ส.ป.ก.ตั้งเป้าปี 62 ศึกษาพัฒนาแหล่งน้ำใน 10 จังหวัด บนพื้นที่ 9 แสนไร่

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday April 17, 2018 10:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุรจิตต์ อินทรชิต เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เปิดเผยว่า ในช่วงปีงบประมาณ 2560 ส.ป.ก.ได้ขับเคลื่อนการพัฒนาแหล่งน้ำและระบบกระจายน้ำในเขตปฏิรูปที่ดิน ภายใต้คำสั่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (คำสั่งที่ 132/2561 เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2561) ดำเนินงานโครงการพัฒนาแหล่งน้ำและระบบกระจายน้ำ โดยจัดให้มีการประชุมแผนงานร่วมกัน เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2561 กรมชลประทานมีแผนสนับสนุนพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ ส.ป.ก. ที่ได้ศึกษาพื้นที่ไว้แล้ว 19 จังหวัด สามารถพัฒนาเพิ่มเติมได้จำนวน 103 โครงการ งบประมาณ 5,057 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังสนับสนุนแหล่งน้ำในโครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน ดำเนินการ 38 แปลง งบประมาณ 1,523 ล้านบาท

สำหรับในปี 2562 ส.ป.ก. จะดำเนินการศึกษาพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ 900,000 ไร่ ใน 10 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดแพร่ น่าน อุตรดิตถ์ บุรีรัมย์ เลย ศรีสะเกษ หนองบัวลำภู จันทบุรี กระบี่ และสุราษฏร์ธานี เพื่อให้แผนงานพัฒนาแหล่งน้ำและระบบกระจายน้ำมีความชัดเจน โดยกรมชลประทานสามารถกำหนดแผนงานและงบประมาณดำเนินการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ ส.ป.ก. ส่วนที่เหลือ ส.ป.ก.จะดำเนินการจัดจ้างสำรวจออกแบบพร้อมก่อสร้างแหล่งน้ำและระบบกระจายน้ำ พร้อมทั้งขยายผลโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่เขตปฏิรูปที่ดินจังหวัดสกลนคร โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) ได้พระราชทานแนวทางให้กรมชลประทานก่อสร้างตั้งแต่ปี 2527 รวม 68 โครงการ ซึ่งทำให้พื้นที่ ส.ป.ก.เพิ่มพื้นที่ชลประทานอีก 121,170 ไร่

นายสุรจิตต์ กล่าวว่า ส.ป.ก.ได้จัดที่ดินและมอบหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินในพื้นที่ 72 จังหวัด เกษตรกรได้รับประโยชน์ 2.82 ล้านราย รวม 2.89 ล้านแปลง พื้นที่ 35.8 ล้านไร่ หรือประมาณ 25% ของพื้นที่ภาคการเกษตรของประเทศไทย ในจำนวนนี้มีพื้นที่ที่อยู่ในเขตชลประทานประมาณ 1.8 ล้านไร่ ส่วนพื้นที่อีกประมาณ 10 ล้านไร่ อยู่นอกเขตชลประทาน นอกจากนี้ยังมีพื้นที่ประมาณ 24 ล้านไร่ เป็นพื้นที่ขาดแคลนน้ำ และแหล่งเก็บกักน้ำไว้ใช้ในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม ซึ่ง ส.ป.ก.ได้จัดที่ดินให้มีศักยภาพในการผลิตทางการเกษตร โดยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านแหล่งน้ำ และระบบกระจายน้ำในเขตปฏิรูปที่ดิน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต เพิ่มผลผลิตและรายได้แก่เกษตรกรอย่างยั่งยืน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ