พาณิชย์ แจงใช้มาตรการ AC ไม่ซ้ำซ้อนกับมาตรการ AD ยันให้ความเป็นธรรมทุกฝ่าย

ข่าวเศรษฐกิจ Friday March 16, 2018 10:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ชี้แจงกรณีผู้นำเข้าเหล็กคัดค้านการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.การตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน (AD) ฉบับใหม่ เนื่องจากเห็นว่าการแก้กฎหมายใหม่ให้มีมาตรการ Anti-Circumvention (AC) เป็นการให้การปกป้องผู้ผลิตเหล็กภายในประเทศที่ซ้ำซ้อนกับมาตรการ AD ซึ่งเกินความจำเป็น ทำให้อุตสาหกรรมภายในไม่พัฒนา อีกทั้งยังเป็นกฎหมายที่ให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ในการยึดอายัดเพื่อตรวจสอบสินค้านำเข้าที่สงสัยว่าได้หลบเลี่ยงมาตรการ AD ซึ่งเป็นภาระและค่าใช้จ่ายแก่ผู้นำเข้าอย่างมาก

อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า การใช้มาตรการ AC ไม่ใช่เป็นการปกป้องที่ซ้ำซ้อนกับมาตรการ AD เนื่องจากเป็นการขยายมาตรการ AD ไปยังสินค้าที่หลบเลี่ยงฯ โดยปัจจุบันมีการหลบเลี่ยงมาตรการ AD ทำให้มาตรการที่ใช้บังคับไม่มีผลในการเยียวยาอุตสาหกรรมภายในตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ทั้งนี้มาตรการ AC จะช่วยให้อุตสาหกรรมภายในได้รับความเป็นธรรมทางการค้าและแข่งขันได้ มิได้มีเจตนาเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมใดอุตสาหกรรมหนึ่งแต่อย่างใด

สำหรับประเด็นที่ผู้นำเข้ากังวลว่ากฎหมายใหม่นี้จะให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ในการยึดอายัดเพื่อตรวจสอบสินค้านำเข้าที่สงสัยว่าได้หลบเลี่ยงมาตรการ AD ซึ่งจะเป็นภาระและทำให้ผู้นำเข้ามีค่าใช้จ่ายอย่างมากนั้นเป็นการเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เนื่องจากการแก้กฎหมาย กำหนดให้กรมศุลกากรมีอำนาจในการกักของ ยึดหรืออายัดสินค้าได้ต่อเมื่อผู้นำเข้าค้างชำระค่าอากร AD ไม่ใช่เป็นการให้กรมศุลกากรยึดหรืออายัดสินค้าเพื่อตรวจสอบการหลบเลี่ยงมาตรการ AD ตามที่ผู้นำเข้าเข้าใจแต่อย่างใด

นอกจากนี้ตามที่ผู้นำเข้าเหล็กเสนอให้รัฐบาลเข้ามาดูแลตรวจสอบความสามารถในการผลิตสินค้าของอุตสาหกรรมภายในว่า ผลิตได้ตามคุณภาพและปริมาณความต้องการในประเทศของผู้ใช้จริงหรือไม่นั้น นายอดุลย์ กล่าวว่า ในกระบวนการไต่สวน AD ได้มีการพิจารณาประเด็นดังกล่าวอย่างรอบคอบอยู่แล้ว ก่อนที่คณะกรรมการพิจารณาการทุ่มตลาดและการอุดหนุน (ทตอ.) จะมีการพิจารณาวินิจฉัยว่าจะใช้มาตรการ AD หรือไม่ อย่างไร

"ในการดำเนินการไต่สวนการหลบเลี่ยงตามกฎหมายใหม่จะมีการกำหนดขั้นตอน หลักเกณฑ์ที่ชัดเจนและโปร่งใส โดยผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วนสามารถแสดงความคิดเห็นในขั้นตอนการไต่สวนได้ และมีการพิจารณาถึงประโยชน์สาธารณะ ซึ่งแนวทางการแก้ไขร่างพระราชบัญญัตินี้ได้มีการศึกษากฎหมายของประเทศสมาชิก WTO ต่างๆ ที่มีประสบการณ์ในการใช้มาตรการ AC และปรับให้สอดคล้องกับบริบทของประเทศไทยด้วย" นายอดุลย์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ