(เพิ่มเติม) พลังงานยังไม่บังคับใช้ B10 หลังค่ายรถไม่รับประกัน แต่พร้อมจูงใจใช้ B20 ในรถบรรทุกหวังช่วยลดสต็อกน้ำมันปาล์มดิบ

ข่าวเศรษฐกิจ Monday April 23, 2018 15:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางอุษา ผ่องลักษณา รองอธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน เปิดเผยว่า แนวทางการแก้ไขปัญหาสต็อกน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) ที่มีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้นไปอยู่ระดับ 590,000 ตันสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปีนี้นั้น ด้วยการปรับเพิ่มสัดส่วนผสมภาคบังคับของไบโอดีเซลในน้ำมันดีเซล เป็น 10% หรือ B10 ยังไม่สามารถดำเนินการได้ในขณะนี้ จากปัจจุบันที่มีการใช้ในระดับ B7 เนื่องจากผู้ผลิตรถยนต์ให้การรับประกันการใช้น้ำมันดีเซลที่มีสัดส่วนผสมไบโอดีเซลสูงสุดที่ 7% หรือ B7 เท่านั้น

ทั้งนี้ การดำเนินการจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบเนื่องจากจะส่งผลกระทบต่อผู้ใช้รถที่จะไม่ได้รับการรับประกันจากผู้ผลิตรถยนต์ เนื่องจากใช้น้ำมันผิดไปจากที่ระบุไว้ในคู่มือ รวมถึงกรมธุรกิจพลังงาน ได้ร่วมกับกระทรวงคมนาคมในการทดลองใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B10 ในรถไฟ โดยมีผลตอบรับเป็นอย่างดี ซึ่งจะสามารถพัฒนาและขยายผลต่อไปได้ในอนาคตซึ่งจะเป็นการช่วยดูดซับ CPO ออกจากระบบได้อีกส่วนหนึ่งด้วย

อย่างไรก็ตาม กระทรวงพลังงาน ได้หาแนวทางในการช่วยเหลือเกษตรกร โดยอยู่ระหว่างการพิจารณาดำเนินโครงการจำหน่ายน้ำมัน B20 ให้กับรถเฉพาะกลุ่ม เช่น กลุ่มรถบรรทุกขนส่งสินค้า ซึ่งคาดว่าจะสามารถดูดซับ CPO ได้มากขึ้น ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเชิญชวนผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 และผู้ประกอบการรถขนส่งให้เข้าร่วมโครงการ โดยจะได้รับสิทธิพิเศษในการซื้อน้ำมัน B20 ในราคาพิเศษที่ต่ำกว่าราคาจำหน่ายตามท้องตลาดทั่วไป

ส่วนระยะยาวกระทรวงพลังงานได้ดำเนินการศึกษาการปรับปรุงคุณภาพน้ำมัน B10 ซึ่งจะแล้วเสร็จในช่วงปลายปี 61 เพื่อให้กลุ่มผู้ผลิตรถยนต์ยอมรับ และเพื่อให้ได้ข้อสรุปเกี่ยวกับแนวทางการบังคับใช้ B10 ต่อไปในอนาคต

"การแก้ปัญหาผลผลิตปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืน จำเป็นต้องมีการบูรณาการทั้งระบบ คือตั้งแต่การวางแผนการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการใช้ การดูแลส่งเสริม และพัฒนาการประกอบธุรกิจการผลิตและการค้าปาล์มน้ำมันในประเทศให้มีการแข่งขัน และมีการค้าที่เป็นธรรม รวมถึงจะต้องมีการหาตลาดใหม่ให้แก่ปาล์มน้ำมัน เช่น การส่งเสริมอุตสาหกรรมโอลีโอเคมี เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับปาล์มน้ำมัน และเพื่อรองรับปริมาณผลผลิตที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต"นางอุษา กล่าว

นางอุษา กล่าวว่า สำหรับการแก้ไขปัญหาสต็อก CPO ที่ล้นตลาดนั้น จะมีการดูดซับ CPO ออกจากระบบโดยเร็ว โดยมีเป้าหมายเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาผลผลิตปาล์มน้ำมันให้แก่เกษตรกรของประเทศ โดยระยะสั้นผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 ได้ให้ความร่วมมือในการรับซื้อ CPO เพิ่มขึ้นจำนวน 13,500 ตัน และรับซื้อ B100 เพิ่มขึ้น 53.77 ล้านลิตร ขณะเดียวกันผู้ผลิตไบโอดีเซล ก็ให้ความร่วมมือในการเพิ่มกำลังการผลิต B100 จากเฉลี่ยวันละ 4 ล้านลิตร เป็นวันละ 4.8 ล้านลิตร โดยผลผลิตเพิ่มขึ้นรวม 69 ล้านลิตร เทียบเท่า CPO ในปริมาณ 59,866 ตัน แต่ยังไม่สามารถดูดซับ CPO ออกจากตลาดได้ตามต้องการ เพราะผลผลิตปาล์มน้ำมันยังคงทยอยเข้าสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับสถานการณ์ตลาดต่างประเทศโดยเฉพาะสหภาพยุโรป ได้มีการกีดกันการใช้น้ำมันปาล์มสำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิงชีวภาพจากประเทศในกลุ่มอาเซียน และประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นตลาดส่งออกสำคัญได้มีการกีดกัน โดยเพิ่มกำแพงภาษีนำเข้าด้วยเช่นกัน ทำให้การส่งออก CPO จึงเป็นไปได้ค่อนข้างยาก

ทั้งนี้ ในช่วงกลางปี 60 ปริมาณผลผลิตปาล์มน้ำมันได้ออกสู่ตลาดเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ปริมาณ CPO ในระบบมีถึงระดับ 250,000 ตัน มากกว่าระดับปกติ ทำให้ราคาผลผลิตปาล์มน้ำมันตกต่ำเรื่อยมา ทำให้กระทรวงพลังงานได้ปรับการใช้น้ำมันดีเซลจาก B5 เป็น B7 ตั้งแต่เดือนพ.ค.60 เพื่อดูดซับ CPO ในตลาดเพิ่มขึ้น แต่ด้วยปริมาณผลผลิตได้ทยอยอออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง การดูดซับโดยภาคพลังงานจาก B5 เป็น B7 ยังไม่ได้ช่วยมากนักจนปัจจุบันระดับปริมาณ CPO ในระบบยังคงสูงอยู่

นายวิฑูรย์ กุลเจริญวิรัตน์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน กล่าวว่า ที่ผ่านมากลุ่มรถบรรทุกเสนอว่าควรใช้เงินกองทุนน้ำมันฯ สนับสนุน เพื่อให้ราคาไบโอดีเซล B20 ควรถูกกว่า B7 ประมาณ 2.50-3 บาทต่อลิตร ปัจจุบันราคา B7 อยู่ที่ 30.49 บาทต่อลิตร ซึ่งสำนักงานโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) จะเข้าเข้ามาดูรายละเอียดต่อไป จากนั้นจะเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) อนุมัติต่อไป ทั้งนี้ คาดว่าจะเปิดจำหน่าย B20 ได้ประมาณวันที่ 1 มิ.ย.61 ที่บริเวณจุดพักรถของกลุ่มรถบรรทุกต่างๆ โดยมีนำมาจำหน่ายในปั๊มน้ำมัน เพื่อป้องกันการสับสนของผู้ใช้รถยนต์ทั่วไป

ทั้งนี้ คาดว่าหากมีการใช้ B20 ประมาณ 10% ของกลุ่มรถบรรทุกและเครื่องจักรการเกษตร จะช่วยเพิ่มปริมาณการใช้น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ 100% (B100) ได้ 5.18 ล้านลิตรต่อวัน จากปัจจุบันใช้อยู่ 4.4 ล้านลิตรต่อวัน หรือช่วยให้เกิดการใช้น้ำมันปาล์มดิบ (CPO) 1.6 ล้านตันต่อปี จากปัจจุบันใช้อยู่ 1.2-1.3 ล้านตันต่อปี สำหรับรถบรรทุกปัจจุบันมีทั้งสิ้น 8.33 แสนคัน ส่วนรถและเครื่องจักรการเกษตรปัจจุบันมี 6.4 แสนคัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ