TMB ชี้ปี 61 ราคามันสำปะหลัง,ข้าว มีแนวโน้มสดใส ดันเศรษฐกิจภาคเหนือ-อีสานคึกคัก

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 14, 2018 17:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี (TMB Analytics) ประเมินมูลค่าพืชเศรษฐกิจสำคัญ 5 อันดับแรก คือ ข้าว, ยางพารา, อ้อย, มันสำปะหลังและปาล์มน้ำมัน พบว่า ปี 2561 มีมูลค่ารวมกว่า 7.4 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 3.3 หมื่นล้านบาท หรือ 3.2% โดยมันสำปะหลังน่าจะเป็นพืชเศรษฐกิจดาวเด่นใน 2561 คาดว่าราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 1.90 บาท/กก. เพิ่มขึ้น 36% เทียบกับราคาเฉลี่ยปีก่อน จากความต้องการจากคู่ค้ารายใหญ่อย่างประเทศจีนยังมีต่อเนื่องเพื่อผลิตเอทานอล และสต็อกข้าวโพดของรัฐบาลจีนที่คาดว่าจะลดลงจากปีก่อนค่อนข้างมาก และปริมาณผลผลิตมันสำปะหลังที่ลดลงจากปีก่อนจากการลดพื้นที่เพาะปลูก

ข้าว ถือเป็นพืชเกษตรที่มีแนวโน้มราคาสดใสปีนี้ โดยคาดว่าราคาข้าวเปลือกเฉลี่ยปี 2561 อยู่ที่ 7,950 บาท/ตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 2.7% จากปริมาณการซื้อจากต่างประเทศที่มีมากตั้งแต่ต้นปี ดันยอดส่งออกข้าวต้นปีสูงขึ้นอย่างมาก นอกจากนี้ ราคาข้าวในประเทศไม่ถูกกดดันจากโครงการประมูลข้าวจากสต็อกของรัฐบาลเหมือนช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทำให้ราคาปีนี้มีทิศทางปรับตัวเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ปริมาณผลผลิตข้าวนาปรังปี 2561 ที่เพิ่มขึ้น 11% และการเร่งส่งออกข้าวของเวียดนามซึ่งเป็นคู่แข่งรายใหญ่ เป็นปัจจัยที่อาจกดดันราคาข้าวช่วงที่เหลือของปี

ยางพารา เป็นพืชเกษตรสำคัญอันดับที่ 2 มีแนวโน้มราคาอ่อนตัวเทียบกับปีที่ผ่านมา ราคาเฉลี่ยยางแผ่นดิบชั้น 3 ลดลงต่อเนื่องตั้งแต่เดือนมีนาคมปีก่อนจนถึงปัจจุบัน โดยคาดว่าราคาเฉลี่ยปี 2561อยู่ที่ 52.0 บาท/กก. ลดลง 9.6% เนื่องจากสต็อกยางพาราของจีนซึ่งเป็นผู้นำเข้าสำคัญ ยังคงอยู่ในระดับปกติ ผนวกกับปริมาณผลผลิตยางพาราไทยเพิ่มขึ้น 9.3% จากปีก่อน โดยคาดว่ามาตรการเพิ่มการใช้ยางพาราในประเทศและมาตรการลดปริมาณผลผลิตและปริมาณส่งออกของรัฐบาล รวมถึงความร่วมมือกับประเทศผู้ผลิตยางรายใหญ่ น่าจะช่วยให้ราคายางปรับตัวเพิ่มขึ้นได้จากราคาประมาณ 40-43 บาท/กก.ในขณะนี้

อ้อย เป็นอีกหนึ่งพืชเศรษฐกิจที่ทิศทางราคาปรับตัวลดลงจากปีก่อน คาดว่าราคาเฉลี่ยอ้อย ปี 2561 อยู่ที่ 800 บาท/ตัน ลดลง 14.4% จากปีก่อน เพราะราคาน้ำตาลตลาดโลกที่ลดลงอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยอยู่ที่ 13.5 เซนต์/ปอนด์ เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่สูงถึง 20 เซนต์/ปอนด์ ขณะที่ปริมาณผลผลิตอ้อยในประเทศที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 20% เนื่องจากการเพิ่มพื้นที่เพาะปลูก อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลกำลังอยู่ในช่วงปรับราคาน้ำตาลเป็นราคาลอยตัวตามราคาตลาด ภาครัฐจึงควรเข้ามาดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ผู้บริโภคและเกษตรกรได้รับผลกระทบน้อยที่สุด

ปาล์ม ซึ่งกว่า 90% ปลูกในพื้นที่ภาคใต้ แนวโน้มราคาปีนี้อาจไม่สดใสนัก คาดว่าราคาปาล์มเฉลี่ยอยู่ที่ 3.70 บาท/กก. ลดลง 8.8% จากปีก่อน เนื่องจากสต็อกน้ำมันปาล์มในประเทศที่สูงขึ้น ประกอบกับปริมาณผลผลิตปาล์มปีนี้ที่คาดว่าเพิ่มขึ้นอีกกว่า 1.2 ล้านตัน หรือ 9.1% ซึ่งจะกดดันการปรับเพิ่มของราคาปาล์มน้ำมันในปีนี้ มาตรการภาครัฐฯ ที่เน้นส่งเสริมการใช้น้ำมันปาล์มในประเทศ รวมถึงอนุญาตให้ส่งออกน้ำมันปาล์มได้เป็นครั้งแรกในรอบหลายปี น่าจะช่วยพยุงราคาปาล์มได้ในระดับหนึ่ง

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี ระบุว่า แม้ว่าราคายางพารา อ้อย และปาล์มน้ำมันจะมีทิศทางราคาไม่สดใสนัก แต่เนื่องจากผลผลิตที่เพิ่มขึ้นจะสามารถชดเชยผลของราคาที่ลดลง ทำให้มูลค่าของ 5 พืชเศรษฐกิจ เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาถึง 3.3 หมื่นล้านบาท ถือเป็นเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจภูมิภาคเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ได้อานิสงส์จากราคามันสำปะหลังและข้าว ทำให้เศรษฐกิจในพื้นที่น่าจะคึกคักกว่าปีที่ผ่านมา โดยจังหวัดที่พึ่งพารายได้จากพืชเศรษฐกิจและคาดว่ากำลังซื้อจะเพิ่มขึ้นอย่างโดดเด่น ได้แก่ อุบลราชธานี นครราชสีมา ศรีสะเกษ เชียงรายและพิษณุโลก เป็นต้น

ทั้งนี้ กำลังซื้อที่เพิ่มขึ้นของเกษตรกรในพื้นที่ข้างต้น จะส่งผลดีต่อธุรกิจเกี่ยวเนื่องตั้งแต่ต้นน้ำ เช่น ธุรกิจค้าปุ๋ยและเคมีเกษตร เครื่องจักรกลการเกษตร ซึ่งเป็นปัจจัยการผลิตอีกด้านหนึ่ง เกษตรกรจะมีกำลังจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลดีต่อธุรกิจค้าปลีก ค้าส่งสินค้าอุปโภค/บริโภค วัสดุก่อสร้าง เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น โดยรายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จะทำให้แนวโน้มการซื้อสินค้าคงทน / สินค้าราคาสูง เช่น จักรยานยนต์ รถยนต์ มีทิศทางปรับตัวดีขึ้นในระยะต่อไป เพราะเกษตรกรมีความมั่นใจในรายได้สูงขึ้น

ราคาสินค้าและปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตรของไทย มีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับกำลังซื้อและทิศทางเศรษฐกิจภูมิภาคไทย อย่างไรก็ตาม ปัจจัยกำหนดราคาส่วนใหญ่มาจากผู้ซื้อในตลาดโลก ทำให้เกษตรกรมีรายได้ที่ผันผวน และส่งผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจภูมิภาค ภาครัฐจึงควรมีนโยบายส่งเสริมการผลิตพืชชนิดอื่นๆ เพื่อกระจายความเสี่ยงจากการพึ่งพิงพืชเศรษฐกิจเพียงไม่กี่ชนิดมากเกินไป พร้อมกับเพิ่มปริมาณการใช้ในประเทศเพื่อลดพึ่งพิงการส่งออก ส่วนเกษตรกรควรรวมกลุ่มเพื่อลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตรที่ผลิตได้ เนื่องจากเกษตรกรสามารถเข้าถึงและขายผลิตภัณฑ์แก่ผู้บริโภคได้โดยตรงผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งช่วยเพิ่มโอกาสสร้างรายได้และความมั่นคงให้กลุ่มเกษตรมากขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ