สศค. คาด GDP ไทยปี 61 โต 4.2% ขยายตัวเต็มศักภาพ ย้ำดำเนินนโยบายเพื่อวางรากฐานศก.เน้นเติบโตเชิงคุณภาพ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday April 19, 2018 10:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษก สศค.ชี้แจงว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นเป็นลำดับต่อเนื่องตลอด 3-4 ปี จาก 1.0% ในปี 2557 ขึ้นมาเป็น 3.0% 3.3% และ 3.9% ในปี 2558 2559 และ 2560 ตามลำดับ และคาดว่า ในปี 2561 จะขยายตัวได้ 4.2% ต่อปี เป็นการขยายตัวในระดับเต็มศักยภาพ (Potential GDP Growth) โดยมีปัจจัยขับเคลื่อนหลักจากการส่งออกและการท่องเที่ยว ขณะที่การบริโภคและการลงทุนโดยรวมยังสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจได้ดี

ดังนั้น การขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากที่ขยายตัวเพียง 1.0% ต่อปี มาขยายตัวได้ที่ 3.9% ต่อปี ภายในระยะเวลา 3 ปี ถือเป็นอัตราการเพิ่มที่เร็วกว่าประเทศต่าง ๆ (เวียดนามจาก 6.0% ในปี 2557 เพิ่มขึ้นเป็น 6.8% ต่อปี ในปี 2560, ลาวจาก 7.6% ในปี 2557 ลดลงเป็น 6.8% ต่อปี ในปี 2560, กัมพูชาจาก 7.1% ในปี 2557 ลดลงเป็น 7.0% ต่อปี ในปี 2560 และมาเลเซียจาก 6.0% ในปี 2557 ลดลงเป็น 5.9% ต่อปี ในปี 2560)

ทั้งนี้สืบเนื่องจากมีการวิพากษ์วิจารณ์ตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจและการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ระบุว่า เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ 4.0% ต่อปี เป็นอัตราที่ต่ำกว่าอัตราเฉลี่ยที่ธนาคารโลกและธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ทำนายการเจริญเติบโตของโลก เช่น เวียดนาม กัมพูชา ลาว และมาเลเซีย โดยถือว่าไทยเติบโตต่ำที่สุดในภูมิภาค และต่ำที่สุดในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาทั้งหมดในเอเซียตะวันออก นอกจากนี้รัฐบาลยังควรประเมินความคุ้มค่าจากการกระตุ้นเศรษฐกิจเพราะหลายโครงการที่ผ่านมาไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ และจำกัดอยู่กับบางกลุ่มเท่านั้น เมื่อเทียบกับงบประมาณที่ลงไปกับความคุ้มค่าที่ได้รับ มีผลที่ได้น้อย ดังนั้น จึงควรคิดว่าทำอย่างไรให้ประชาชนมีรายได้ดีขึ้นโดยธรรมชาติ ซึ่งจะยั่งยืนและเป็นผลดีต่อภาวะการคลัง

โฆษก สศค.กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลได้วางรากฐานระยะปานกลางและระยะยาวให้แก่เศรษฐกิจ เพื่อสร้างโอกาสและความเชื่อมั่นให้แก่ภาคเอกชนในการสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เช่น โครงการลงทุนใน EEC โดยการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก 3 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง เพื่อให้เป็นฐานที่ตั้งสำคัญของการลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งใช้เงินลงทุนกว่า 1.5 ล้านล้านบาท ในระยะ 5 ปีข้างหน้า เพื่อให้เป็น New Engine of Growth ของเศรษฐกิจไทยและดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ โครงการ National e-Payment เพื่ออำนวยความสะดวกในการการทำธุรกรรมทางการเงิน ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศแรกใน Asia ที่ริเริ่มโครงการในลักษณะนี้ สนับสนุน FinTech และส่งเสริมการใช้ QR Code

นอกจากนี้ รัฐบาลมุ่งมั่นที่จะกระจายโอกาสไปยังภูมิภาคต่าง ๆ ผ่านโครงการลงทุนด้านคมนาคมขนส่งและส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง เพื่อให้ประชาชนในจังหวัดรองมีงานทำและมีรายได้มากขึ้น ตลอดจนดูแลผู้มีรายได้น้อย 11.4 ล้านคน ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและยกระดับคุณภาพชีวิตผู้มีรายได้น้อยให้มีทักษะอาชีพเพิ่มขึ้น มีงานทำ มีรายได้เพิ่มขึ้น และสามารถเข้าถึงปัจจัย 4 ได้อย่างยั่งยืน

"การดำเนินนโยบายของรัฐบาลมิได้มุ่งหวังเฉพาะการเติบโตเชิงปริมาณแต่เพียงอย่างเดียว หากแต่ต้องการให้คุณภาพของเศรษฐกิจและประชาชนดีขึ้นด้วย สอดคล้องกับธนาคารโลกและเอดีบีที่ระบุว่าโอกาสของการขยายตัวทางเศรษฐกิจคือการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและการพัฒนา EEC นอกจากนี้อันดับของ Ease of Doing Business ที่ดีขึ้นถือเป็นปัจจัยบวกต่อความเชื่อมั่นในอนาคต" นายพรชัย กล่าว

นอกจากนี้ ในช่วงปี 2557 และ 2558 รัฐบาลได้ดำเนินมาตรการทางการคลัง การเงิน และกึ่งการคลัง เพื่อหยุดการทรุดตัวของเศรษฐกิจหลายมาตรการ เช่น มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร มาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย มาตรการช่วยเหลือ SMEs มาตรการช่วยเหลือภาคอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น ส่งผลให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจหยุดการทรุดตัวลงได้และเร่งตัวขึ้นจาก 1.0% ต่อปี เป็น 3.0% ต่อปี โดยที่อัตราการว่างงานอยู่ในระดับปกติ หนี้สาธารณะยังอยู่ในกรอบความยั่งยืนทางการคลัง ต่อมาในช่วงปี 2559 และ 2560 รัฐบาลได้เร่งกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน โครงการ EEC มาตรการทางภาษีเพื่อกระตุ้นการลงทุน การใช้จ่าย การท่องเที่ยว และการจ้างงาน ส่งผลให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นเป็น 3.3% และ 3.9% ต่อปี ตามลำดับ โดยที่อัตราการว่างงานอยู่ในระดับปกติ หนี้สาธารณะยังอยู่ในกรอบความยั่งยืนทางการคลัง ทั้งนี้ การขยายตัวทางเศรษฐกิจของภูมิภาคต่าง ๆ ที่สอดคล้องกับการขยายตัวของเศรษฐกิจในระดับประเทศ สะท้อนผลของการดำเนินนโยบายเพื่อลดความยากจนและความเหลื่อมล้ำช่วยให้ผู้มีรายได้น้อยลดภาระค่าครองชีพลงและมีความเป็นอยู่ดีขึ้น อันจะเป็นการวางรากฐานให้เศรษฐกิจไทยสามารถเจริญเติบโตแบบลักษณะมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน (Inclusive Growth) ในอนาคตต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ