปอาหารมาอยู่ที่ไทยได้มากขึ้น ก็น่าจะให้เราล้ำหน้าเวียดนามได้

"ไทยยังได้เปรียบกว่าเวียดนามทุกด้าน เพราะบริษัทสัญชาติญี่ปุ่นในไทยมีมากกว่าที่เวียดนามอย่างเห็นได้ชัด และการที่ไทยกำลังเดินหน้าโครงการเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ส่วนตัวมองว่า EEC ไม่ได้แค่เป็นสถานที่ เพราะอย่างอุตสาหกรรมอาหารบางอย่างก็ต้องนำเข้าวัตถุดิบจากประเทศใกล้เคียง ซึ่งบริษัทญี่ปุ่นดำเนินการเองไม่ได้ ถ้าสิ่งนั้นทำใน EEC ได้ก็จะมีเสน่ห์ ยิ่ง EEC เป็นโครงการที่ดำเนินการโดยรัฐก็น่าจะมั่นคงเข้มแข็งที่สุดในสายตานักลงทุนต่างประเทศ"

เมื่อถามถึงแนวโน้มการลงทุนของบริษัทสัญชาติญี่ปุ่นในไทยหลังจากนี้ ผู้อำนวยการแผนกเกษตรและอาหาร เจโทร กล่าวว่า ในส่วนของอุตสาหกรรมอาหารมองว่าจะยังเติบโตต่อเนื่อง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ