กสทช.ย้ำหากไม่ยืดจ่ายค่าไลเซ่นส์คลื่น 900 MHz อาจกระทบประมูลคลื่นความถี่รอบใหม่ทำรายได้รัฐหด

ข่าวเศรษฐกิจ Monday April 2, 2018 13:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ชี้แจงมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการโทรคมนาคมว่า สำนักงานฯ อยู่ระหว่างทำรายละเอียดมาตรการให้ความข่วยเหลือเพื่อกลับไปร่วมประชุมกับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี

ทั้งนี้ เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับประเด็นสงสัยที่เกี่ยวกับมาตรการช่วยเหลือที่มีการตั้งข้อสังเกตว่ามีการพ่วงมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการโทรคมนาคมนาคมเข้ากับการช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ซึ่งความจริงแล้ว ผู้ประกอบการโทรคมนาคมได้ยื่นเรื่องมาถึงคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก่อนสมาคมผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล และอยู่ระหว่างการพิจารณา

อย่างไรก็ดี กสทช.คำนึงว่าทั้งอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัลและโทรคมนาคมมีความสำคัญและจำเป็นพอๆ กัน

"หลายฝ่ายสงสัยว่ามาตรการช่วยทีวีดิจิทัล เหตุใดไม่รอให้ศาลปกครองกลางมีคำวินิจฉัยในชั้นอุทธรณ์คดีของบริษัทไทยทีวีก่อน ขอให้ทำความเข้าใจว่าผลของคดีในชั้นอุทธรณ์นั้น ไม่เกี่ยวกับมาตรการให้ความช่วยเหลือ เมื่อเอกชนยื่นขอความช่วยเหลือมา ก็ต้องพิจารณาให้ความเป็นธรรม ดังนั้นอย่าว่ามาตรการครั้งนี้เป็นการช่วยทีวีพ่วงโทรคมนาคมเลย เพราะถ้าจะทำอย่างนั้นจริงๆ ต้องเรียกว่าช่วยโทรคมนาคมพ่วงทีวีถึงจะถูก" นายฐากร กล่าว

กรณีการช่วยเหลือผู้ประกอบการโทรคมนาคม เหตุผลที่ผู้ประกอบการขอให้รัฐช่วยเหลือ เนื่องจากมีภาระเงินกู้เพื่อนำมาชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาต โดยหากไม่ขยายเวลาชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตผู้ประกอบการจะไม่สามารถเข้าร่วมประมูลคลื่น 900 และ 1800 เมกกะเฮิรตซ์ เนื่องจากมีภาระเงินกู้ประมาณ 120,000 ล้านบาท (ทรู 60,218 ล้านบาท เอดับบลิวเอ็น 59,000 ล้านบาท) วงเงินกู้เต็มกรอบวงเงิน

ส่วนข้อเป็นห่วงว่าในกรณีจะเกิดการฟ้องร้องในภายหลังนั้น สำนักงานฯ ประเมินว่า การฟ้องร้องไม่น่าจะเกิดขึ้น เนื่องจากบริษัทที่เคยชนะประมูลแต่ทิ้งใบอนุญาต คือ บมจ.จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล (JAS) ขาดสิทธิในการฟ้องร้อง ทั้งนี้ ดีแทคจะได้รับสิทธิในเงื่อนไขการชำระค่าประมูลที่ กสทช.กำหนดไว้ในการประมูลครั้งต่อไป ทำให้การแข่งขันเป็นไปอย่างเท่าเทียม

อีกทั้งผู้บริหารของดีแทคยืนยันผ่านสื่อว่า การประมูลครั้งที่ผ่านมาสูงกว่าราคาเริ่มต้นถึง 6 เท่าตัว ดังนั้นการขยายระยะเวลาการชำระเงินให้กับผู้ชนะประมูลทางดีแทคไม่ขัดข้อง แต่ให้นำเงื่อนไขที่กำหนดไว้ไปใส่ในการประมูลคลื่น 1800 หรือ 900 เมกกะเฮิรตซ์ในครั้งต่อไป และหากนำคลื่น 1800 เมกกะเฮิรตซ์มาประมูลจะทำให้ประเทศไทย สามารถใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่เพิ่มขึ้นอีก 90 เมกกะเฮิรตซ์เพื่อรองรับเทคโนโลยี 5G, Internet of Things จะเป็นแรงผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจรวดเร็วยิ่งขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ