พาณิชย์แนะเอกชนศึกษาหลักเกณฑ์ส่งออกไปอังกฤษ-อียูหลัง Brexit มีผล 30 มี.ค.62

ข่าวเศรษฐกิจ Sunday March 25, 2018 15:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ผู้ประกอบการไทยควรศึกษากฎเกณฑ์ส่งออกนำเข้าระหว่างอังกฤษกับสหภาพยุโรป (อียู) หลัง Brexit มีผลวันที่ 30 มีนาคม 2562 เพื่อเตรียมพร้อมรับมือและลดความเสี่ยงทางการค้า

โดยสหราชอาณาจักรเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญลำดับที่ 2 ของไทยในกลุ่มสมาชิกอียู ด้วยมูลค่าการค้าไทย-อังกฤษ ประมาณ 7,000 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่สหราชอาณาจักรจะต้องออกจากการเป็นสมาชิกอียู (Brexit) ในวันที่ 30 มีนาคม 2562 จึงขอให้ผู้ประกอบการไทยเร่งศึกษาแนวปฏิบัติด้านศุลกากรและภาษีสรรพสามิตที่กระทรวงกิจการภาษีและสหภาพศุลกากรของสหภาพยุโรปได้ออกประกาศ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกรณี Brexit

ทั้งนี้ กระทรวงกิจการภาษีและสหภาพศุลกากรของอียูได้ออกประกาศแนวปฏิบัติระบุสาระสำคัญเกี่ยวกับสถานะของสหราชอาณาจักรที่จะเปลี่ยนเป็น "ประเทศที่ 3" หลังออกจากอียู ซึ่งจะส่งผลต่อวิธีการปฏิบัติด้านเอกสารและพิธีการศุลกากรนำเข้าและส่งออกระหว่างอียูกับสหราชอาณาจักร อาทิ สินค้านำเข้า-ส่งออกระหว่างสหราชอาณาจักรกับอียูจากเดิมผ่านเข้าออกโดยเสรี ไม่ต้องมีความตกลงทางศุลกากร เมื่อสหราชอาณาจักรออกจากอียูในเดือนมีนาคม 2562 จะต้องมีใบอนุญาตนำเข้า-ส่งออกของอียูเช่นเดียวกับประเทศที่สามอื่น สินค้าส่งออกนำเข้าระหว่างสหราชอาณาจักรและอียูต้องต้องผ่านพิธีการศุลกากรและชำระภาษีศุลกากร สินค้าบางประเภทอาจจัดเป็นสินค้าต้องห้ามนำเข้าส่งออกด้วยเหตุผลด้านนโยบายสาธารณะ ความสงบเรียบร้อยของประชาชน การปกป้องสุขอนามัยและชีวิตของประชาชน สัตว์และพืช หรือการปกป้องทรัพย์สมบัติของชาติ เป็นต้น

ผู้ประกอบการที่เคยได้รับอนุมัติเป็น AEO (Authorized Economic Operator) โดยสหราชอาณาจักรจะไม่สามารถใช้เขตศุลกากรสหภาพยุโรปอีกต่อไป สินค้าที่มีถิ่นกำเนิดในสหราชอาณาจักรจะไม่สามารถนำมาสะสมให้เป็นถิ่นกำเนิดสินค้าสหภาพยุโรป (EU content) ได้ ซึ่งอาจส่งผลต่อการใช้สิทธิพิเศษตามความตกลงระหว่างสหภาพยุโรปกับประเทศที่สาม นอกจากนี้ ยังมีแนวปฏิบัติเกี่ยวกับภาษีสรรพสามิตและภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้ประกอบธุรกิจควรทราบเพื่อเตรียมปรับเปลี่ยนวิธีการดำเนินงานให้สอดรับกับสถานะใหม่ของสหราชอาณาจักร โดยคาดว่าประกาศดังกล่าวจะมีผลใช้บังคับวันที่ 30 มีนาคม 2562 เป็นอย่างเร็ว แต่หากอียูและสหราชอาณาจักรตกลงกันได้ก็อาจจะเลื่อนออกไปใช้บังคับประมาณเดือนมกราคม 2564 รายละเอียดสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ https://ec.europa.eu/ taxation_customs/uk_withdrawal_en

อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ถึงแม้แนวทางปฏิบัติที่อียูออกมาดังกล่าวอาจจะไม่มีผลกระทบกับผู้ประกอบการของไทยที่ทำธุรกิจการค้าระหว่างประเทศกับอียูหรือสหราชอาณาจักรโดยตรง เพราะเป็นการออกแนวปฏิบัติระหว่างสหราชอาณาจักรกับอียู แต่โดยที่ปัจจุบันการค้าของโลกมีความเกี่ยวเนื่องกัน ประกอบกับสหราชอาณาจักร เป็นคู่ค้าสำคัญของไทยลำดับที่ 18 และเป็นลำดับที่ 2 ในกลุ่มสมาชิกอียู มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับสหราชอาณาจักรในปี 2560 มีมูลค่าประมาณ 7,000 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีสินค้าส่งออกสำคัญ คือ รถยนต์และอุปกรณ์ ไก่แปรรูป อัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้น ผู้ประกอบการไทยจึงควรติดตามและศึกษาแนวทางปฏิบัติภายหลังสหราชอาณาจักรออกจากอียู (BREXIT) เพื่อเตรียมความพร้อมและลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น ทั้งนี้ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์จะติดตามความคืบหน้าในเรื่องนี้และประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการไทยทราบเป็นระยะต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ